Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตามข่าวที่แผยแพร่ไปทั่วโลกว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกานายบารัก โอบามา กำกับดูแลการลงโทษประหารชีวิตตามคำสั่งศาลโดยไม่รู้ว่าศาล (เตี้ย)ได้พิจารณาคดีนี้ที่แห่งหนใด เป็นเหตุให้จำเลยของสหรัฐอเมริกาและของโลกนายโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัล กออิดะห์ เสียชีวิตพร้อมบุคคลอื่นไม่ทราบจำนวน และการปฏิบัติการครั้งนี้ถูกนับว่าเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของอเมริกาและคนทั้งโลก และนายโอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกายังกล่าวสำทับอีกว่า “And on nights like this one, we can say to those families who have lost loved ones to al Qaeda's terror: Justice has been done” ในคืนอย่างเช่นคืนนี้ (คืนที่โอบามาประกาศทางโทรทัศน์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายบิน ลาดิน) เราพูดกับครอบครัวของผู้สูญเสียจากการก่อการร้ายของอัลกออิดะห์ได้แล้วว่าเราได้รับความยุติธรรมแล้ว” เหตุการณ์บันลือโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 นำโดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปีพ.ศ.2552ยังไม่ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมหรือเกินกว่าเหตุของปฏิบัติการดังกล่าว และขัดแย้งกับหลักการสิทธิมนุษยชนและสันติภาพหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR ข้อ 3) ว่าด้วยการห้ามกระทำการนอกเหนือขอบเขตของกฎหมาย การกระทำการโดยรวบรัด หรือโดยปราศจากเหตุผล ห้ามการฆ่านอกระบบกฎหมายและการทำให้เสียชีวิตโดยพลการ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่หวาดกลัวภัยการก่อการร้ายในปัจจุบัน คำถามที่อ้างอิงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและสันติภาพกับการจับตายนายโอซามา บินลาเดน ว่า เป็นการกระทำนอกขอบเขตกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายใดๆ ตามสมควรหรือไม่ เป็นผลของการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด หรือคำสั่งหนึ่งคำสั่งใด โดยเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำจากฝ่ายรัฐ หรือโดยการกระทำของบุคคลอื่นใดโดยการสมรู้ การเปิดโอกาสให้ช่วยเหลือ หรือความยินยอมของฝ่ายรัฐ และเป็นการฆ่าสังหารโดยปราศจากเหตุผลปรากฏขึ้นด้วยเมื่อมีการใช้บทลงโทษประหารชีวิตหรือไม่ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินคดีอย่างรวบรัดที่ถูกนำมาใช้ที่มีหลักประกันความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คำถามเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากบางมุมโลกอย่างเงียบๆ และไม่อาจต้านทานต่อกระแสต่อต้านการก่อการร้ายโลกได้ ตราบใดที่วัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพของผู้คนยังไม่เข้มแข็งพอ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นให้เห็นความอ่อนแอของวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างมีนัยสำคัญคงเป็นเรื่องการฝัง (ทิ้ง) ศพนายโอซามา บินลาเดนในทะเลเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ยังนิยมชมชอบสามารถแสดงความเคารพศพได้ถ้าเป็นการฝังศพของผู้เสียชีวิตชาวมุสลิมทั่วไป และยังสะท้อนให้เห็นความหวาดกลัวและหวาดระแวงอย่างขาดสติของประเทศผู้นำของโลกอีกด้วย ซึ่งเป็นการขัดต่อจารีตประเพณีที่พึ่งปฏิบัติศพและต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตควรมีอำนาจในการตัดสินใจแม้จะเป็นศพของผู้ร้ายเบอร์หนึ่งของโลกก็ตาม นอกจากนี้หากเราได้ใช้สติพิจารณาทบทวนดูจะพบว่าการกระทำดังกล่าวยังขัดมนุษยธรรมและมโนสำนึกของสังคมอีกด้วย แต่ท่ามกลางกระแสข้อมูลของสื่อทั่วโลกรวมทั้งสื่อไทยที่นำข่าวดังนี้มาเผยแพร่ต่อยังคงเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียวของบุคคลที่ถูกลอบสังหาร ด้วยการกล่าวหาด้วยข้อมูลที่ผู้ตายไม่มีโอกาสแก้ตัว แก้ข่าว หรือออกเวปไซด์ facebook แถลงแก้ข่าว ไม่แตกต่างจากข่าวของประเทศไทยหลังการวิสามัญฆาตกรรมผู้ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติดหรือผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบที่มีหมายจับ ที่มักจะมีข่าวลับงานการข่าวออกมาเปิดเผยความผิดโดยคนตายไม่มีสิทธิแก้ต่าง และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตั้งคำถามและคิดทบทวนต่อเหตการณ์แต่อย่างใด ผู้เขียนเพิ่งได้รับหนังสือ พลังแห่งสันติวิธี การยุติปัญหาความขัดแย้งในรอบศตวรรษ แปลมาจาก A Force More Powerful : A Century of Nonviolent Conflict โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือเล่มหนา 865 หน้าอย่างใจจดใจจ่อเพื่อศึกษาถึงแนวทางสันติวิธีท่ามกลางความขัดแย้งรอบตัว ผู้เขียนมีความเห็นอกเห็นใจต่อเหยื่อของการก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบทุกผู้ทุกนาม แต่การปฏิบัติการจับตายตามคำสั่งศาลเตี้ยระดับโลกครั้งนี้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสื่อและประชาชนโดยทั่วไปจะถูกสื่อพาไปนั้น ทำให้เชื่อไปแล้วว่าโลกในศตวรรษนี้ได้หมดหวังกับพลังแห่งสันติวิธีและวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนแล้วกระนั้นหรือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net