Skip to main content
sharethis

 

คนงานจี้ ก.แรงงาน กำหนดให้วันที่ 10 พ.ค.เป็นวันความปลอดภัยในการทำงาน ตามมติ ครม.ปี40 และย้ายวันจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ จากต้นเดือนกรกฎาคม มาเป็น 10 พ.ค.เพื่อให้สอดคล้องกัน

 

(28 เม.ย.2554) เวลา 10.00 น. เครือข่ายแรงงานซึ่งประกอบด้วย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง กลุ่มผู้ใช้แรงงานรังสิตและใกล้เคียง สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย เครือแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ และเครือข่ายผู้นำแรงงาน ประมาณ 30 คนได้มารวมตัวกันบริเวณชั้นล่างอาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อแสดงจุดยืนและเจตนารมณ์และเรียกร้องผลักดันให้กระทรวงแรงงานกำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ และให้ยกเลิกวันจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ที่เคยจัดในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม มาจัดในช่วงวันที่ 10 พฤษภาคม ให้สอดคล้องกับวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ

โดยระบุว่า เครือข่ายแรงงานไม่เห็นด้วยกับการที่กระทรวงแรงงานจะจัดวันสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 7-9 กรกฎาคม 2554 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพราะการจัดงานดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องหรือขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี 26 ส.ค. 2540 ข้อ (2) ที่ให้กระทรวงแรงงานจัดวันสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ 10 พฤษภาคมของทุกปี

สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่กระทรวงแรงงานไปใช้วันในเดือนอื่นโดยไม่ยึดวันที่ 10 พฤษภาคมในการจัดวันสัปดาห์ความปลอดภัยแห่งชาติ เป็นการทำลายสัญลักษณ์ของการตระหนักในความปลอดภัย อันเนื่องมาจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ซึ่งคนงานวัยหนุ่มสาวได้เสียชีวิตถึงจำนวน 188 ศพ บาดเจ็บกว่า 469 รายนับเป็นความทรงจำที่โหดร้ายของแรงงานไทย ที่สะท้อนความไม่ปลอดภัยในการทำงานที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาประเทศโดยขาดระบบรองรับที่ดีและเหมาะสม

ต่อมาเครือข่ายแรงงานได้ขึ้นไปยังห้องประชุมบริเวณชั้น 2 เพื่อประชุมทวงถามเรื่องการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวะอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน กับนางพรรณี ศรียุทธศักดิ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกมารับการทวงถาม โดยสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวะอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานนี้เป็นองค์กรหนึ่งที่เครือข่ายแรงงานต้องการให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในการทำงาน อันสืบเนื่องมาจากโศกนาฏกรรมโรงงานเคเดอร์ด้วยเช่นกัน แต่ที่ผ่านมากระบวนการจัดตั้งสถาบันนี้ยังเป็นข้อขัดแย้งรุนแรงภายในคณะอนุกรรมการยกร่างสถาบันฯ เนื่องจากกรรมการฝ่ายรัฐต้องการให้เป็นเพียงกองๆ หนึ่งในกระทรวงแรงงานเท่านั้น แต่อนุกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายแรงงานไม่เห็นด้วยเด็ดขาด.

อนึ่ง สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ร่วมกับผู้นำแรงงานในหลายพื้นที่ จะจัดกิจกรรมเวทีสาธารณะ 18 ปี โศกนาฎกรรมเคเดอร์ กับการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ในฝันของผู้ใช้แรงงานจะเป็นจริงหรือไม่? ในวันอังคารที่ 10 พฤษภาคม เวลา 8.30-15.45น. ณ ห้องประชุมราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดาเนิน กรุงเทพมหานคร 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net