Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตอนที่ 3 ของคอลัมน์ "ความจริงจากโลกเสมือน" โดย สฤณี อาชวานันทกุล (มีนาคม 2554)

ตอนที่แล้วพูดถึงกลไกกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตว่ามี 4 ประเภทในกรอบคิดของ ลอว์เรนซ์ เลสสิก นักกฏหมายผู้เชี่ยวชาญอินเทอร์เน็ต คือ กฎหมาย กลไกตลาด ค่านิยม และสถาปัตยกรรม และพูดถึงปัญหาการใช้กฎหมายในไทยโดยสังเขปว่า นิยามของเนื้อหาบนเน็ตที่จัดว่าเป็นความผิดตามกฎหมายนั้นคลุมเครือจนเปิด ช่องให้เจ้าหน้าที่ตีความกว้างเกินไป เช่น เป็นเนื้อหาที่ “น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” หรือ “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ส่วนผู้บังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่เข้าใจธรรมชาติเน็ตดีพอ

วันนี้จะหันมามองกลไก “ค่านิยม” บ้าง ว่ามันทำงานอย่างไร ค่านิยมออฟไลน์ส่งผลกระทบต่อสังคมออนไลน์อย่างไร สังคมออนไลน์มี “ค่านิยมเฉพาะ” อะไรบ้างหรือไม่

ในแง่หนึ่ง ความเป็นนิรนามในเน็ต นั่นคือ การที่เราไม่ต้องเปิดเผยตัวตนว่าอายุเท่าไร เพศอะไร หน้าตาอย่างไร ทำงานอะไร อยู่ที่ไหน มีวุฒิการศึกษามากน้อยเพียงใด เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เรา “ละเลย” ค่านิยมเชิงลำดับขั้นในสังคมนอกจอได้ เช่น ความยำเกรงระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ (บางคนอาจทักท้วงว่านอกจอเด็กสมัยนี้แม้ต่อหน้าก็ไม่ค่อยเคารพผู้ใหญ่แล้ว) ระหว่างพนักงานกับเจ้านาย หรือแม้แต่ระหว่างคนจนกับคนรวย ทำให้เรากล้าพูดอะไรๆ มากกว่าในสังคมนอกจอ และเมื่อหลายคนกล้าพูด การถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เท่าเทียมกันกว่าในสังคมนอกจอก็ สามารถเกิดขึ้นได้ในโลกออนไลน์

เมื่อมองจากมุมนี้ อินเทอร์เน็ตจึงเป็นพื้นที่ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดสังคมที่มีโอกาสเป็น ประชาธิปไตยสูงมาก มากกว่าในสังคมนอกจอหลายเท่า

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อสังคมออนไลน์ประกอบด้วยคนจริงๆ ที่มีชีวิตจิตใจ “พฤติกรรม” ของคน และ “ขนบ” ต่างๆ ในสังคมออนไลน์ส่วนหนึ่งจึงถูกกำหนดโดยพฤติกรรมและขนบในสังคมนอกจออย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าอินเทอร์เน็ตในฐานะเทคโนโลยีเปิดจะ “เอื้ออำนวย” ให้เกิดสังคมประชาธิปไตยเพียงใดก็ตาม

ตราบใดที่คนในสังคมนอกจอยังใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง เชื่อข่าวลือและคำพูดของคนดังแบบมักง่าย แทนที่จะใช้เหตุผลและขยันหาข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยตนเอง รวมทั้งยังขาดสำนึกเกี่ยวกับ “พื้นที่สาธารณะ” และการเคารพในสิทธิของผู้อื่น ตราบนั้นสังคมในจอโดยรวมก็จะไม่ใช่สังคมที่ศิวิไลซ์กว่าสังคมนอกจอสักกี่มาก น้อย

เมื่อคำนึงว่าสังคมออฟไลน์เป็นอย่างไร จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมออนไลน์ในบ้านเราโดยรวมจึงยังมีการละเมิดสิทธิของคน อื่นอย่างต่อเนื่อง อาทิ การก๊อปปี้เนื้อหาไปใช้โดยไม่อ้างอิงแหล่งที่มา นำอีเมลส่วนตัวมาโพสในที่สาธารณะ แฉเบอร์โทรศัพท์บ้านของคนที่เราไม่ชอบ ฯลฯ รวมถึงการกระพือข่าวลือและตีโพยตีพายตามกระแสข่าวชั่วครู่ยามต่างๆ อย่างเป็น “ดรามา” เกินเลยแก่นสารของประเด็นนั้นไปมาก

แต่ปัญหาในสังคมออนไลน์ที่ใหญ่กว่านั้นในความคิดของผู้เขียน คือปัญหาที่เกิดจากการที่สังคมไทยกำลังขัดแย้งแบ่งข้างอย่างรุนแรง ผสมกับ “พฤติกรรมรวมหมู่” ที่นักจิตวิทยาสังคม (social psychologist) กับนักสังคมวิทยาค้นพบมานานแล้ว ประกอบกับปัญหา “เกรียน” ไร้ความรับผิดชอบ

ตั้งแต่ราวทศวรรษ 1930 นักวิชาจิตวิทยาสังคมที่ศึกษาเรื่องอิทธิพลของกลุ่มที่มีต่อพฤติกรรมและความ คิดของปัจเจก ได้ค้นพบปรากฎการณ์ group polarization (การกลายเป็นกลุ่มสุดขั้ว) ซึ่งหมายถึงการที่คนในกลุ่มเดียวกัน (ที่มารวมตัวเป็นกลุ่มเพราะคิดหรือเชื่ออะไรๆ คล้ายกัน) เมื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันไปสักพักจะเริ่มมีความคิดคล้อยตามกันไปในทางที่สุด ขั้วกว่าเดิม

ในเมื่ออินเทอร์เน็ต (ประกอบกับกูเกิล) เป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการชักนำให้คนที่คิดและเชื่ออะไรๆ คล้ายกันได้มารู้จักกัน ก็ยิ่งเป็นเรื่องง่ายที่คนจะมารวมตัวกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่อย่างรวดเร็วในโลก ออนไลน์ และในเมื่อมันมีขนาดใหญ่ กลุ่มนั้นๆ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์ group polarization ได้ง่ายดายกว่าในสังคมนอกจอ

นอกจากนี้ ความเป็นนิรนามที่ผู้เขียนเพิ่งบอกว่าเอื้ออำนวยต่อการแลกเปลี่ยนอย่างเป็น ประชาธิปไตยนั้น ก็ใช่ว่าจะไม่มีด้านลบ ด้านลบของมันคือทำให้ “เกรียน” จำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยอยากรับผิดชอบอะไรและละเมิดสิทธิของคนอื่นเป็นประจำใน สังคมนอกจอ รู้สึกว่า “ไม่เป็นไร” ถ้าจะใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคาย หรือแม้แต่กุเรื่องโกหกขึ้นมาป้ายสีคนอื่น ด้วยความสะใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตามที เพราะมองไม่เห็น “คน” หลังจอที่กำลังคุยกับเราอยู่ หรือคิด(ผิด)ว่าใช้นามแฝงเสียอย่าง คงไม่มีทางที่เจ้าหน้าที่หรือใครจะมาตามจนเจอตัวตนที่แท้จริงของเราหรอก

ประเทศไทยยังไม่เคยมีกฎหมายเกี่ยวกับ “ข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง” (hate speech) และที่ผ่านมาสังคมก็ยังไม่เคยมีค่านิยมร่วมกันในเรื่องนี้ จึงไม่เคยมีบรรทัดฐาน “มาตรการทางสังคม” (social sanction) ที่มีนิยามความผิดชัดเจนและไม่เลยเถิดไปเป็นการคุกคามความเป็นอยู่ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง ดังเช่นกรณี “การล่าแม่มด” ในโลกออนไลน์ซึ่งเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง ภาวะที่ปราศจากกฎหมายและค่านิยมที่ชัดเจนเกี่ยวกับ hate speech ทำให้การถกเถียงเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกยังค่อนข้างจมปลักอยู่กับคนสอง ฝ่ายที่ต่างก็สุดโต่งทั้งคู่ ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องเสรีภาพอย่างไร้ขีดจำกัด อีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้ปราบปรามผู้พูดข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง แต่ตีความเนื้อหาเหล่านี้อย่างคับแคบเสียจนละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ บริสุทธิ์

ปรากฏการณ์ group polarization และความคึกคะนองของเกรียนในเน็ต (ซึ่งหลายคนก็ไม่ได้เกรียนเพื่อความสะใจของตัวเองเฉยๆ แต่เกรียนเพราะมีวาระซ่อนเร้น) ทำให้คนจำนวนไม่น้อยถลำลึกลงไปในความเชื่อหรือความคิดที่สุดขั้วขึ้นเรื่อยๆ ของกลุ่มตัวเอง ไม่อยากรับรู้ข้อมูลจากด้านอื่นที่ขัดแย้งกับกลุ่ม ถึงแม้ว่าอินเทอร์เน็ตทำให้เรามี “โอกาส” แลกเปลี่ยนกับคนคิดต่างได้อย่างง่ายดายก็ตามที

ศาสนาพุทธสอนหลักกาลามสูตร และสอนความสำคัญของสติ ศีล สมาธิ และปัญญา แต่น่าเสียดายที่คนไทยผู้ใช้เน็ตจำนวนมากไม่สนใจหลักธรรมเหล่านี้ เพราะสังคมก็แตกแยกแบ่งขั้วในเรื่องศาสนาไม่น้อยไปกว่าเรื่องการเมือง คนขั้วหนึ่งตกอยู่ในภาวะ “สำลักศีลธรรม” ที่ยึดติดกับตัวบุคคล แทนที่จะประเมินความดีและความเลวจาก “การกระทำ” และผลลัพธ์จากการกระทำเป็นหลัก คือถ้าลองปักใจเชื่อว่าใครเป็น “คนดี” แล้วละก็ คนคนนั้นจะทำอะไรก็ถูกมองว่าถูกหมด ดีหมด ในขณะเดียวกัน ถ้าเชื่อว่าใครเป็น “คนเลว” คนคนนั้นจะทำอะไรก็ผิดหมด ส่วนคนอีกขั้วหนึ่งก็กลายเป็นพวก “ไม่ใส่ใจศีลธรรม” (amoral) คือไม่เห็นความสำคัญของศีลธรรม ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรมเชิงศาสนาหรือศีลธรรมเชิงปรัชญา (เช่น มนุษยนิยม) ก็ตาม

ผู้เขียนไม่สาธยาย ผู้อ่านก็คงพอจะเดาได้ว่า ฝ่าย “สำลักศีลธรรม” กับฝ่าย “ไม่ใส่ใจศีลธรรม” นั้นเลือกอยู่ฝั่งไหนในประเด็นเสรีภาพ ระหว่างฝ่าย “เอาเสรีภาพไร้ขีดจำกัด” กับ “ไม่เอาเสรีภาพ”

ปัญหาคือในสังคมสองขั้วที่นับวันก็ยิ่งสุดขั้วจาก group polarization มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกขั้วจะมาร่วมกันตกลงกฏกติกา ค่านิยมที่เหมาะสมในสังคมออนไลน์ได้อย่างไร

คำถามนี้ซับซ้อน ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะมีปัญญาตอบหรือไม่ ขอเก็บไว้เป็นการบ้านสำหรับตอนต่อๆ ไป แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมั่นใจคือ ในเมื่อการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตที่เหมาะสมนั้นใช้แต่กฎหมายอย่างเดียวไม่ ได้ เพราะกฎหมายเป็นเครื่องมือที่ “หยาบ” เกินไป (ด้วยเหตุผลที่อธิบายไปแล้วในตอนก่อนหน้านี้) ผู้ใช้เน็ตกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ควรจะเริ่มมาถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน ถึง “ค่านิยม” ที่อยากร่วมกันสร้าง ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเว็บไซต์ต่างๆ การจัดการกับ hate speech รวมไปถึงมารยาทเน็ต ซึ่งอาจ “หลวม” กว่ามารยาทในโลกออฟไลน์หลายเท่าก็ได้ เช่น ไม่ต้องถึงขนาดปิดประโยคทุกประโยคด้วยหางเสียง แต่ควรให้เครดิตแหล่งข้อมูลที่เราใช้ และเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น โดยเฉพาะความเป็นส่วนตัว

การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมโดยธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตอาจทำให้โลกออ นไลน์เป็นประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน แต่ “ประชาธิปไตยคุณภาพ” ที่ทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังฝ่ายอื่น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รู้จัก “หาจุดร่วม สงวนจุดต่าง” เพื่อสร้างกฎกติกามารยาทที่พึงปรารถนานั้น เป็นสิ่งที่ผู้ใช้เน็ตต้องร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง อย่างน้อยที่สุดเพื่อที่ภาครัฐจะได้ไม่มีข้ออ้างในการใช้อำนาจละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอีกต่อไป

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://thainetizen.org/thai-internet-regulations-problems-2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net