Skip to main content
sharethis

(3 พ.ค. 2554)จาการ์ตา - คณะทำงานอาเซียนภาคประชาชนร่วมกับไทย-อาเซียนวอทซ์ เปิดเวทีรับฟังสาธารณะ ‘ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ’ กับสิทธิมนุษยชนในอาเซียนขึ้น ที่มูลนิธิกฎหมายเพื่อความยุติธรรมกลางเมืองจาการ์ตา อินโดนีเซีย โดยมีตัวแทนภาคประชาชนทั้งจากชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนจาก 7 ประเทศเข้าร่วมราว 80 คน ตัวแทนจากกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า และไทย นำเสนอ 8 กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ โดยชี้ให้เห็นว่าการประกอบธุรกิจของบริษัทเอกชนในภูมิภาคอาเซียนกระทบโดยตรงต่อประชาชน โดยก่อให้เกิดการทำลายทั้งด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของชุมชน ซึ่งหลายกรณีมีผู้เสียชีวิตหรือได้รับความเจ็บป่วยและทุพพลภาพตามมา ทั้งนี้ตัวแทนจากประเทศไทยนำเสนอกรณีการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวที่กำลังดำเนินการโดยบริษัท ช.การช่าง จากประเทศไทย โดยชี้ว่ากรณีดังกล่าวจะทำให้ประชาชนเหนือเขื่อนในลาวต้องเผชิญกับปัญหาการไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 2,100 คน ส่วนประชาชนทั้งสองประเทศที่อยู่ในพื้นที่ใต้เขื่อนจะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่ถูกกักเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและไม่ไหลลงมาตามธรรมชาติซึ่งส่งผลทำลายวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยน้ำโขงในการดำรงชีพและทำมาหากินนับตั้งแต่ไซยะบุรีในลาว ผ่าน อ.เชียงคาน จนถึง จ.หนองคาย ระยะทางรวมแล้วกว่า 300 กิโลเมตร กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการประมินความต้องการด้านพลังงานจากรัฐบาลไทย และถูกเสนอผ่านแผนดำเนินการของคณะกรรมการนโยบายแผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เป็นผู้เตรียมลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากประเทศลาว แม้ว่าโครงการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนจัดทำสัญญากับบริษัทเอกชนในไทยที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในลาว แต่ปัจจุบันการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีได้เดินหน้าไปแล้วบางส่วน จึงสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทเอกชนไทยที่เข้าไปลงทุนดังกล่าวยังขาดความรับผิดชอบในการดำเนินการทางธุรกิจ เนื่องจากไม่คำนึงถึงสิทธิของชุมชนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั้งในประเทศแม่และประเทศที่เข้าไปแสวงหากำไร ด้านอินโดนีเซีย มีกรณีการอนุญาตให้บริษัทเอกชนจากออสเตรเลียเข้าทำเหมืองแร่ในเกาะมาลุกุทางตอนเหนือของจาการ์ตา ส่งผลให้ประชาชนได้รับสารพิษจากกระบวนการขุดแร่ มีอาการเจ็บป่วยเช่นเดียวกับโรคมินามาตะ ซ้ำยังมีการคุกคามให้ยุติการเคลื่อนไหวและใช้กำลังทหารจนมีประชาชนบางรายเสียชีวิต และกรณีที่ไม่ต่างไปจากนี้เกิดขึ้นกับบริษัทขุดแร่ในพื้นที่นิวมอน ส่วนกรณีที่โซพุตันมีการระเบิดของท่อนำก๊าซที่ฝังอยู่ใต้ดินกว่า 350 ฟุต ส่งผลให้ดินโคลนไหลทับบ้านเรือนกว่า 400 หลังคาเรือน ผู้คนต้องอพยพหนีเอาตัวรอดโดยไม่ได้รับการเหลียวแลจากบริษัทที่เข้าไปดำเนินการตลอดจนรัฐบาลอินโดนีเซียเอง อีกทั้งแผนการวางท่อก๊าซในพม่าซึ่งจะวางท่อในทะเลพม่าและพาดผ่านด้านตะวันตกและตัดขึ้นแถบภาคเหนือไปสู่จีนเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร จะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับชนกลุ่มน้อยเพิ่มมากขึ้น ส่วนกรณีของกัมพูชามีการให้สัมปทานพื้นที่ในเกาะกง เพื่อปลูกอ้อยผลิตน้ำตาล โดยบริษัทจากประเทศไทยเข้าไปร่วมหุ้นกับนักการเมืองกัมพูชา เมื่อประชาชนออกมาคัดค้านกลับถูกดำเนินคดีตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ในมาเลเซียยังมีการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวเพื่อแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ท้ายสุดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียนเสนอให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอาเซียน (AICHR) หรือไอชาร์ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในอาเซียน มีภารกิจและบทบาทในการศึกษา ให้ความเห็น ตลอดจนกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาให้ได้อย่างแท้จริง เพื่อให้การประกอบการทางธุรกิจของบริษัทเอกชนในภูมิภาคอาเซียนมีการดำเนินการทางธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนในทุกประเทศมากกว่านี้.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net