Skip to main content
sharethis

มองไปข้างหน้า กับทิศทางอนาคต เป้าหมาย ความฝันและลมหายใจของคนเวียงแหง หลังการรุกคืบของโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง โดย กฟผ.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งดูเหมือนว่า ทาง กฟผ.จะยังไม่ยอมยุติและรามือไปง่ายๆ แต่นั่นได้ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนอำเภอเวียงแหง ได้หันมาจัดเวทีเพื่อทบทวน ถกถึงปัญหา สถานการณ์ การต่อสู้ ตั้งรับ ปรับเปลี่ยน แนวรุกและเคลื่อนไหว กันใหม่อีกครั้ง วันที่ 4-5 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง อ.เวียงแหง ได้มีการจัดเวทีสรุปบทเรียนขบวนการต่อสู้เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง ขึ้น โดยมี นายคำ ตุ่นหล้า เป็นประธานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน คนปัจจุบัน “เป็นการรวมกลุ่มของคนหลายคน ซึ่งมีอุดมการณ์ เป้าหมาย พันธกิจที่เหมือนกัน หรือสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน มีการประสานงาน เคลื่อนไหว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยการทำงานอย่างเป็นระบบ อย่างเป็นขั้นตอน พร้อมมีการประเมินและติดตามผลการปฏิบัติอย่างเป็นระยะ เพื่อปรับเปลี่ยน เคลื่อนไหว และปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์” สมาชิกเครือข่ายฯ ร่วมกันสรุปทิศทางในการทำงานของเครือข่ายฯ ถึงภารกิจที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน กระทั่ง ในวันที่ 11-12 ธันวาคม 2553 ได้มีการจัดวงคุยแลกเปลี่ยนกันอีกครั้ง ณ สถานปฏิบัติธรรม ปลีกวิเวก วัดกองลม ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง โดยได้ข้อสรุปในการวางเป้าหมาย วิสัยทัศน์ ของเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง ดังนี้ ‘เวียงแหง แหล่งต้นน้ำ ประวัติศาสตร์ยาวนาน สืบสานภูมิปัญญา ดิน น้ำ ป่า ให้อุดมสมบูรณ์ เพิ่มพูนเศรษฐกิจแบบพอเพียง บนฐานวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างยั่งยืน’ และต่อมา ในวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ได้มีการจัดเวทีการเรียนรู้ในเรื่องสิทธิชุมชน กฎหมาย ขึ้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบลเปียงหลวง โดยมีทีมนักวิชาการนักกฎหมายจาก สถาบันสิทธิชุมชน และสภาทนายความแห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปให้ข้อมูลความรู้ในด้านสิทธิชุมชนและกฎหมาย พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม และองค์กรชาวบ้านในท้องถิ่นอีกด้วย การจัดเวทีแลกเปลี่ยนและพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายฯ ได้ทำให้ทุกคนตื่นตัวและร่วมกันถกกันหลายๆ ประเด็น โดยมีแนวคิดหลักสำคัญ ที่จะทำต่อไป นั่นคือต้องมองร่วมกันว่า คุณค่าและความหมายของคำว่า ‘เครือ’ที่ทุกคนต้องการนั้นคืออะไร บางคนอาจจะมองว่า เป็นคำเฉพาะ แต่คำว่า เครือข่าย หรือเครือ นั้น ถ้ามีจุดที่เป็นตำหนิก็จะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนทั้งหมด แต่ถ้าหากเครือนั้นเกิดการรวมตัวแล้วแตกพลังออกไป ก็จะเกิดเครือข่ายของพลังการต่อสู้ขึ้นมา “สิ่งที่เราจะร่วมกันให้เป็นเครือได้ ไม่ใช่ว่าจะเป็นเฉพาะการคัดค้านเหมืองแร่ลิกไนต์เท่านั้น แต่มีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเครือเรื่องของการกิน การตาน การเมืองท้องถิ่น ป่าชุมชน หรือเรื่องอื่นๆ ที่เราสามารถจะร้อยเป็นเครือกันได้ เพราะฉะนั้น เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบนฯจะต้องหาจุดเด่น เอกลักษณ์ เป้าหมาย เนื้อหา มาเชื่อมเป็นจุดเดียวกันให้ได้” ในขณะคุณค่าและความหมายของคำว่า ‘ข่าย’ ได้มีการวิเคราะห์และมองว่า ข่าย คือ การโยงใยที่เหมือนกับใยแมงมุม ที่สร้างความงามของศิลปะ แต่สิ่งสำคัญ คือ การสร้างข่ายแล้วจะต้องเพิ่มความแข็งแรงด้วย “จากการสังเกตแมงมุม นั้นจะดึงเส้นใยออกมาทางด้านข้างได้ เพื่อนำเอาเรื่องต่างๆ มาเชื่อมร้อยกันทำให้เรื่องนั้นๆ ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ดังนั้น เราจะต้องมองเป้าหมายของการทำงานของเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบนฯ ซึ่งเรียกว่า เวียงแหงในฝัน เป็นฝันของเครือข่ายที่อยากเห็น อยากก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน พร้อมกับกำหนดแนวทางขั้นบันไดที่จะก้าวขึ้น เพื่อไปให้ถึงฝัน และทำให้ยุทธศาสตร์นั้นเป็นจริง” เน้นยุทธศาสตร์ หลากหลายและครอบคลุมทุกมิติชุมชนรอบด้าน จากวงคุยแลกเปลี่ยน ได้มีการสรุปบทเรียน ปัญหาและกระบวนแก้ไขปัญหา ข้อด้อย ข้อเด่น รวมถึงผลของการขับเคลื่อนที่ประสบความสำเร็จได้ในระดับ นอกจากนั้น ในวงคุยแลกเปลี่ยน ยังได้มองไปถึงทิศทางอนาคตต่อไปข้างหน้าของเวียงแหง โดยได้วางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนต่อไป 5 ยุทธศาสตร์หลักๆ เอาไว้ ดังนี้คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1. ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า ให้อุดมสมบูรณ์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่หลากหลาย ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างกลุ่ม เครือข่าย องค์กรชุมชน(ผู้นำ กลุ่ม ชาวบ้าน) ให้เข้มแข็งในการบริหารจัดการท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 4 สนับสนุนส่งเสริมอาชีพ รายได้ สร้างเศรษฐกิจให้อยู่อย่างพอเพียง ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริม สนับสนุนฟื้นฟู องค์ความรู้ แหล่งเรียนรู้ และจัดการความรู้ให้ชุมชนเกิดสำนึกรักท้องถิ่น นี่เป็น 5 ยุทธศาสตร์หลักของ เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบนฯ ที่ได้วางไว้ล่าสุด เพื่อเป็นแนวทางนำพาให้เครือข่ายฯ เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นและมีพลังในการขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต เหมือนกับที่ พระ ดร.ฐาณี ฐิตวิริโย จากสำนักปฏิบัติธรรมปลีกวิเวก วัดกองลม อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระสงฆ์นักพัฒนาของอำเภอเวียงแหง ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนองค์กรชาวบ้าน และเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน กล่าวว่า ความเป็นเครือข่ายทำให้เกิดความเข้มแข็ง ทุกคนมีทุกข์ร่วม และอยากจะหาทางออกของความทุกข์ร่วมกัน และเป็นข้อดี และเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ โดยเฉพาะคนที่สนใจการทำงานแบบมีส่วนร่วม การทำงานในระบบที่เป็นเครือข่าย ถือเป็นกระบวนการต่อสู้ที่เห็นผลอย่างชัดเจน “กระบวนการต่อสู้ คือ การสร้างการเรียนรู้ การตื่นรู้ รู้เท่าทัน การทำงานของเครือข่ายทำให้เกิดเพชรเม็ดงามหลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่น การนำพี่น้องชาวบ้านจากการที่ไม่รู้เท่าทัน จากที่ไม่มีความรู้เรื่อง มาพูดคุย เจรจา การต่อรอง จนทำให้รู้เท่าทันกับกลโกง ที่เป็นกลไก กลยุทธ์ในการช่วงชิง ชาวบ้านก็สามารถที่จะสร้างการเรียนรู้ พัฒนาขีดความสามารถทั้งคนที่เป็นผู้นำทางการ กลุ่มสตรี รวมทั้งผู้นำแบบธรรมชาติได้มาก และนี่เป็นผลประโยชน์จากการเป็นอานิสงส์ของการต่อสู้ เป็นดอกผลและผลผลิตของการต่อสู้” พระ ดร.ฐาณี ยังได้ย้ำบอกว่า เหตุแห่งความล้มเหลวของโครงการรัฐที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าที่เวียงแหง หรือพื้นที่อื่นๆ ก็คือ 1.การมีส่วนร่วมเทียม ไม่ใช่การมีส่วนร่วมแท้ 2.ไม่ได้สนองต่อชุมชนและชาวบ้าน แต่เป็นการสนองต่อนโยบายของรัฐ การสนองต่อกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์ และ 3. เรื่องของความเลื่อมล้ำทางด้านสังคม ที่เป็นรากเหง้าแห่งปัญหา ในขณะที่คนเวียงแหงนั้นมีวิถีชีวิตความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ค่อนข้างที่จะเหนียวแน่น เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งขัดแย้งและสวนทางกับนโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐโดยสิ้นเชิง “แต่ว่าเรื่องกรณี \เหมืองลิกไนต์\" นั้นไม่ใช่เพียงแค่จะส่งผลกระทบในเรื่องของป่าไม้ เรื่องดิน เรื่องอากาศเพียงอย่างเดียว แต่พอมาเป็นโครงการขนาดใหญ่ ทำให้เรามีบทเรียนมาจากหลายๆ พื้นที่ในประเทศไทยที่ผ่านมา หลายๆ ประเทศ ซึ่งเราเห็นว่า โครงการขนาดใหญ่ นั้นได้สร้างความเสียหายให้กับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นด้วย ที่สำคัญ หลังเกิดโครงการ เกิดเหตุการณ์ ก็ไม่มีการเยียวยา รักษา และจริงใจแต่อย่างใด นั่นเป็นสิ่งที่อาตมาคิดและวิตกกังวลเท่านั้น แต่คนในอำเภอเวียงแหงก็คิดเหมือนกัน และที่กลัวที่สุดคือ กลัวในแง่ที่ว่ามันจะเข้ามาทำลายวิถีชีวิต” พระฐาณี กล่าว * * * * * สัมภาษณ์ พระดร.ฐาณี ฐิตชิริโย คนเวียงแหงค้านเหมืองแร่ คือกระบวนการต่อสู้ ตื่นรู้และเท่าทัน ในฐานะที่ท่านเป็นคนเวียงแหงแต่กำเนิด อยากให้ย้อนกลับไปมองภาพเวียงแหงในอดีต เวียงแหงของเราเมื่อก่อนนั้น ตั้งแต่ตอนที่ระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ถนน นั้นยังไม่ค่อยดี เครื่องใช้อำนวยความสะดวกมีไม่มากสักเท่าไหร่ แต่ถ้าดูเรื่องของลักษณะทางกายภาพ ก็อาจจะตรงกันข้ามระหว่างระบบสาธารณูปโภค นั่นคือ วิถีชีวิตของคนในเรื่องของการพึ่งพาอาศัย ระหว่างคนพึ่งคน ระหว่างคนกับธรรมชาติ ระหว่างพี่น้องชนเผ่า ซึ่งสมัยก่อน คนเวียงแหงสมัยก่อนนั้นมีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ แต่ขณะเดียวกันก็มีความหลากหลายทางด้านชีวภาพ พืชพรรณธัญญาหาร ทรัพยากรทางธรรมชาตินั้นมีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่ถ้าเรามองดูวิถีชีวิตของคนมีลักษณะที่จะเกื้อกูล พึ่งพาอาศัย ที่เรียกกันว่า \"พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้\" มีการพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกัน ทั้งในระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชนกับชุมชน พี่น้องชนเผ่าคนไตกับคนจีน พี่น้องเผ่าลีซู คนเมือง คนไต ปวาเก่อญอ ก็อยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยกัน ระบบที่มีการแข่งขัน แบ่งพรรคแบ่งพวกนั้นไม่มี คนเวียงแหงแต่ก่อนมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างไรบ้าง วิถีชีวิตความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ค่อนข้างที่จะเหนียวแน่น เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ถ้อยที่ถ้อยอาศัย หมายความว่า คนก็ไม่ใช้ทรัพยากรอย่างสุรุ่ยสุร่าย มีระบบเหมืองฝาย มีการรักษาป่า เอาไม้เอาฟืนมาใช้ แม้กระทั่งทรัพยากรป่าไม้ที่มาสร้างบ้าน ก็เอาตามสมควร ไม่ได้เอามาในเชิงพาณิชย์ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะมีการใช้ทรัพยากรสมัยก่อน ก็มีการใช้อย่างพอดีพองาม การพึ่งพาอาศัย ก็มีการเก็บผักไม้ไซร้เครือ เก็บของป่ามากิน มาใช้ มาอยู่อาศัย มารักษาโรค อาหาร ก็มีความพอดีพองาม มิติด้านจิตใจของคนเวียงแหงในอดีตเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าย้อนไปในอดีต มิติทางด้านจิตใจของคนเวียงแหงก็ \"ม่วนงันสันเล้า\" สมัยที่อาตมาเป็นเด็ก เป็นละอ่อน ก็ไปชอบไปกับปู่ ย่า ตา ยาย ไปสวนไปไร่ บางงานก็ไปงานบุญงานวัด คนเฒ่าก็จะพาเด็ก \"ละอ่อน\" คนเฒ่าคนแก่ กลุ่มหนุ่มสาว มีความผูกพัน มีความสุขกันดี สมัยก่อน เปรียบเสมือน สวรรค์บนดิน นี่คือภาพในอดีต เพราะฉะนั้น อาตมาเห็นว่าเป็นความงามในมิติทางจิตใจของคน เป็นความสุข ทั้งในแง่ของคนกับธรรมชาติ ระหว่างคนกับคน ความแตกต่างหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ แต่ก็มีการพึ่งพาอาศัยและเกื้อกูลกัน นี่คือภาพของเวียงแหงในอดีต แล้วสิ่งเหล่านี้เริ่มมาเปลี่ยนแปลงในตอนไหน ช่วงไหน หลังจากที่มีความเจริญทางด้านวัตถุไหล่บ่าเข้ามา ตลอดจนถึงผลกระทบอันเกิดจากเพื่อนบ้าน ชายแดนก็มีการอพยพคนเข้ามา ผู้คนส่วนใหญ่จากเดิม แต่ก่อนการทำมาหากิน \"การเซาะว่าหากิน\" มีความต้องการทางด้านวัตถุมาก ทีวี ตู้เย็น มอเตอร์ไซด์ เครื่องใช้ไม้สอย โทรศัพท์มือถือต่างๆ และเมื่อของใช้มากขึ้น ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เมื่อค่าใช้จ่ายมากขึ้นก็ต้องหาเงินมากยิ่งขึ้น การหาเงินของชาวบ้านก็เปลี่ยนไป จากการพึ่งพิงซึ่งกันและกัน หรือการพึ่งพิงแบบพอดีพองาม กับธรรมชาติก็มีการมุ่งแสวงหากำไรสูงสุด แข่งขัน ในการคิดเป็นมูลค่า เป็นเงิน เป็นสตางค์ สมัยก่อน บ้านเรานั้นไม่มีการว่าจ้าง มีการลงแรง ลงแขก แต่เดี๋ยวนี้เป็นการจ้างเป็นรายวัน คิดเป็นเงิน เป็นมูลค่ากันไป เพราะฉะนั้น อาตมาคิดว่า ช่วงเวลาที่เป็นเรื่องของการเปลี่ยน นั้นไม่ใช่ว่าเปลี่ยนทันทีทันใด แต่ว่าระบบเปลี่ยนอย่างนี้ อาตมาก็เข้าใจระบบโลก เพราะชุมชนของเรานั้นเป็นระบบเปิด ไม่ใช่ระบบปิด กระแสของทุนนิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยม ที่ไหลบ่าลงมา ความต้องการทางด้านวัตถุ ทรัพย์สินเงินทองก็มากขึ้น คนก็ทำงานมากขึ้น เป็นทุกข์มากขึ้น มีเวลาพูดคุยกันน้อยลง เยี่ยมเยียนหากัน เรี่ยไร การออม \"ไฮ่ฮอม\"กันน้อยลง ดังนั้น อาตมา ถึงมองว่า ยอมรับว่า ช่วงไหนที่เปลี่ยนก็คือเปลี่ยน มาช่วงหลังนี้ อาตมามองในแง่ดี ก็คือเห็นความทุกข์แล้วก็เห็นทางธรรม และเห็นธรรมแล้วถึงจะเกิดปัญญา เห็นทุกข์แล้วก็เกิดปัญญา ท่านคิดว่า คนเวียงแหงนั้นรู้เท่าทันกระแสทุนนิยมมากน้อยเพียงใด อาตมาคิดว่าคนเวียงแหงเอง ส่วนหนึ่งก็มีความตระหนัก แต่ท้ายที่สุดเข้าใจว่าเราไม่สามารถที่จะต้านกระแส ที่ไหลบ่าไหลลงจากดอยเลาวู ทั้งในเรื่องของวัตถุนิยม บริโภคนิยม ทุนนิยม แต่เรามีสิ่งที่น่าคิดว่าเราจะทำอย่างไร ในการตั้งรับและอยู่กับมันได้ อย่างเป็นเจ้านาย ไม่ใช่เป็นทาส \"อย่างรู้เท่าทัน\"กับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งท่านคิดว่าชาวบ้านเวียงแหงก็ยังมีเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ความเป็นพี่เป็นน้อง นี่ก็ยังเป็นเครื่องมือที่จะอยู่กับกระแสเหล่านี้อย่างรู้เท่าทันได้ อย่างไรก็แล้วแต่ นั่นเป็นเรื่องของจิตสำนึก ทัศนคติ วัตถุนิยม ค่านิยมของแต่ละคนด้วย จากยุคนั้นมาถึงยุคปัจจุบัน หลายคนมองว่าเวียงแหง เริ่มมีข่าวการเข้ามากว้านซื้อที่ดินของนายทุนเพื่อรีสอร์ท เปิดกิจการร้านค้าที่มอมเมาชาวบ้านมากขึ้น กระทั่งหลายคนมองว่า เวียงแหงอาจเป็น\"ปาย\"แห่งที่สอง ท่านมองอย่างไรว่า จุดนี้จะส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนอย่างไรบ้าง สิ่งนี้ อาตมาคิดว่าเป็นสัญญาณเหมือนกับว่าไฟจะช็อต ไฟจะไหม้ก็มีการส่งสัญญาณให้เห็น ฝนจะตั้งเค้า ก็ดูที่ส่งสัญญาณที่ก้อนเมฆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไหลเข้ามาจะเข้ามาบั่นทอนและทำลายความงาม ทุนทางสังคมของอำเภอเวียงแหง เรานั้นยังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องของทุนทางทรัพยากรแต่อย่างไร แต่ก็จะถูกเลือนหายไป หรือว่าจะมีการถูกแลกในเรื่องของระบบเศรษฐกิจทางการเงิน อย่างกรณี ที่มีนายทุนที่เขามีการคิดในเรื่องของมิติทางด้านกำไร แต่ไม่ได้คิดในเรื่องที่แฝงด้วยวิญญาณชุมชน ความดี ความงามของอำเภอเวียงแหงกับเมืองปายนั้น ไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากซักเท่าไหร่ เพราะสมัยก่อนเขามีการเรียกขานว่า \"สาวสองเมือง คือ เวียงแหงกับเมืองปาย\"ดังนั้น กระแสที่ล้นจากอำเภอปาย การที่มีกลุ่มทุน กลุ่มลงทุนการเงิน ไหลบ่าเข้ามาเวียงแหง ก็เป็นคำถามเช่นเดียวกันว่า พี่น้องเวียงแหงจะมีการตั้งรับได้อย่างไร แล้วจะใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่มาเป็นเครื่องมือในการที่จะรักษา และต่อต้านกับสิ่งที่จะมาทำลายวิถีชีวิตอย่างไร นี่ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าเราก็ไม่อาจต้านทานกระแสอันเชี่ยวกรากนี้ได้เลย ใช่ เราไม่สามารถที่จะสร้างกำแพงไม่ให้เข้ามาได้ แต่ว่าชาวบ้าน ชุมชนก็มีการพูดคุย มีมิติชุมชน มีกฎระเบียบชุมชน ข้อตกลงร่วม หรือแม้กระทั่งที่จะให้คนทั้งชุมชนมีการลุกขึ้นมารู้ทันเท่ากับสิ่งเหล่านี้ นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่อาตมาเข้าใจว่า ไม่ใช่จะเป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนเวียงแหงทุกคน แม้กระทั่งคนที่รักเวียงแหงทุกคน รักวิถีชีวิต รักชุมชน ว่าทำอย่างไรเรานั้นจะส่งต่ออำเภอเวียงแหงให้กับลูกหลานของเราได้อย่างไรนั้น เราต้องมีการช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออก ป้องกัน ในสิ่งที่จะเป็นปัญหาในอนาคต ประเด็นเรื่องฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เวียงแหง จากอดีตกับปัจจุบัน สภาพพื้นที่ป่าหรือสิ่งแวดล้อมโดยรวมจะไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก ยกเว้นแต่กรณีที่มีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเข้ามา โดยเฉพาะในเรื่องโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหงที่เข้ามา จุดนี้ท่านมีมุมมองความเห็นอย่างไร ในเมื่อมีการต้องการทรัพยากร ในพื้นที่ ในชุมชน อาจจะเป็นมูลเหตุในเรื่องของการขยายตัวของคน ประชากรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชุมชนจะขยายตัว ประชากรจะเพิ่มมากขึ้นมากขนาดไหนก็ตาม แต่ก็ไม่เท่ากับการเข้ามาของโครงการขนาดใหญ่ หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เหมือนกับเหมืองแร่ลิกไนต์ ยกตัวอย่าง เช่น ชาวบ้านในท้องถิ่น เวลาต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า หรือเรื่องของป่าไม้ ก็เป็นการนำมาใช้ในวิถีชีวิต การนำมาใช้อย่างพอดีพองาม มีการทดแทน ชดเชย อย่างที่อาตมาได้บอกว่า ดิน น้ำ ป่า เป็นเหมือนลมหายใจ เป็นซุปเปอร์มาเก็ตของชาวบ้าน แต่ว่าเรื่องกรณี \"เหมืองลิกไนต์\" นั้นไม่ใช่เพียงแค่จะส่งผลกระทบในเรื่องของป่าไม้ เรื่องดิน เรื่องอากาศเพียงอย่างเดียว แต่พอมาเป็นโครงการขนาดใหญ่ ทำให้เรามีบทเรียนมาจากหลายๆ พื้นที่ในประเทศไทยที่ผ่านมา หลายๆ ประเทศ ซึ่งเราเห็นว่า โครงการขนาดใหญ่ นั้นได้สร้างความเสียหายให้กับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นด้วย ที่สำคัญ หลังเกิดโครงการ เกิดเหตุการณ์ ก็ไม่มีการเยียวยา รักษา และจริงใจแต่อย่างใด นั่นเป็นสิ่งที่อาตมาคิดและวิตกกังวลเท่านั้น แต่คนในอำเภอเวียงแหงก็คิดเหมือนกัน และที่กลัวที่สุดคือ กลัวในแง่ที่ว่ามันจะเข้ามาทำลายวิถีชีวิต ท่านมองอย่างไร กับบทบาทของพระสงฆ์กับการเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนขององค์กรชาวบ้านที่ท่านกำลังดำเนินอยู่นี้ บทบาทของพระ ก็คือ ต้องมีการนำให้ชาวบ้านได้คิดและดำรงชีวิตให้เป็นแบบอย่าง อาตมา ในบทบาทหนึ่งคือ ความเป็นพระ แต่ในความเป็นพระก็เป็นพระที่เป็นหน่อในดิน ในน้ำ เป็นคนในอำเภอเวียงแหงโดยกำเนิด และได้รับความคาดหวังและเป็นที่พึ่ง เป็นที่ยึดเหนี่ยวของชาวบ้าน ดังนั้นความเป็นแกนนำของอาตมา อาตมามองในแง่ที่ว่า เราไม่ใช่ศัตรูของเหมืองแร่ลิกไนต์หรือการไฟฟ้า แต่ว่าหน้าที่ของพระ ก็ต้องมีการแนะในทางที่ดีงาม ที่ถูกที่ต้อง เราเป็นศัตรูกับความไม่ถูกต้อง เป็นศัตรูกับความที่เป็นอธรรม เช่น ความโลภ ความโกรธ ของโครงการที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ คิดว่าทรัพยากรส่วนรวม จะนำมาใช้เป็นกลุ่มทุน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเราเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น บทบาทของอาตมาที่วางบทบาทในเรื่องที่ว่า\"ทางโลกก็ไม่ช้ำ ทางธรรมก็ไม่เสีย\" หมายความว่า พ่อโยม แม่โยม พี่น้องเครือญาติ ศรัทธาที่เป็นชาวบ้านก็ยังมีการอุปถัมภ์อยู่ ความทุกข์ของชาวบ้านก็เป็นความทุกข์ของพระของเจ้า เพราะว่าชีวิตของพระนั้นมีความเกี่ยวเนื่องต้องมีการพึ่งพากับชาวบ้าน ถ้าว่าชาวบ้านมีความทุกข์กับสิ่งเหล่านี้ แต่ว่าเราได้เรียน มีโอกาสได้รู้ได้เห็น มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนในและนอกพื้นที่ ในสถานที่ต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็มีความรู้ ความเห็น มีทัศนคติ ที่ดีและเป็นประโยชน์กับชุมชนและต้องนำกลับมาใช้บ้านของเรา อย่างอาตมาเอง ก็ได้ใช้ทุนของชาวบ้านได้เรียน ซึ่งไม่ได้ใช้ทุนหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมาเรียน เพราะฉะนั้น บทบาทหนึ่งในการเป็นแกนนำของสังคมไทย พระสงฆ์ก็เป็นเหมือนรากแก้ว เป็นที่พึ่งทางด้านจิตวิญญาณ ทางด้านหลักคิดหลักธรรมของชาวบ้านอยู่แล้ว แตกต่างกับพระสงฆ์ทั่วไปที่ไม่ค่อยยุ่ง ไม่สนใจเรื่องของชาวบ้านกันเท่าไหร่ พระสงฆ์มีอยู่หลายลักษณะ พระสงฆ์ที่มีการปฏิบัติ พัฒนาวัด แต่บางทีก็ไม่ได้มองในเรื่องของชาวบ้านก็มี แต่พระสงฆ์กลุ่มที่เห็นว่าก็ต้องทำเพื่อประโยชน์สุขของชาวบ้าน ในส่วนที่ชาวบ้านให้ข้าวในตอนที่เรานั้นบิณฑบาต เพราะฉะนั้น ความทุกข์ของชาวบ้านก็มีผลต่อพระสงฆ์ องค์เณร เมื่อใดที่อยู่วัด คิดแต่ในวัด ไม่มีการคิดถึงเรื่องของปัญหาของชาวบ้าน กลับกลายเป็นว่าบทบาทของพระสงฆ์ก็อาจจะทำให้พี่น้องชาวบ้านไม่มีความสุข บทบาทในแง่ที่เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ที่รักเคารพ ยอมรับ นับถือ ก็จะลดน้อยไป และไม่ต่างกับประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น โดยการที่รู้ว่าพระสงฆ์เป็นเฉพาะผู้นำทางด้านพิธีกรรม บทบาทอื่นก็สลายไป เพราะว่าไม่ได้ตระหนักถึงทุกข์ของชาวบ้าน ผลของการทำงานของท่านกับการขับเคลื่อนในเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน เป็นอย่างไรบ้าง ถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่ใช่กิจของสงฆ์บ้างไหม ชาวบ้านที่ทำงาน ชาวบ้านที่เคารพนับถือ ก็มีความศรัทธาอาตมา ในการทำงานเพื่อชุมชน เพื่อชาวบ้าน เพราะเราเองเป็นพระนักพัฒนาในเรื่องของคน การศึกษา และการยอมรับนับถือและศรัทธาในตัวของอาตมาก็เกิดจากชุมชน แต่ก็มีบางส่วนที่การทำงานของพระไปขัดกับการทำงานที่ไม่ถูกใจของกลุ่มนั้นๆ แต่ก็ถูกมองเป็นแบบธรรมดา ที่ว่าไม่ใช่เรื่องกิจของสงฆ์ ไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม แต่เป็นสิ่งที่ท่านระวังมาโดยตลอดที่ว่า ท่านเองก็จะทำเหมือนที่บอกว่า ทางโลกไม่ช้ำ ทางธรรมไม่เสีย การทำงานกับชาวบ้าน ชุมชนก็จะต้องมีความระมัดระวังเป็นหลายเท่ามากกว่านักพัฒนาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เรื่องของสีกา เรื่องของการทำงานกับคนหมู่มาก จะต้องมีความระมัดระวังกว่าสิ่งเหล่านั้นมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอาตมาถึงมองว่าขึ้นอยู่กับมุมมอง ศรัทธาชาวบ้าน ที่มีการอุปถัมภ์ อุปากระท่านเราได้มีการพูดคุย เรื่องของการสนทนาธรรมก็มองว่า มีการเคารพที่เนื้องาน แนวคิดของเรามากกว่า ในเรื่องของวิกฤต ของอาตมาตอนนี้ ก็จะมีในเรื่องของการติดตามของกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ พยายามหาจุดอ่อน พยายามที่จะโจมตี ใส่ร้าย ป้ายสี หรือแม้กระทั่งการที่จะยื่นผลประโยชน์ ซึ่งอาตมามองว่า เป็นเพียงมารที่มาผจญ เพราะมองว่า \"มารไม่มี บารมีไม่เกิด\" เราต้องมีการเข้มแข็งกับสิ่งเหล่านี้ ท่านมองเห็นพัฒนาการของเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบนเป็นอย่างไรบ้าง อาตมาเข้าใจว่าเป็นเรื่องของกระบวนการกลุ่ม สร้างการพัฒนาการเรียนรู้ และการพัฒนาการเรียนรู้ของธรรมชาติ เป็นเรื่องของการเรียนรู้ทีมีคุณค่า พี่น้องชาวบ้าน เมื่อก่อนนั้นเคยมีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกัน แต่ว่าระยะเวลาผ่านไป ความสัมพันธ์ก็จะเริ่มห่าง แต่พอมีประเด็น อาตมาก็คิดว่าประเด็นก็กลายเป็นโอกาส เคราะห์ก็กลายเป็นโชคได้ ว่าชาวบ้านกลายเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เฉพาะในเรื่องของเครือข่าย บางทีเราก็เห็นเรื่องประเด็น ในเรื่องของการมีประชากรมากยิ่งขึ้น การแบ่งน้ำ การแย่งชิงน้ำ การแบ่งทรัพยากรกันบ้าง แต่ท้ายที่สุดก็มีเรื่องของการมีทุกข์ร่วม ในเรื่องของเหมืองแร่ ซึ่งเป็นทุกข์ร่วมของชาวบ้าน ความเป็นเครือข่ายเกิดความเข้มแข็ง ทุกคนมีทุกร่วม และอยากจะหาทางออก ความทุกข์ร่วมกัน และเป็นข้อดี และเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ โดยเฉพาะคนที่สนใจการทำงานแบบมีส่วนร่วม การทำงานในระบบที่เป็นเครือข่าย ถือเป็นกระบวนการต่อสู้ที่เห็นผลอย่างชัดเจน ท่านมองกระบวนการต่อสู้ของเครือข่ายฯ ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง กระบวนการต่อสู้ คือ การสร้างการเรียนรู้ การตื่นรู้ รู้เท่าทัน การทำงานของเครือข่ายทำให้เกิดเพชรเม็ดงามหลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่น การนำพี่น้องชาวบ้านจากการที่ไม่รู้เท่าทัน จากที่ไม่มีความรู้เรื่องการพูดคุย การต่อรอง จนทำให้รู้เท่าทันกับกลโกง ที่เป็นกลไก กลยุทธ์ในการช่วงชิง ชาวบ้านก็สามารถที่จะสร้างการเรียนรู้ พัฒนาขีดความสามารถทั้งคนที่เป็นผู้นำทางการ กลุ่มสตรี รวมทั้งผู้นำแบบธรรมชาติได้มาก และนี่เป็นผลประโยชน์จากการเป็นอานิสงส์ของการต่อสู้ เป็นดอกผลและผลผลิตของการต่อสู้ ท่านได้หนุนเสริมชาวบ้านอย่างไรบ้าง? ในเรื่องของการหนุนเสริม อาตมาก็ได้ทำมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ หรือแม้แต่การที่มีทุน แหล่งทุน ที่เป็นทางให้เครือข่ายได้ร่วมกันทำ เราก็เรียกกันมาพูดคุยกัน ในขณะเดียวกันเอง อาตมาก็คิดว่าในส่วนของการให้กำลังใจ โดยเฉพาะการทำงานเราก็ให้กำลังใจกันมาโดยตลอด แต่ส่วนที่คนข้างนอกที่มีแนวความคิด อุดมการณ์ร่วมกัน บางทีเห็นว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งที่ขาด ก็อาจจะเข้ามาเติมเต็ม ต่อเติม และอาตมาคิดว่าอาจจะเป็นเรื่องของการให้ความสมบูรณ์อย่างมาก อย่างกรณีปัญหา การแย่งชิงมวลชนของ กฟผ. เพื่อทำลายหรือล้มแกนนำในการเคลื่อนไหวในขณะนี้ ท่านมองว่า จะบั่นทอนกำลัง บั่นทอนจิตใจของชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่ แน่นอน นี่เป็นกลยุทธ์หนึ่งของการที่จะช่วงชิง ดึง ล่อลวง และดึงคนของเราหรือแกนนำ ให้ไปเป็นแนวร่วมของฝ่ายตรงกันข้าม แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ก็จะมีเรื่องของระเบียบของสังคมและชุมชนเองว่า ใครที่ปลีกตัวออกไป ในส่วนที่ว่าเห็นแก่ทุน เห็นแก่เงิน และผลประโยชน์อันเล็กน้อยก็มักที่จะได้รับการตอบแทน และถูกลงโทษทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีคนร่วมกิน รวมตาน ไม่ให้ความร่วมมือ หรือแม้กระทั่งการลงโทษทางสังคม ในมาตรการอื่นๆ ซึ่งอาตมาก็คิดว่า ใครที่คิดจะออกหรือปลีกไป หลายครั้งหลายบทเรียน ที่ออกไปอย่างนี้ และมีการประสบเหตุที่ไม่พึงปรารถนาก็มีมาก และเป็นธรรมะเป็นตัวอย่างให้กับหลายคนได้เห็นและได้เป็นที่ประจักษ์ ท่านมองโครงการใหญ่ของรัฐ ที่มักมาจากข้างบนลงล่างนั้น ท่านมีมุมมองอย่างไร โครงการพัฒนาของรัฐ จากข้างบนลงมา ถึงแม้ประเด็นจะมีเรื่องของการรับฟังความคิดเห็น หัวข้อ กลไก ที่จะให้มีการมีส่วนรวม ในแนวทางการปฏิบัติไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้ เช่น เราจะเห็นเวทีประชาคม การมีส่วนร่วม การร่วมตัดสินใจ การทำประชาวิจารณ์ ก็เป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่ทำให้เกิดความสมบูรณ์ในกฎระเบียบ กติกา เพียงอย่างเดียว แต่ว่าโดยสามัญสำนึกหรือว่าความจริงใจของคนที่ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง ก็ไม่สามารถที่จะส่งผลให้ชาวบ้านให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่มีความจริงใจกับชาวบ้าน นี่ก็เป็นอันหนึ่งที่เป็นเหตุแห่งความล้มเหลวของโครงการัฐหลายๆโครงการ ดังนี้ คือ 1.การมีส่วนร่วมเทียม ไม่ใช่การมีส่วนร่วมแท้ 2.ไม่ได้สนองต่อชุมชนและชาวบ้าน แต่เป็นการสนองต่อนโยบายของรัฐ การสนองต่อกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์ และ 3. ก็จะเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคม ที่เป็นรากเหง้าแห่งปัญหา ท่านอยากสื่อแนวคิดมุมมองไปยังเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐได้มองเห็นและเข้าใจชาวบ้านอย่างไรบ้าง รัฐเองต้องมองชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมองชาวบ้านว่าเป็นพวกเรา วันใดที่คิดว่าเป็นคู่ต่อสู้ เป็นฝ่ายตรงกันข้าม เป็นฝ่ายที่คัดค้าน ไม่เป็นเรื่องราว มองการทำงานของภาคประชาชน ภาคพลเมือง เป็นแง่ของการต่อสู้ที่ไม่เห็นผล ในแง่ของการต่อสู้ และยังมีการปฏิเสธความงามของชาวบ้าน อาตมาเข้าใจว่า วันนี้รัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ปฏิบัติ ต้องเข้าใจและเรียนรู้ จริงใจกับชาวบ้าน ชุมชน กับคนในพื้นที่ให้มากกว่านี้ ด้วยความจริงจังและจริงใจ. * * * * ที่มา : สำนักข่าวประชาธรรม ข้อมูลประกอบ สำนักข่าวประชาธรรม หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ประชาไท เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือตอนบน สถาบันพัฒนาท้องถิ่น เอกสารประกอบโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง กฟผ. โครงการสิทธิชุมชนศึกษา กรณีลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน หนังสือ เวียงแหง: เมืองชายแดนประวัติศาสตร์ กับบทเรียนปัญหา การต่อสู้ การเคลื่อนไหว ทิศทางการขับเคลื่อน เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net