Skip to main content
sharethis

6 พ.ค. 54 - สวนดุสิตโพลล์เผยความคิดเห็นจากประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กรณีการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 1,343 คน ระหว่างวันที่ 1-5 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 42.75% คิดว่าควรให้โอกาสพรรคที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ส่วนอีก 37.02% คิดว่าควรให้โอกาสพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต รวมกับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ(ปาร์ตี้ลิสต์) แต่อีก 20.23% คิดว่าควรให้โอกาสพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ส.ส.เขต แต่ไม่รวมกับจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ประชาชน 56.02% คิดว่าพรรคที่ไม่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หากสามารถรวบรวมเสียงได้จำนวนมาก, ผลประโยชน์ลงตัว, รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้ ฯลฯ แต่อีก 43.98% คิดว่าพรรคที่ไม่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะยังไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งตามมารยาททางการเมืองพรรคที่มีคะแนนเสียงข้างมากย่อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ฯลฯ ขณะที่ประชาชน 53.69% เห็นว่าหัวหน้าพรรคซึ่งไม่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หากเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีฝีมือ และได้รับการยอมรับจาก ส.ส.หรือพรรคร่วมรัฐบาล ฯลฯ แต่อีก 46.31% เห็นตรงกันข้าม เพราะไม่ได้รับคะแนนเสียงจากความต้องการที่แท้จริงของประชาชน อาจเกิดปัญหาตามมาภายหลัง ฯลฯ สำหรับคุณสมบัติของรัฐบาลใหม่ที่ประชาชนต้องการนั้น 52.08% อยากให้มีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันในการบริหารและพัฒนาประเทศ, 29.84% อยากให้มีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ยุติธรรม มีคุณธรรม จริยธรรมทางการเมือง และ 18.08% อยากให้ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถหลายด้าน เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนต้องการนั้น ประชาชน 45.10% อยากได้คนที่ซื่อสัตย์ สุจริต บริหารงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน, 34.57% อยากได้คนเป็นผู้นำ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล กล้าคิดกล้าตัดสินใจ พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับต่างประเทศ และ 20.33% อยากได้คนที่ทำตามนโยบายที่ประกาศหรือสัญญาไว้กับประชาชนในช่วงที่หาเสียง รักษาคำพูด ส่วนความวิตกกังวลของประชาชนที่มีต่อการจัดตั้งรัฐบาลหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งนั้น 46.04% ห่วงปัญหาการไม่ยอมรับกับผลที่ออกมา การชุมนุม การประท้วง ก่อเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง, 30.12% ห่วงการบริหารงานของรัฐบาลที่จะต้องรับมือ แก้ปัญหากับวิกฤติหลายด้านของประเทศ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ และ 23.84% ห่วงการปฏิบัติตัวและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักการเมือง การทะเลาะเบาะแว้ง แย่งชิงผลประโยชน์ และความเห็นต่อกรณีที่พรรคการเมืองแย่งกันจัดตั้งรัฐบาลนั้น 33.41% ระบุว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกพรรคการเมืองอยากเป็นรัฐบาล, 27.69% ระบุว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ การแสวงหาอำนาจ และการชิงไหวชิงพริบทางการเมือง, 23.17% ระบุว่ารู้สึกเบื่อ นักการเมืองแตกแยก ไม่สามัคคีกัน ประชาชนไม่กล้าฝากความหวังไว้กับนักการเมือง และ 15.73% ระบุว่าบรรยากาศการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้อาจดุเดือด เกิดการสลับขั้วทางการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net