ผู้กำกับ Insects เผยท้อ นักวิชาการเชียร์สู้ต่อ รุมจวกรัฐคิดแทน

จากกรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทาง ปกครอง ให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ในงานวิชาการและงานเพื่อการศึกษานั้น ทำให้ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองไม่มีผู้ใดสามารถฉายภาพยนตร์เรื่อง นี้ได้ ไม่ว่าในกิจกรรมลักษณะใดก็ตาม

เว็บไซต์ ilaw รายงานว่าเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554 โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ โครงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ และองค์กรภาคี จึงจัดงานแถลงข่าวและเสวนาในหัวข้อ Insect in the Backyard : แหกกรงความคิด เพื่อสิทธิมนุษยชน ณ ห้องกิจกรรมเรวัติ พุทธินันท์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard แถลงข่าว กล่าวถึงความคืบหน้าคดีในศาลปกครองว่า หลังจากที่ได้ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ตอนแรกก็มีความหวังว่าศาลจะมีคำสั่งให้สามารถฉายหนังในวงวิชาการเพื่อการ ศึกษาได้ แต่พอได้อ่านคำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตแล้วก็ยังรู้สึกว่างงๆ  ซึ่งตอนนั้นศาลได้ถามตนว่าคำสั่งของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ที่ไม่ให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีผลต่อการส่งภาพยนตร์ไปประกวดในเทศกาล ภาพยนตร์นานาชาติ ที่ประเทศอิตาลีหรือไม่ ตนก็บอกต่อศาลด้วยความสัตย์จริงว่าคำสั่งที่ไม่ให้ฉายดังกล่าวไม่มีผลต่อการ ส่งประกวดแต่อย่างใด ศาลจึงบอกว่ายังไม่เกิดความเสียหาย จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายหนังดังกล่าว

“ในส่วนตัวก็รู้สึกเหนื่อยใจ และท้อพอสมควร อยากจะเลิก ไม่เอาแล้ว ไม่ฟ้องแล้ว” ธัญญ์วารินกล่าว

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทนายความในคดีนี้ อธิบายว่า เหตุผลที่ศาลสั่งยกคำขอ เพราะศาลเห็นว่าการจัดฉายภายนตร์ในงานวิชาการหรืองานเพื่อการศึกษา ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่นักวิชาการด้านกฎหมาย หรือด้านภาพยนตร์ก็สามารถเข้าชมภาพยนตร์ในงานได้ จึงอาจเป็นอุปสรรคต่อการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายปกครอง แต่ศาลยังไม่ได้ตัดสินในเนื้อหาของคดีว่าคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถึงแม้ศาลจะไม่อนุญาตให้ฉายในวงดังกล่าวก็ตามเราก็ยังต้องดำเนินการสู้คดี ต่อไปให้ถึงที่สุด

หลังจากนั้นเครือข่าวเพื่อนกะเทยไทย และโครงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ ได้อ่านแถลงการณ์ แสดงความเห็นว่าการห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เป็นการเลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างด้านวิถีทางเพศ พร้อมทั้งสนับสนุนและให้กำลังใจในการต่อสู้คดีของธัญญ์วารินต่อไป

 

สำหรับวงเสวนาในหัวข้อ  Insects in the Backyard : แหกกรงความคิด เพื่อสิทธิมนุษยชน มี รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ กล่าวเบื้องต้นว่า การทำหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา ไม่ควรให้มีใครมากำหนดได้ว่า หนังเรื่องนี้ห้ามฉายโดยเด็ดขาด เพราะการห้ามฉายโดยเด็ดขาดนั้น ก็ยิ่งทำให้คนอยากรู้มากขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่ไม่ฉลาดเลยสำหรับคนที่มีคำสั่งห้าม

อ.สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่ศาลยกคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่ง ณ วันนี้เราคาดหมายได้ เพราะในตัวกฎหมายก็บัญญัติชัดเจนว่า ต้องเป็นเรื่องที่รุนแรงเห็นเป็นรูปธรรม หากคำสั่งทางปกครองไม่ชอบแล้วจะไม่สามารถเยียวยาได้อีก ตนคิดว่าในตอนนี้เราควรหันมาเน้นทำในเนื้อหาหลักยิ่งขึ้นจะดีกว่า

อ.สาวตรี กล่าวว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะการที่ประชาชนถูกภาครัฐกระทำเราก็ควรหาช่องทางกฎหมายตีแผ่ให้สังคมรับ รู้ ถ้ามีคำสั่งศาลออกมาไม่ว่าจะเป็นอย่างไร จะได้มีบรรทัดฐานชัดเจน ว่าคณะกรรมการจะกระทำต่อหนังอย่างไรได้บ้างไม่ได้บ้าง จึงขอให้กำลังใจคุณธัญญ์วารินในการต่อสู้ต่อไป เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่การสู้เพื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว แต่เป็นการสู้เพื่อภาพยนตร์ทุกเรื่อง

สำหรับประเด็นที่มีคณะกรรมการ พิจารณาภายนตร์บางท่านเคยให้ความเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากเห็นอวัยวะเพศของตัวละคร จึงเป็นสื่อลามกอนาจาร ซึ่งผิดกฎหมายอาญามาตรา 287 จึงไม่สามารถอนุญาตให้ฉายได้นั้น อ.สาวตรี กล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่สื่อลามกอนาจารที่ผิดกฎหมายอาญาแน่นอน เพราะความหมายของคำว่าลามกอนาจารตามกฎหมายอาญาต้องเป็นสื่อที่ดูแล้วเกิด ความต้องการทางเพศ แต่ฉากดังกล่าวเป็นเวลาแค่ 3 วินาทีเท่านั้น ประกอบกับเนื้อหาส่วนอื่นก็ไม่ทำให้ผู้ชมคนไหนเกิดอารมณ์ทางเพศได้

อ.สาว ตรี ยังได้กล่าวว่า จากคำสั่งของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ที่ระบุว่าแม้ผู้ชมอายุเกินยี่สิบปีขึ้นไปก็อาจะเลียนแบบได้ เราควรตั้งคำถามหรือไม่ว่า คนไทยเวลาดูหนัง จะต้องอายุเท่าไหร่ที่จะสามารถใช้วิจารณญาณได้ และหากว่ามีคนอายุ 70 ปีมาดูหนังเขาจะเลียนแบบหนังหรือไม่

"ประเทศนี้ใช้นโยบายควบคุม ไม่ใช่คุ้มครอง การจัดระดับความเหมาะสมภาพยนตร์ที่ควรคือการจำกัดอายุผู้ชม ไม่ใช่ควบคุมศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะเราไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรคือศีลธรรมอันดี” อ.สาวตรี กล่าว
 

                                         

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากกรณีการแบนหนัง Insect in the Backyerd ทำให้เห็นได้ชัดว่า ฐานความคิดแบบเสรีนิยมยังไม่เกิดขึ้นเลยในประเทศไทย เมื่อไหร่ที่สื่อบางประเภทนำเสนอเพศวิถีปฏิบัติที่ต่างจากสื่อกระแสหลักก็ มักถูกมองว่าเป็นปัญหา และจะต้องถูกลงโทษทางสังคมแต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าโทษหนักแค่ไหนเพียงไร

รศ.ดร.ชลิ ดาภรณ์ กล่าวด้วยว่า เหตุที่หนังเรื่องนี้โดยเซ็นเซอร์ เพราะเป็นการปล่อยหมัดตรงใส่เรื่องเพศวิถี ซึ่งเป็นเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์ เหมือนไปเตะขาเรื่องที่สั่นคลอนอยู่แล้วซึ่งผู้มีอำนาจรับไม่ได้ มีเหรอ รัฐที่ถือความพึงพอใจขอปัจเจกเป็นรสนิยมหลัก เราลงโทษคนที่สั่นคลอนเพศวิถีกระแสหลักมาโดยตลอด

อีกอย่าง เราเชื่อว่าหากดูหนัง เสพสื่อ ที่เห็นอวัยวะเพศ นม หรือมีการร่วมเพศแล้ว คนที่ดูจะต้องเกิดความต้องการทางเพศ และต้องการหาที่ระบาย ก่อให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส ซึ่งจริงๆแล้วก็ยังไม่มีงานวิจัยที่มีผลออกมาที่ชัดเจนว่าเราจะต้องทำเช่น นั้นทุกครั้ง เพราะโดยลึกๆเราเชื่อว่ามนุษย์มีความหื่นอยู่ในตัวเอง ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายเกรงว่าคนเราจะเกิดความหื่นเกินกว่าการควบคุม ทำให้สังคมและระเบียบต่างๆ อันดีงาม ล่มสลายเพียงแค่เกินความควบคุม

รศ.ดร.ชลิ ดาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐไม่เคยเปิดโอกาสว่าให้เราคิดอะไรไม่ดี แต่รัฐจะเป็นผู้เลือกให้ ไม่ได้ให้เราเลือก รัฐไม่เคยให้ประชาชนคิดเอง รัฐจะให้ภาพใหญ่ ภาพรวมของสังคม ความพึงพอใจของปัจเจก คือค่านิยมหลัก มันมีความหมายหรือไม่ เพราะในที่สุดสิ่งที่รัฐทำ เราไม่เคยคำนึงสิทธิเสรีภาพของปัจเจก โดยไม่ให้เขาเลือกในความพึงพอใจของเขาเลย

รศ.ดร. ชลิดาภรณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า Sex เป็นอาณาบริเวณที่ทดสอบเรา ว่าเราเชื่อหรือไม่ว่ามนุษย์มีสิทธิที่จะเลือก เลือกเพศวิถี หรีอรสนิยมของตัวเองได้ ถ้าหากเราเชื่อ เราต้องลุกขึ้นปกป้องภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ไม่ว่าเราดูแล้วเราจะชอบหรือไม่ เห็นด้วยหรือไม่ เพื่อให้เพื่อนคนไทยทุกคนได้ร่วมกันตัดสินมันเอง

ไพศาล ลิขิตปรีชากุล จากโครงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า การเป็นเกย์ กะเทย หรือเลสเบี้ยนนั้น ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้ แต่รัฐพยายามที่จะห้ามไม่ให้นำออกมาให้เห็น เพราะจะทำให้คนเลียนแบบได้ ซึ่งตนคิดว่าการที่รัฐมีแนวคิดอย่างนี้เป็นสิ่งที่ผิด เรื่องความหลากหลายทางเพศนั้นใครๆก็ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ต่างจากกระเป๋าหลุยส์ วิตองที่ใครจะก็อบปี้ ลอกเลียนแบบนำไปใช้ได้เสมอ แต่ต่างกันตรงที่หากมีคนเลียนแบบกระเป๋าหลุยส์ รัฐจะไปจับคนเลียนแบบ แต่พอรัฐกลัวคนเลียนแบบกะเทย กลับมาห้ามกะเทยแสดงออก เหตุใดจึงไม่ไปห้ามไม่ให้กระเป๋าหลุยส์ขึ้นห้างแทน

 

ไพศาล กล่าวด้วยว่า ตนได้อ่านบทความของ พระไพศาล วิสาโล เมื่อไม่นานมานี้ในประเด็น  ชายรักชาย หรือ หญิงรักหญิง ท่านก็ได้บอกว่าพฤติกรรมเช่นนี้ไม่เป็นการบาป เพราะการบาปนั้นก็คือผิดศีลข้อสามที่ไปละเมิดหญิงที่มีเจ้าของแล้ว แต่การที่ ชายรักชาย หรือ หญิงรักหญิง หาได้ผิดศีลดังกล่าวแต่อย่างใดไม่

ทั้ง นี้ ไพศาล ได้เปรียบเปรย กระทรวงวัฒนธรรมเฝ้าดูแลวัฒนธรรม เหมือนปู่โสมเฝ้าทรัพย์ คือ คนที่รักษาทรัพย์เฉยๆโดยตนไม่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และไม่ให้ใครมาใช้ทรัพย์ หากใครไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงไม่ให้ใช้ทรัพย์ รอเจ้าของมาใช้ แล้วเจ้าของคือใครก็ไม่รู้ เหตุใดจึงไม่ใช่ประชาชนทุกคน

นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่า การห้ามฉายาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะมีการนำเสนอวิถีทางเพศที่สังคมยังไม่ยอมรับ คณะกรรมการจึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเทียบกับภาพยนตร์เรื่องอื่นที่ฉายอยู่ซึ่งกล่าวถึงเป็นเพศกระแสหลัก หากภาพยนตร์เรื่องนี้เปลี่ยนตัวละครเป็นพ่อซึ่งเป็นผู้ชายแท้ ทำหน้าที่ครบถ้วน ทำอาหารอร่อย เขียนหนังสืออีกด้วย หนัง Insects in the Backyard จะเป็นหนังที่คุณพ่อที่เป็นยอดชายและเยี่ยมมาก แต่เมื่อตัวละครเป็นกะเทยสังคมจึงมองเป็นมุมกลับที่ยังไม่ให้การยอมรับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท