เสวนา : เสน่ห์อาเซียน

ในวันพุธที่ 27 เมษายน สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ทีเค ปาร์ค ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวนิทรรศการ “พิพิธอาเซียน...A Journey through ASEAN” ณ อุทยานการเรียนรู้ทีเค ปาร์ค พร้อมทั้งมีการจัดเสวนาหัวข้อ “เสน่ห์อาเซียน” นำเสวนาโดย รศ.ดร.สุเนตร ชุติธรานนท์ นักวิจัยจาก สกว.และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาเซียน ธีรภาพ โลหิตกุล นักเดินทางและช่างภาพอิสระ พันตรีประทีป สุพรรณโรจน์ ผู้เรียบเรียงบทเพลง ASEAN Dance Suite และดำเนินรายการโดย คุณากร เกิดพันธุ์

การลดทอนอัตตาจะช่วยให้อาเซียนสามารถเปิดโลกทัศน์ระหว่างกัน

สุเนตร ชุตินธรานนท์ กล่าวถึงเสน่ห์อาเซียนในประเด็น ‘มิติการมองอาเซียน ผ่านมุมมองประเทศเพื่อนบ้าน’ สุเนตรเห็นว่าแต่ละคนต่างก็นึกถึงเสน่ห์ของอาเซียนในแบบที่แตกต่างกัน เพราะต่างคนต่างก็มีมุมมองที่ต่างกันขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะมีพื้นภูมิ อย่างไร สุเนตรเล่าถึงประสบการณ์ความประทับใจที่ตนได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆในอา เซียน โดยตนเห็นว่าสถานที่แต่ละแห่งที่ตนไปนั้น ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าครั้งหนึ่ง ‘เรา’ ก็เป็นแบบนั้นมาก่อน สุเนตรชี้ว่าวิถีชีวิต และเสน่ห์ที่สำคัญของอาเซียนนั้นอยู่ที่ ‘คน’ เช่นเดียวกับตอนที่ตนได้เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านและสัมผัสวิถีชีวิตของ ผู้คน

สุเนตรกล่าวว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับอาเซียนในตอนนี้คือเรื่องทัศนคติ ต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกทำให้ความเป็นมนุษย์หายไป สุเนตรยกตัวอย่างว่า “เมื่อพูดถึงพม่า เราก็มักจะนึกถึงสงคราม พูดถึงกัมพูชาเรามักจะนึกถึงพระยาละแวก” สุเนตรเห็นว่าเมื่อเรานึกถึงอะไรเรามักจะเอาตัวเราขึ้นมาเป็นที่ตั้ง เขาจึงเสนอว่าการลดทอนอัตตาจะช่วยให้เราเปิดโลกทัศน์ระหว่างกัน และหวังว่าเราจะสามารถปลูกจิตสำนึกเสน่ห์แห่งความเป็นอาเซียนให้เกิดขึ้นได้

สุเนตรยกตัวอย่างถึงนครวัดที่ในอดีตเคยยิ่งใหญ่ทั้งการปกครอง วิถีชีวิต การก่อสร้าง และระบบชลประทาน ซึ่งความยิ่งใหญ่ของนครวัดในสมัยนั้นเป็นยุคที่กรุงสุโขทัยยังไม่เกิดเสีย ด้วยซ้ำ สุเนตรชี้ว่า “อิทธิพลความยิ่งใหญ่จากนครวัดนี้ก็ส่งต่อมา ที่เรา เช่นเดียวกับในอีกยุคหนึ่งที่เราส่งต่อความเจริญของเราไปให้เขา นี่คือการแลกเปลี่ยนและผสมผสาน เพราะฉะนั้นความภูมิใจนอกจากจะภูมิในเฉพาะตัวเราแล้ว เราต้องภูมิใจในต้นตอของความภูมิใจนี้ด้วย” สุเนตรทิ้งท้ายว่าความภูมิใจที่ควรจะเกิดนั้น ควรเป็นความภูมิใจที่ไม่มีการแบ่งแยก และไม่ยึดติด

ศรัทธาและวัฒนธรรมคือพลังของอาเซียน

ธีรภาพ โลหิตกุล นักเดินทางผู้สัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอาเซียนมานับทศวรรษ กล่าวถึงอาเซียนในประเด็นเรื่อง ‘สีสันที่หลากหลาย ภายใต้ศรัทธาที่สูงส่งของศาสนา’ ธีรภาพเล่าว่าท่ามกลางความแตกต่างทางศาสนาและเศรษฐกิจอันหลากหลายในอาเซียน นั้น สิ่งหนึ่งที่ตนเห็นแล้วรู้สึกตะลึงคือ ‘พลังแห่งศรัทธา’ ของชาวอาเซียนทั้งเรื่องศาสนาและความเชื่อที่ก่อให้เกิดอะไรมากมาย ในฐานะนักถ่ายภาพผู้ที่มีประสบการณ์เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านมาหลาย ครั้งนั้น ธีรภาพกล่าวว่า ‘คน’ คือเสน่ห์ที่แท้จริงของอาเซียน

ธีรภาพเสวนาบอกเล่าประสบการณ์การเดินทางของตนผ่านภาพถ่ายต่างๆ โดยเขาเห็นว่าภาพถ่ายของคนในอาเซียนนั้นสามารถบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตดัง ที่สะท้อนออกมาผ่านภาพถ่าย ธีรภาพชี้ว่าสิ่งที่ถูกถ่ายทอดผ่านผู้คนเหล่านี้คือละครชีวิตที่แท้จริงซึ่ง เป็นวิถีชีวิตของชาวอาเซียน ธีรภาพทิ้งท้ายว่า “ประวัติศาสตร์ของ ประเทศเพื่อนบ้านนั้นไม่ใช่เป็นแค่ประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวสงคราม หรือการรบเท่านั้น หากแต่ยังมีวัฒนธรรมและศรัทธาที่เป็นพลังอย่างมหาศาล”

ดนตรีก็มีความ “ทับซ้อน” เช่นเดียวกับเรื่องเขตแดน

ประทีป สุพรรณโรจน์ กล่าวถึงเสน่ห์ของอาเซียนในประเด็น ‘เสน่ห์ท่วงทำนองแห่งอาเซียน’ ประทีปเข้าประเด็นอาเซียนกับเรื่องทางดนตรีโดยเขาเห็นว่า “ในภูมิภาคอาเซียนเป็นพื้นที่เพียงภูมิภาคเดียวที่ตั้งแต่เกิดจนตายหนีไม่พ้นเรื่องดนตรี” ประทีปชี้ว่าวิถีชีวิตของคนในอาเซียนทุกช่วงวัยนั้นต้องมีดนตรีเข้ามาเป็น ส่วนหนึ่งทั้งนั้น ประทีปเล่าย้อนอดีตว่าในยุคสงครามเรากวาดต้อนเชลยเข้ามามาก และวัฒนธรรมทางดนตรีที่เรารับเข้ามานั้น ก็รับเข้ามาผ่านทางเชลยเหล่านี้ สุเนตรเห็นว่านี่เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากต่างถิ่นโดยไม่รู้ตัว

ประทีปยกตัวอย่างเรื่องดนตรีในอาเซียนสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า “ดนตรี ก็มีบทเพลงทับซ้อนเช่นเดียวกับเรื่องพื้นที่ อินโดนิเซียกับมาเลเซียก็บทเพลงที่ต่างก็แย่งกันเป็นเจ้าของ ส่วนเพลงระบำกุ้ง สิงคโปร์ก็บอกว่าเป็นของเขา แต่ในภาคใต้ของไทยและในประเทศมาเลเซียก็มีบทเพลงนี้เหมือนกัน” สุเนตรชี้ว่าเพราะสมัยก่อนไม่มีเขตแดน บทเพลงจึงไม่มีเขตแดนที่จะระบุว่าเป็นเพลงของประเทศไหน ประทีปย้ำว่าดนตรี วัฒนธรรม และศิลปะคือความยิ่งใหญ่ของภูมิภาคอาเซียน และเป็นวัฒนธรรมทับซ้อนที่ต้องไม่มีข้อขัดแย้ง ประทีปทิ้งท้ายในเรื่องอาเซียนโดยเปรียบเทียบว่า “อาเซียนเป็น เสมือนร่างกายมนุษย์ แต่ละประเทศเป็นเสมือนอวัยวะในอาเซียน ซึ่งอยู่ในร่างกายเดียวกัน อวัยวะทุกส่วนหรือทุกประเทศนั้นต่างก็มีความสำคัญเท่ากันหมด จะขาดส่วนไหนไปไม่ได้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท