มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ "ยุติการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในข้อหาความผิดตามมาตรา 112"

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ \ยุติการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในข้อหาความผิดตามมาตรา 112\" ขอให้ศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 อย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติโดยคำนึงถึงมาตราฐานตามกฎหมายและหลักสิทธิ มนุษยชนอย่างเคร่งครัด 1 พ.ค. 54 - มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ \"ยุติการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในข้อหาความผิดตามมาตรา 112\" โดยมีรายละเอียดดังนี้ แถลงการณ์ ยุติการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 เพื่อรักษาบรรยากาศประชาธิปไตย และการเลือกตั้งเสรี ขณะนี้มีการดำเนินคดีกับบุคคลหลายรายในความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา หรือข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งผู้ที่ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็น ผู้ที่เคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านรัฐบาลหรือวิจารณ์บทบาทของกองทัพ และเป็นผู้ที่สนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554 เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้จับกุม นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการบริหารนิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ ในข้อหาดังกล่าว แล้วส่งตัวให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอดำเนินคดี ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้บัญชาการทหารบกก็ได้ให้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาเดียวกัน ต่อนายจตุพร พรหมพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และแกนนำคนเสื้อแดง และมีการคุกคามดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งน่าเชื่อว่าการคุกคามเกิดจากการที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับฐานะและ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ก่อนและหลังการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อปีพ.ศ. 2549 คู่ขัดแย้งได้ใช้วิธีการต่างๆเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองของฝ่ายตน ได้ส่งผลต่อประชาธิปไตย และคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพขั้นพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ ความขัดแย้งทางการเมืองได้นำไปสู่ความรุนแรงในช่วงต้นปี 2553 ในที่สุด จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 92 คน และบาดเจ็บนับพันคน การที่คู่ขัด แย้งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ทั้งในระบบและนอกระบบประชาธิปไตย ได้กล่าวหาศัตรูทางการเมืองของตนว่า “ล้มเจ้า” กระทั่งมีการกล่าวหาในทางอาญาโดยใช้กฎหมายและกลไกรัฐมาดำเนินคดีต่อศัตรูทาง การเมืองของตน ดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้นั้น นอกจากจะเป็นการลิดรอนเสรีภาพในความคิดและเสรีภาพความเชื่อทางการเมือง ซึ่งถือเป็นเสรีภาพอันสัมบูรณ์ที่ไม่อาจละเมิดได้ การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรวมทั้งเสรีภาพของสื่อ และเสรีภาพทางวิชาการแล้ว การแอบอ้างเอาสถาบันกษัตริย์มาใช้เพื่อประโยชน์ในทางการเมืองของตน ยังเป็นการปิดกั้นโอกาสไม่ให้สังคมไทย ได้ปรับตัวและพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และการพัฒนาของสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย และท้ายที่สุดการกระทำดังกล่าวจะส่งผลเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เองใน ระยะยาว เพื่อเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิ มนุษยชน และเพื่อดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงขอเรียกร้องและเสนอแนะดังต่อไปนี้ 1. ขอให้ทุกฝ่ายใช้สติ ยุติการแอบอ้างเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือหรือนำมายุ่ง เกี่ยวในทางการเมือง ไม่ว่าจะในฐานะที่อ้างว่าเป็นผู้ปกป้องสถาบันฯ หรือไม่ก็ตาม การวิจารณ์ เสนอแนะเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ควรตั้งอยู่บน พื้นฐานทางวิชาการและการกระทำโดยสุจริต มิใช่โดยจุดมุ่งหมายที่จะยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังหรือความรุนแรง หรือหวังผลตอบแทนในทางการเมือง 2. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติทบทวนการดำเนินคดี บุคคลทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดในข้อหาความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ยกเว้นโดยความเห็นชอบของสำนักพระราชวัง และในการดำเนินคดีจำเป็นต้องแจ้งให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาให้มารับทราบข้อกล่าว หาเสียก่อนตามขั้นตอนของกฎหมาย ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาเข้าถึงความยุติธรรมตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอย่าง เต็มที่ ไม่เลือกปฏิบัติ หรือกระทำไปในลักษณะกลั่นแกล้ง ข่มขู่ คุกคาม ศัตรูในทางการเมือง 3. ขอให้ผู้นำกองทัพและนายทหารยุติการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและกิจการพลเรือน ยุติพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่นการตบเท้าให้กำลังใจผู้บังคับบัญชาระดับสูง และขอให้กองทัพอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด 4. ขอให้ศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 อย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติโดยคำนึงถึงมาตราฐานตามกฎหมายและหลักสิทธิ มนุษยชนอย่างเคร่งครัด 5. ขอให้รัฐบาลปัจจุบันหรือรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรที่กำลังจะมีขึ้น ได้ทบทวนบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลใดๆ สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของตนได้ และเพื่อปกป้องและธำรงค์ไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่าง แท้จริง สุดท้ายนี้ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างสรรค์บรรยากาศ ประชาธิปไตยในขณะที่ประเทศกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าวเป็นไปโดยเสรีและบริสุทธิ์ยุติธรรม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท