Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวานชมรายการ ”เรื่องเด่นเย็นนี้” ที่สรยุทธ สุทัศนจินดาสัมภาษณ์ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุลเกี่ยวกับการเมืองไทยและการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น มีอยู่หลายครั้งที่ทั้งพิธีกรและวิทยากรพูดถึงอำนาจนอกระบบที่เข้ามาแทรกแซง ระบอบการเมืองไทย พูดถึงความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น มีอยู่ตอนหนึ่งที่วิทยากรพูดบอกว่า “ถ้าหากว่าเรามีความสามารถในการแข่งขันฟุตบอลกันตามกติกา ไม่ตีกัน แข่งบอลกันไปได้ กรรมการตัดสินก็ยอมรับ รปภ.จะมายุ่งได้ยังไง รปภ.ของสนามจะมายุติการแข่งขันได้ยังไง ที่ผ่านมารปภ.มายุ่งได้เพราะแข่งบอลกันไม่เป็น แข่งบอลกันไม่ได้ ทำนองเดียวกันรปภ.ก็อย่ามายุ่ง ให้เขาแข่งกันไปตามวิถีทางในประชาธิปไตย” หมายถึงว่าถ้านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเอง ตามกติกาที่มีอยู่ได้ ก็จะเปิดโอกาสให้ “รปภ.” หรืออำนาจนอกระบบนั้นเข้ามาแทรกแซงได้ อย่างการทำรัฐประหาร หรือการแทรกแซงผ่านระบบศาลก็ดี เลยสะกิดใจทำให้นึกถึงการสนทนาที่มีกับเจ้าหน้าที่สถานทูตจากประชาคมยุโรป สามประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการพูดคุยฝ่ายเราประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่ม นปช.หลายคน รวมทั้งนักวิชาการและนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในแนวทางของคนเสื้อแดง แกนนำ นปช.และผมพูดระหว่างการสนทนาหลายครั้งถึงการแทรกแซงของอำนาจนอกระบบ โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่ทูตถามว่าถ้าในการเลือกตั้งครั้งนี้ผลออกมาเป็น อย่างไร กลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช.จะยอมรับผลนั้นหรือไม่ และถ้าพรรคของคนเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นเสียง ส่วนใหญ่ พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ คำตอบของแกนนำ นปช. ก็คล้ายกับที่ผมคิดในใจ จากประสบการณ์การเมืองที่ผ่านมา มันช่างหาความแน่นอนอะไรไม่ได้ มีการแทรกแซงจากสิ่งที่เราเรียกว่า “อำนาจนอกระบบ” ก็ดีหรือที่เรียกกันติดปากว่า “ระบอบอำมาตย์” จนทำให้กระบวนการที่เราคิดว่าเป็นประชาธิปไตยต้องสะดุดหยุดลง ตัวอย่างที่เราอ้างถึงในวันนั้นก็คือการที่รัฐบาลชุดปัจจุบันนั้นมาจากการกด ดันของฝ่ายอำนาจเก่าและทหาร หรือที่เรามักล้อกันว่าเป็นรัฐบาลที่จัดตั้งกันในค่ายทหารนั่นแหละ หลังจากที่ฟังความเห็นเช่นนี้หลายครั้ง ตัวแทนการทูตจากประชาคมยุโรปในวันนั้นบอกว่าตนเองติดตามสถานการณ์เมืองไทย และเห็นการแทรกแซงเช่นนี้มาตลอด แต่คำถามก็คือว่า “ทำไมนักการเมืองของพรรคเพื่อไทย และนักการเมืองพรรคอื่น ๆ ปล่อยให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงได้แบบนี้” เขายังตั้งคำถามต่อไปว่า “จริง ๆ แล้วทหารเอาปืนมาจี้หัวให้นักการเมืองทำตามคำสั่งพวกเขาหรือ จริง ๆ แล้วทหารขู่ที่จะฆ่าครอบครัวนักการเมืองหรือ ทำไมนักการเมืองหรือสส.เหล่านั้นจึงไม่ขัดขืนคำสั่งของอำนาจนอกระบบเหล่า นี้” เมื่อฟังครั้งแรกผมรู้สึกเป็นคำถามที่ไร้เดียงสามาก เพราะเราก็รู้อยู่ว่าอำนาจนอกระบบนั้นมีอิทธิพลมากเพียงใด แต่เมื่อมาฟังที่อาจารย์ปริญญาให้สัมภาษณ์สรยุทธเมื่อวาน และพูดถึงบทบาทของ “รปภ.” ก็อดนึกย้อนหลังไปไม่ได้ว่าสิ่งที่นักการทูตถามและท้าทายก็ดูจะมีความจริง อยู่มาก คำถามของเขาเป็นการท้าทายว่า \แล้วที่ผ่านมานักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลาย ทำหน้าที่อะไรบ้างเพื่อต่อต้าน “อำนาจนอกระบบ” หรือ “ระบอบอำมาตย์” ที่ว่า พวกเขาได้ใช้อำนาจของตนในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนเพื่อออกมาคัดค้านหรือถ่วงดุล การแทรกแซงอำนาจเหล่านี้อย่างไรบ้าง\" เมื่อมองย้อนกลับไป กลับรู้สึกไม่ได้ว่า สิ่งที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย หรือพรรคใหญ่อื่น ๆ คาดหวังออกจะเป็นการผลักดันให้กลุ่มคนทั่วไป หรือกลุ่มคนเสื้อแดงหรือนปช.ออกมาเคลื่อนไหวตามท้องถนน เพื่อต่อต้าน “อำนาจนอกระบบ” เช่นนั้นมากกว่า และนำไปสู่การสูญเสียต่างกรรมต่างวาระกัน นำไปสู่การสูญสิ้นซึ่งอิสรภาพ ดังจะเห็นได้จากการจองจำผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยข้อหาที่ไม่เป็นสัดส่วนเหมาะสม น่าสนใจว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเองเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า “ยุทธศาสตร์สองขา” ที่อ้างว่าแยกการเคลื่อนไหวระหว่างพรรคการเมืองออกจากขบวนการคนเสื้อแดงนั้น อันที่จริงอาจเป็นแค่การตีฝีปาก หมายถึงว่าถ้ามีเรื่องอะไรร้าย ๆ ถ้ามีเรื่องอะไรที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของชีวิต ของทรัพย์สิน และที่สำคัญคือที่เสี่ยงต่อการสูญสิ้นอิสรภาพ นักการเมืองก็จะให้ประชาชนคนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหว ส่วนตนเองรอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเลือกตั้งทุกสี่ปี โดยการแสดงบทบาทในฐานะที่เป็นนักการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ก็แทบจะไม่เป็นชิ้นเป็นอันเอาเลย กลุ่มคนเสื้อแดงเคยตั้งคำถามเหล่านี้หรือไม่ คำถามอีกข้อที่สะกิดใจจากนักการทูตที่มาจากภาคพื้นที่มีระบอบประชาธิปไตยแบบ เลือกตั้งเข้มแข็งกว่าคือ เขาถามว่าในเมื่อแกนนำเสื้อแดงเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง ในเมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงก็มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองอย่างเช่น พรรคเพื่อไทยค่อนข้างชัดเจน ทำไมแกนนำเสื้อแดง อย่างเช่นแกนนำในระดับจังหวัดที่คุยด้วยในวันนั้น จึงไม่ลงเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้แทนทั้งในระดับท้องถิ่นหรือในระดับชาติ เพื่อพยายามผลักดันและพัฒนาให้ระบอบการเมืองแบบตัวแทนเข้มแข็งยิ่งขึ้น เป็นการส่งเสริมการต่อสู้กันในระบบ เช่นกัน ในวันนั้นผมรู้สึกเป็นคำถามที่ธรรมดาสามัญมาก แต่ในวันนี้อดรู้สึกไม่ได้ว่ามีความจริงอยู่มาก ถ้าคนเสื้อแดงต้องการต่อสู้เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งอย่าง จริงจัง ทางเลือกของการเคลื่อนไหวที่สำคัญก็คงรวมถึงการขับเคลื่อนให้ระบบตัวแทนที่ เป็นอยู่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าพวกเขาไม่ลงมาเป็นตัวแทนปวงชนเองเสียแล้ว ก็คงจะต้องไปกดดันตัวแทนที่พวกเขาเลือกเข้ามาเพื่อให้แสดงบทบาทต่อสู้ขับ เคลื่อนอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน คงไม่ใช่ปล่อยให้เกิดลักษณะการขับเคลื่อนแบบ “สองขา” ที่ฝ่ายหนึ่งได้เป็นส่วนใหญ่ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเสียเป็นส่วนใหญ่เช่นกัน ตั้งคำถามแบบนี้ คนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจะโกรธหรือไม่ 7 พฤษภาคม 2554 จากบทความเดิมชื่อ: ถ้านักฟุตบอลในสนามเล่นห่วย รปภ.ก็จะเข้ามาควบคุมเอง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net