Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

บทนำ
ตามที่ข่าวแจ้งว่า รัฐบาลกัมพูชาได้เสนอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลกตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหารที่ตัดสินเมื่อวันที่ 15 เดือนมิถุนายน  ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) นั้น มีประเด็นข้อกฎหมายที่สมควรกล่าวถึง ดังต่อไปนี้

 

1. การตีความคำพิพากษาคืออะไร
ในกรณีที่รัฐคู่ความสงสัยในความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษาว่ามีความหมายแคบกว้างเพียงใดหรือมีความหมายว่าอย่างไร รัฐคู่ความก็สามารถร้องขอให้ศาลทำการตีความคำพิพากษาได้ การตีความมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการอธิบาย (explanation) หรือการทำให้กระจ่าง (clarification) ในสิ่งที่ศาลได้มีคำวินิจฉัย...

การตีความคำพิพากษามีอยู่ด้วยกันสอง ประเภทใหญ่ คือ การตีความโดยศาลที่ได้ตัดสิน และการตีความโดยศาลอื่น การตีความอย่างแรก นักกฎหมายอธิบายว่า เป็นเขตอำนาจของศาลที่จะตีความคำพิพากษาที่ตนเองได้ตัดสิน เขตอำนาจศาลแบบนี้เรียกว่า incidental jurisdiction ส่วนการตีความแบบที่สอง เป็นกรณีที่รัฐคู่พิพาททำความตกลงพิเศษเพื่อเสนอให้ศาลหรืออนุญาโตตุลาการตี ความคำพิพากษาหรือชี้ขาดซึ่งตัดสินโดยอีกศาลหนึ่ง

 

2. เงื่อนไขของการตีความคำพิพากษาตามหลักทั่วไป

2.1 ความยินยอมของรัฐ
โดยปกติแล้ว ความยินยอมของรัฐที่จะเสนอข้อพิพาทระหว่างประเทศให้ศาลหรืออนุญาโตตุลาการตัดสินนั้นเป็นคนละกรณีกับความยินยอมที่จะให้มีการตีความคำพิพากษา กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่รัฐให้ความยินยอมที่จะให้ศาลตัดสินข้อพิพาทระหว่างประเทศ มิได้หมายความว่ารัฐคู่พิพาทประสงค์จะให้รวมถึงหรือขยายไปถึงอำนาจในการตีความคำพิพากษาได้ด้วย หากรัฐคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการที่จะให้มีการตีความคำพิพากษา ทั้งสองฝ่ายจะต้องทำความตกลงระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่งเพื่อเสนอให้ศาลได้ตีความคำพิพากษา

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของศาลโลกนั้น ตามธรรมนูญของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (Statute of the International Court of Justice) มาตรา 60 ได้กำหนดวิธีการตีความคำพิพากษาของศาลโลกเป็นการเฉพาะโดยข้อ 60 ซึ่งบัญญัติว่า “คำพิพากษาของศาลเป็นที่สุดและอุทธรณ์ไม่ได้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลต้องตีความตามคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” 

ประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญมากและเป็นประเด็นที่กำลังมีการถกเถียงกันว่า ฝ่ายกัมพูชาจะเสนอคำร้องให้มีการตีความฝ่ายเดียวได้หรือไม่ หรือฝ่ายไทยจะต้องให้ความยินยอม ด้วย หากพิจารณาจากข้อที่ 60 แล้ว ตัวบทใช้คำว่า “คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” (any party) ซึ่งมีนัยว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าฝ่ายที่เป็นโจทก์หรือเป็นผู้ถูกฟ้องก็สามารถร้องขอให้มีการตีความได้ และหากพิจารณา Rules of Court ของศาลโลกประกอบด้วยก็จะเข้าใจมากยิ่งขึ้น โดยข้อที่ 98 ของ Rules of Court ของศาลโลกแบ่งวิธีการร้องขอให้ศาลโลกตีความออกเป็นสองวิธีคือการยื่นคำร้องให้มีการตีความฝ่ายเดียว (an application) กับการแจ้งให้ทราบว่ามีการทำความตกลงพิเศษ (Notification of a Special Agreement) กับรัฐคู่ความเพื่อให้ศาลโลกตีความ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาศาลโลกก็เคยวินิจฉัยว่า คู่ความสามารถยื่นคำร้องต่อศาลโลกให้มีการตีความฝ่ายเดียวได้ คดีที่ว่านี้คือคดีระหว่างประเทศตูนีเซียกับลิเบียเกี่ยวกับไหล่ทวีปกรณีที่ตูนีเซียร้องขอต่อศาลโลกให้มีการแก้ไขคำพิพากษาและตีความคำพิพากษา (ต่อไปจะเรียกว่าคดีระหว่างตูนีเซียและลิเบีย) ในคดีนี้ ศาลโลกไม่เห็นด้วยกับการตีความของลิเบียที่ว่า การตีความคำพิพากษาตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลโลกต้องกระทำโดยสองฝ่าย เนื่องจากการตีความเช่นนี้เท่ากับเป็นการสกัดกั้นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งในการใช้สิทธิที่จะขอให้ศาลโลกตีความหากว่าอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ให้ความร่วมมือ อนึ่ง ที่ผ่านมาในอดีต การตีความคำพิพากษาศาลโลกเกิดจากการร้องขอฝ่ายเดียวของรัฐคู่ความ

นอกจากนี้ นักกฎหมายระหว่างประเทศที่เชี่ยวชาญเรื่องเขตแดนอย่างศาสตราจารย์ Kaiyan Kaikobad เห็นว่า รัฐคู่พิพาทไม่จำเป็นต้องระบุอำนาจของศาลโลกในการตีความไว้ในความตกลงพิเศษที่เสนอให้ศาลโลกระงับข้อพิพาทหรือไม่ต้องทำความตกลงพิเศษขึ้นมาใหม่ กล่าวโดยสรุป การตีความคำพิพากษาของศาลโลกเป็นไปตามมาตรา 60 แห่งธรรมนูญศาลโลกและ Rules of Court ข้อที่ 98 หาได้ขึ้นอยู่กับการทำความตกลงพิเศษของรัฐคู่พิพาทแต่ประการใดไม่อย่างไรก็ดี ศาลจะรับการร้องขอให้มีการตีความคำพิพากษาหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจหรืออำนาจของศาลโลก

2.2 การมีข้อพิพาทเกี่ยวกับขอบเขตหรือความหมายของคำพิพากษา
เป็นที่ยอมรับกันในแนวบรรทัดฐานคำตัดสินของศาลโลกตั้งแต่ศาลโลกเก่า (คือคดี Chorzow Factory) จนถึงศาลโลกใหม่ว่า ขณะที่มีการร้องขอให้ตีความคำพิพากษา จะต้องมีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจริง (the existence of a actual dispute) ระหว่างรัฐคู่ความเกี่ยวกับขอบเขตหรือความหมายของคำพิพากษา มิใช่เพียงแค่โอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดหรือมีข้อพิพาท (potential dispute) โดยคำว่า “ข้อพิพาท” (dispute) นี้เป็นถ้อยคำทางกฎหมายที่มีความหมายเฉพาะคือหมายถึงกรณีที่รัฐคู่พิพาทมีความเห็นที่ไม่ตรงกันหรือต่างกัน (divergence of view) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เฉพาะเจาะจงอาจเป็นประเด็นข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงก็ได้ ฉะนั้น ข้อพิพาทจึงมิได้มีความหมายเพียงแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าใจว่าหรือเห็นว่า คำตัดสินของศาลนั้นไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือ ในคำร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดี Asylum นั้น ศาลโลกกล่าวว่า ข้อพิพาทนั้นจะต้องเป็นกรณีที่มีความเห็นที่ไม่เหมือนกันระหว่างรัฐคู่พิพาทในประเด็นที่มีการกำหนดไว้ชัดเจนแน่นอน (A dispute requires a divergence of view between the parties on definite points.)

อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา หรือพูดง่ายๆก็คือ ต้องการตัดเขตอำนาจศาลโลกตั้งแต่แรก ก็จะต้องมีการคัดค้านในเบื้องต้นเสียทันทีว่า ไม่มีข้อพิพาทหรือความเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับขอบเขตหรือความหมายของคำพิพากษาระหว่างรัฐคู่ความ ซึ่งหากขาดเงื่อนไขข้อนี้แล้ว ศาลโลกก็ไม่สามารถที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ เพราะว่าศาลโลกจะตีความได้ก็ต่อเมื่อ มีประเด็น “ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจริง” (actual dispute) แล้วเท่านั้น เช่นกรณีคดี Chorzow Factory ที่โปแลนด์ต่อสู้ว่า ไม่มีข้อพิพาทหรือความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาแต่อย่างใด

2.3 วัตถุแห่งการตีความ
การตีความคำพิพากษาของศาลโลกนั้นจำกัดเฉพาะสิ่งที่ศาลได้ตัดสินในคำพิพากษาเท่านั้น รัฐจะร้องขอให้ศาลโลกตีความในประเด็นที่ศาลโลกมิได้ตัดสินไม่ได้ มิฉะนั้นแล้ว ประเด็นที่ร้องขอให้ศาลตีความอาจเป็น “คำถามใหม่” ในประเด็นนี้ ศาลโลกในคำร้องขอให้ตีความคำพิพากษาในคดี Asylum เมื่อปี ค.ศ. 1950 นั้นศาลโลกได้กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของศาลโลกที่จะตอบคำถามที่ได้กำหนดไว้ในคำแถลงสรุปสุดท้าย (final submission) และงดเว้นที่จะไม่ตัดสินประเด็นที่ไม่ได้กำหนดไว้ในคำแถลงสรุปสุดท้าย และศาลโลกยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลโคลัมเบียเห็นว่าเป็นช่องโหว่ (gap) ของคำพิพากษานั้น แท้จริงเป็น “คำถามใหม่”  ซึ่งไม่อาจตัดสินได้ด้วยวิธีการตีความ การตีความไม่อาจเกินไปกว่าคำพิพากษาได้ ซึ่งประเด็นต่างๆนั้นได้ถูกกำหนดไว้แล้วในคำแถลงสรุปสุดท้าย

มีข้อสังเกตว่า ในคำแถลงสรุปที่ฝ่ายกัมพูชาได้เสนอระหว่างกระบวนพิจารณาภาควาจาที่ได้เพิ่มเข้าอีกสองประเด็นคือ เส้นเขตแดนระหว่างประเทศในบริเวณเทือกเขาดงรักและแผนที่ตอนเขาดงรักเป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นในนามของคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสม ซึ่งคำร้องทั้งสองข้อนี้ศาลโลกไม่รับไว้พิจารณาและมิใช่เป็นข้อเรียกร้องที่จะต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ดังนั้น หากกัมพูชาจะร้องขอให้ศาลโลกตีความในสองประเด็นนี้ย่อมมิอาจทำได้เพราะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบทปฏิบัติการแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ประเด็นต่อไปมีว่า การตีความคำพิพากษานั้นจะจำกัดเฉพาะสิ่งที่ศาลโลกได้ตัดสินเท่านั้นที่เรียกว่า “บทปฏิบัติการ” (ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า dispositive) หรือจะขยายไปถึงเหตุผลในคำพิพากษาด้วย ในประเด็นนี้ได้มีการกล่าวถึงในคดีของคำตัดสินระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสเกี่ยวกับไหล่ทวีปที่มีการเสนอให้ศาลของอนุญาโตตุลาการ (the Court of Arbitration) ตีความโดยฝรั่งเศสเห็นว่า การตีความคำพิพากษาของศาลจำกัดเฉพาะบทปฏิบัติการอันเป็นส่วนที่ได้มีคำวินิจฉัยเท่านั้นจะขยายไปยังส่วนอื่นๆของคำพิพากษาไม่ได้ ในขณะที่อังกฤษเห็นว่า การตีความไม่ควรจำกัดเฉพาะคำตัดสินในบทปฏิบัติการเท่านั้นแต่รวมถึงวรรคอื่นๆที่เป็นเหตุผลทางกฎหมาย (reasoning) ด้วยหากว่าวรรคอื่นๆในอยู่ในคำพิพากษาเป็นส่วนสำคัญหรือมีความสัมพันธ์อย่างมากกับคำตัดสินในบทปฏิบัติการ ซึ่งในกรณีนี้ Court of Arbitration เห็นด้วยกับการตีความของอังกฤษ เช่นเดียวกันกับศาลโลก ในคดีข้อพิพาททางเขตแดนทางบกและทางทะเลระหว่างคาเมอรูนกับไนจีเรีย คาเมอรูนได้ร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา ซึ่งในคดีนี้ศาลโลกได้กล่าวว่า การตีความคำพิพากษาตามข้อที่ 60 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้นต้องเกี่ยวข้องกับบทปฏิบัติการของคำตัดสินเท่านั้น จะร้องขอให้มีการตีความเหตุผลของคำพิพากษาไม่ได้เว้นแต่เหตุผลของคำตัดสินนั้นไม่สามารถแยกออกจากบทปฏิบัติการได้ (any request for interpretation must relate the operative part of the judgment and cannot concern the reasons for the judgment except in so far as these are inseparable from the operative part)

2.4 เงื่อนไขด้านเวลา
โดยปกติแล้ว การตีความคำพิพากษาหรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศมักจะระบุเงื่อนไขด้านเวลาไว้ว่า รัฐคู่พิพาทจะสามารถร้องขอให้มีการตีความคำพิพากษาได้ต่อเมื่อพ้นช่วงเวลาหลังจากที่ศาลหรืออนุญาโตตุลาการได้ตัดสินซึ่งอาจเป็นเวลา 3 เดือนหรือมากกว่านั้นก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของศาลโลกนั้น ข้อที่ 60 มิได้กำหนดเงื่อนไขเรื่องกำหนดเวลาไว้ว่ารัฐคู่พิพาทต้องยื่นคำร้องให้ศาลโลกตีความภายในกำหนดเวลาเท่าใดซึ่งต่างจากการขอให้มีการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งต้องทำภายในหกเดือนนับแต่วันค้นพบข้อเท็จจริงใหม่หรือภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ดังนั้น การให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาจึงไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนเวลา กล่าวอีกนัยหนึ่ง การให้ศาลโลกตีความคำพิพากษานั้นมีลักษณะเป็น open- ended

คำถามมีว่า แล้วคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารซึ่งตัดสินมานาน  50 ปีจนองค์คณะเดิมที่ตัดสินคดีนี้ต่างก็ไม่อยู่แล้ว ศาลโลกองค์คณะใหม่จะรับคำร้องหรือไม่  อย่างไรก็ดี ในอดีต อาร์เจนติน่ากับชิลีเคยทำความตกลงพิเศษเมื่อค.ศ. 1991 เสนอให้อนุญาโตตุลาการตัดสินคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่เคยชี้ขาดเมื่อ ค.ศ. 1902

 

3. วัตถุประสงค์ของการตีความคำพิพากษา
การตีความคำพิพากษาจะต้องรักษาความเป็นที่สุดของคำตัดสินของศาลที่มีผลผูกพันคู่ความไว้  การตีความคำพิพากษาจึงไม่อาจมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงผลของคำตัดสินหรือขยายไปยังประเด็นอื่นที่ศาลมิได้ตัดสินไว้

 

4. ตัวอย่างของการตีความคำพิพากษาศาลโลก
ในอดีต รัฐคู่พิพาทเคยใช้สิทธิตามมาตรา 60 ขอให้ศาลโลกตีความขอบเขตหรือความหมายของคำพิพากษาของศาลโลกหลายคดี  โดยเรียงตามลำดับเวลาล่าสุด ดังนี้

1) คำร้องขอให้มีการตีความคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ปีค.ศ. 2004 (Request for Interpretation of the Judgment of 31 March 2004 in the Case concerning Avena and Other Mexican Nationals (Mexico v. United States of America) (Mexico v. United States of America)

2) คำร้องขอให้มีการตีความคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ปีค.ศ. 1998 (Request for Interpretation of the Judgment of 11 June 1998 in the Case concerning the Land and Maritime Boundary between Cameroon and Nigeria (Cameroon v. Nigeria), Preliminary Objections (Nigeria v. Cameroon)

3) คำร้องขอให้มีการตีความคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 1982 Application for Revision and Interpretation of the Judgment of 24 February 1982 in the Case concerning the Continental Shelf (Tunisia/Libyan Arab Jamahiriya) (Tunisia v. Libyan Arab Jamahiriya) (1984)

4) คำร้องขอให้มีการตีความคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1950 Request for Interpretation of the Judgment of 20 November 1950 in the Asylum Case (Colombia/Peru) (1950)

5) Factory at Chorzow, Application for Revision and Interpretation of the Judgment of 24 February

 

5. ประเด็นการตีความกรณีคดีปราสาทพระวิหาร
สำหรับกรณีคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งศาลโลกตัดสินไว้ 3 ประเด็น นายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า อาจมีการเสนอให้ศาลโลกตีความในประเด็นที่สองของบทปฎิบัติการซึ่งเกี่ยวกับพื้นที่บริเวณรอบๆปราสาทพระวิหาร (vicinity)

 

บทส่งท้าย
การที่กัมพูชายื่นคำร้องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารนั้นไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้อย่างแน่ชัดว่าผลจะเป็นอย่างไร ศาลโลกอาจรับหรือไม่รับพิจารณาคำร้องของกัมพูชาก็ได้ หรือหากศาลโลกรับไว้พิจารณาก็ไม่มีใครคาดหมายว่าผลของการตัดสินจะออกมาเป็นคุณกับฝ่ายใด  ดังนั้น การเตรียมการต่อสู้คดีเป็นเรื่องสำคัญซึ่งรัฐบาลไทยได้แจ้งว่าได้เตรียมนักกฎหมายไว้ต่อสู้แล้ว อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยอาจต้องเตรียมเรื่องการแต่งตั้ง “ผู้พิพากษาเฉพาะคดี” (judge ad hoc) ด้วยเพราะว่าธรรมนูญศาลโลกข้อที่ 31 วรรค 3 เปิดช่องให้มีการเสนอชื่อผู้พิพากษาเฉพาะคดีได้หากว่าองค์คณะปัจจุบันของศาลโลกไม่มีผู้พิพากษาที่มีสัญชาติเดียวกับรัฐคู่พิพาทโดยสถานะของผู้พิพากษาเฉพาะคดีนั้นมีศักดิ์และสถานะเท่าเทียมกับผู้พิพากษาประจำ.

 

ที่มา: http://www.enlightened-jurists.com/blog/33

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net