Skip to main content
sharethis

วันหนึ่งของเดือนเมษายน 2551 ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย เมื่อเจอวัตถุประหลาดจำนวนหนึ่ง ในถ้ำวังกล้วย บ้านคีรีวง หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล จึงเก็บกลับบ้านไปด้วย ซึ่งต่อมาวัตถุประหลาดนั้นกลายเป็นสมบัติล้ำค่าในทางธรณีวิทยาและได้สร้าง ชื่อเสียงในระดับชาติให้กับจังหวัดสตูล


ภาพสเก๊ตช์ช้างโบราณสเตโกดอน (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)


ฟอสซิลช้างโบราณสเตโกดอน


ฟอสซิลกรามแรดโบราณคิโลธิเรียม

ชาวบ้านกลุ่มนี้ คือ นายยุทธนันท์ แก้วพิทักษ์ ชาวบ้านหมู่ที่ 6 ตำบลลิพัง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง กับเพื่อนอีก 3 คน พวกเขาเดินทางเข้าไปในถ้ำวังกล้วย เพื่อจับกุ้งก้ามกราม

ขณะดำน้ำจับกุ้งอยู่นั้น ได้พบซากดึกดำบรรพ์(ฟอสซิล) ลักษณะเป็นหินสีน้ำตาลไหม้ น้ำหนักประมาณ 5.3 กิโลกรัม ยาวประมาณ 44 เซนติเมตร สูงประมาณ 16 เซนติเมตร ห่างจากปากทางเข้าถ้ำด้านหมู่บ้านคีรีวงประมาณ 1.6 กิโลเมตร จึงเก็บซากนั้นไว้

ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 นายยุทธนันท์ แก้วพิทักษ์ ได้มอบฟอสซิลที่พบให้อำเภอทุ่งหว้า โดยมีพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการ ซึ่งครั้งนั้นมีนายประเสริฐ สองเมือง ปลัดอำเภอประจำตำบลทุ่งหว้า พ.ต.อ.ถวัลย์ นคราวงศ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรทุ่งหว้า นายจารึก วิไลรัตน์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอทุ่งหว้า นางสาวรุ่งทิพย์ ฟองโห้ย นักพัฒนาชุมชน นายพิศาล แซ่เอี้ยว ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ทุ่งหว้า นายอรรถพล จุลฉีด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งหว้า ร่วมเป็นตัวแทนในการรับมอบ โดยนำไปเก็บไว้ที่สถานีตำรวจภูรทุ่งหว้า

ขณะเดียวกันมีนักธรณีวิทยา จากกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำลังสำรวจผลกระทบทางธรณีวิทยาจากภัยพิบัติที่อำเภอทุ่งหว้าได้เข้ามา ตรวจสอบฟอสซิลดังกล่าวเบื้องต้นด้วย โดยสันนิษฐานว่า อาจเป็นซากของจระเข้ ในขณะนั้นมีการนำเสนอข่าวทางหนังสือพิมพ์หลายฉบับ

ต่อมา ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียง เหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งเป็นชาวอำเภอทุ่งหว้า ได้ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์จึงติดต่อกับนายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ทุ่งหว้า หรือนายกฯโอเล่ย์ เพื่อขอเข้าศึกษารายละเอียด

จากนั้นผศ.ดร.ประเทือง ได้ส่งนายจรูญ ด้วยกระยอม อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และนางสาวสุภัทรา บุลำพู นักธรณีวิทยาของพิพิธภัณฑ์วิจัยไม้กลายเป็นหินฯมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เข้ามาศึกษาฟอสซิลดังกล่าว

จากการศึกษาพบว่า ฟอสซิลดังกล่าว เป็นซากกระดูกขากรรไกรพร้อมฟันกราม ซี่ที่ 2 และ 3 ด้านล่างขวาของช้างดึกดำบรรพ์สกุลสเตโกดอน อายุประมาณ 1.8 -0.01 ล้านปีมาแล้ว อยู่ในยุคไพลสโตซีน

หลังจากนั้นไปกี่วัน ทีมสำรวจถ้ำชุดใหญ่ จึงเดินมุ่งหน้าไปยังจุดที่พบฟอสซิลช้างโบราณทันที นำโดยนายจรูญ รวม 11 คน ประกอบด้วย นายวิฑูร ทองเมฆ นายรัฐพงศ์ วรวรรณสงคราม เจ้าหน้าที่อบต.ทุ่งหว้า นายอรรถพล จุลฉีด ผู้ใหญ่บ้านคีรีวง นายธรรมรัตน์ มุขแสง ชาวบ้านคีรีวง เป็นต้น

เมื่อไปถึงทีมสำรวจไม่รอช้า ได้ศึกษาสภาพพื้นที่ทันที หลังสำรวจ นายจรูญ สันนิษฐานว่า ฟอสซิลช้างโบราณที่พบอาจถูกกระแสน้ำทะเลพัดพาเข้ามาในถ้ำ

“นับเป็นการค้นพบฟอสซิลสัตว์งวงแห่งแรกของภาคใต้ ซึ่งจากการสำรวจในอำเภอทุ่งหว้าได้ค้นพบฟอสซิลช้างโบราณ 2 สกุล คือ สเตโกดอนและเอลลิฟาส และยังพบฟอสซิลแรดโบราณอีก 2 สกุล คือ เกนดาธิเรียมและคิโลธิเรียม”

ขณะที่นายณรงค์ฤทธิ์ บอกว่า ถ้ำวังกล้วยเป็นถ้ำริมทะเลมีน้ำขึ้นน้ำลง ช่วงน้ำขึ้นจะอยู่ในระดับ 2 เมตร จากพื้นถ้ำ ภายในฟอสซิลกว่า 200 ชิ้น ที่สำคัญๆ คือฟันช้างสเตโกดอน ฟันช้างเอลลิฟาส เขี้ยวและฟันแรดคิโลธิเรียม เแรดเกนดาธิเรียม เขากวาง ซี่โครงกวาง เป็นต้น

“จังหวัดสตูลเป็นแหล่งที่มีฟอสซิลเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย อายุประมาณ 500 ล้านปี เก่าแก่กว่ายุคไดโนเสาร์” นายณรงค์ฤทธิ์ อธิบาย

พร้อมแจกแจงต่อไปว่า ฟอสซิลที่พบ เป็นฟอสซิลช้างสเตโกดอน อายุประมาณ 1.8 ล้านปี ฟอสซิลช้างเอลลิฟาส อายุประมาณ 1.1 ล้านปี นอกจากนี้ ยังมีซากแรดโบราณสกุลเกนดาธิเรียมและคิโลธิเรียม และค้นพบมนุษย์ถ้ำ กระดูกมนุษย์โบราณด้วย

“แสดงว่า จังหวัดสตูลมีความหลากหลายทางด้านธรณีวิทยาเป็นอย่างมาก” นายณรงค์ฤทธิ์ ยืนยัน

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2552 เมื่อคราวที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานเปิดศูนย์เด็กเล็กที่โรงเรียนอนุบาลทุ่งหว้า องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้าถือโอกาสจัดนิทรรศการแสดงซากดึกดำบรรพ์ที่พบ ในอำเภอทุ่งหว้าด้วย ครั้งนั้น นายณรงค์ฤทธิ์ ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานการค้นพบ

การค้นพบฟอสซิลสัตว์โบราณดังกล่าว ทำให้นายณรงค์ฤทธิ์ เกิดความคิดตั้งพิพิธภัณฑ์ศูนย์เรียนรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษา และคนทั่วไปขึ้นมา

ที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า ได้ก่อสร้างตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้าเสร็จแล้ว โดยก่อสร้างในบริเวณที่ตั้งที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า ได้รับการสนับสนุนงบประมาณไทยเข้มแข็งจากรัฐบาล เป็นเงิน 1.3 ล้านกว่าบาท
ในอนาคต ตนคาดหวังไว้ว่าจะหางบประมาณอีก 2 – 3 พันล้านบาท จากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนา ต่อเติมตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ และตั้งใจจะสร้างรูปจำลองช้างโบราณสเตโกดอนขนาดใหญ่ ไว้หน้าพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า

“ตอนนี้กำลังออกแบบตกแต่งภายใน และติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง คาดว่าต้องใช้งบประมาณอีกเกือบล้านบาท คาดว่าอีก 4 - 5 เดือน จะสามารถจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้าได้”

นายณรงค์ฤทธิ์ บอกว่า องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า ได้ทำบันทึกความเข้าใจ(MOU) ด้านข้อมูลวิชาการ เรื่องซากดึกดำบรรพ์(ฟอสซิล)กับพิพิธภัณฑ์วิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

โดยจะเชิญ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และนายธรรมรัตน์ นุตะธีระ อาจารย์ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา มาให้คำแนะนำด้วยว่า ควรจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์อย่างไร

นายณรงค์ฤทธิ์ เห็นว่า ที่พิพิธภัณฑ์วิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา แต่ละวันมีนักเรียน นักศึกษาไปทัศนะศึกษา ดูงาน ประมาณ 20 คันรถบัส ดังนั้น พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ที่โรงเรียนกำแพงวิทยา ก็จะสามารถดึงนักเรียน นักศึกษา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาทัศนะศึกษาดูงานด้านธรณีวิทยาที่นี่ได้เช่นกัน

“อนาคตจะดึงนักเรียน นักศึกษาจากทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้มาศึกษาดูงานที่จังหวัดสตูลได้” นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวอย่างมุ่งมั่น

นายณรงค์ฤทธิ์ มองว่า สตูลเป็นเมืองท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่า ภูเขา ถ้ำ น้ำตก ทะเล เกาะต่างๆ ต่อไปหากกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถจัดตั้งอุทยานฯตะรุเตา – เภตรา – ละงู – ทุ่งหว้า เป็นอุทยานธรณีแห่งชาติ และผลักดันเป็นอุทยานธรณีโลกต่อ UNESCO ได้ ก็จะมีนักท่องเที่ยวก็จะเข้ามามากขึ้น

“แทนที่นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวเกาะ ถ้ำ น้ำตก แค่ 3 -4 วัน ต่อไปนักท่องเที่ยวก็จะอยู่ต่ออีก 2 - 3 วัน เพื่อท่องเที่ยว ทัศนศึกษา เรียนรู้อุทยานธรณีในจังหวัดสตูล” นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าว

เมื่อมีแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ก็ต้องมีกิจกรรมการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งนายกฯโอเล่ย์ บอกว่า ที่ถ้ำวังกล้วย สามารถทำกิจกรรมพายเรือคายัคนำนักท่องเที่ยวไปชมจุดค้นพบฟอสซิลได้ จากนั้นพากเรือออกทะเลชมป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนเมษายนของทุกๆปี มักจะมีนักวิชาการจากพิพิธภัณฑ์วิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ลงมาสำรวจฟอสซิลในพื้นที่ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า สอนวิธีการสำรวจ การขุดค้นต้องเก็บข้อมูล ทำแผนที่ วัดพิกัดตำแหน่งที่ตั้ง ฯลฯ ให้กับผู้สนใจ

“ต่อไปชาวบ้านจะเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวเอง สามารถบรรยายความสำคัญและความน่าสนใจของสถานที่ต่างๆ เกิดกิจกรรมอื่นๆ ตามมา เช่น ร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม กิจการให้เช่ารถจักยาน - รถจักรยานยนต์แก่นักท่องเที่ยว ที่พักนักท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ของชาวบ้าน มีการขายสินค้าที่ระลึก สินค้าโอทอปฯลฯ” นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าว

ทั้งหมดนั้น ล้วนสร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่น ที่แทบไม่ต้องลงทุนมหาศาล เหมือนอภิมหาโปรเจกต์อย่างท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่จะถูกหย่อนลงกลางดงฟอสซิ ลจังหวัดสตูล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net