วีรพงษ์ รามางกูร:ประเพณีการปฏิวัติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 21 เมษายนนี้ ประมาณ 17.00 น. ได้รับโทรศัพท์จากพรรคพวกว่า มีข่าวลือการปฏิวัติแพร่สะพัดไปทั่วกรุงเทพฯ มีเพื่อนฝูงจากต่างจังหวัดโทรศัพท์มาบอกว่ามีปฏิวัติแล้ว เพราะโทรทัศน์ทุกช่องจอดำมืดเพื่อรอแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของคณะปฏิวัติ เหมือนกับโทรทัศน์ทุกช่องหยุดรายการปกติ เปิดเพลงมาร์ชรอแถลงการณ์ คณะปฏิวัติอย่างวันที่ 19 ก.ย. 2549 ดีว่าตลาดหุ้นปิดทำการซื้อขายแล้ว มิฉะนั้นราคาหุ้นคงจะตกระเนระนาด ต่อมาก็มีข่าวว่ารัฐบาลได้ออกมาแถลงชี้แจงว่า ที่โทรทัศน์ทุกช่องล่มเป็นเพราะดาวเทียมไทยคม 5 ขัดข้อง รับส่งสัญญาณไม่ได้ แต่ผู้คนก็ยังไม่ยอมเชื่อ ทำไมคนไทยจึงขวัญอ่อน และระแวงว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกแล้ว ถ้าเป็นประเทศอื่นข่าวลือเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น ที่คนไทยเส้นกระตุกขวัญอ่อนกับข่าวปฏิวัติรัฐประหาร ก็เพราะทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนชั้นไหน ชั้นสูง ชั้นกลาง หรือชั้นล่าง ต่างตระหนักดีว่าปฏิวัติรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เสมอสำหรับประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงระดับของการพัฒนาการเมืองของประเทศไทย และระดับจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชนคนไทย ดูจะเป็นความรู้สึก เฉย ๆ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในระดับสูงและระดับกลางในเมืองไม่เกี่ยวกับระดับการ ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย วิทยาลัยในประเทศหรือต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทวีปยุโรปตะวันตก หรือทวีปอเมริกาเหนือ ไม่รู้สึกหวงแหนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของตน เพียงแค่ขวัญอ่อนและเส้นกระตุกเท่านั้น ระดับฐานะทางเศรษฐกิจก็ดี ระดับการศึกษา เป็นคนในเมืองหรือชนบท (ความจริงวิถีชีวิตแบบชนบทในประเทศไทยเกือบจะไม่มีแล้ว ถ้ามีก็คงไม่มาก) ดูจะไม่มีความสัมพันธ์ ไม่มีจิตสำนึกในเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและระบอบการปกครองประชาธิปไตย สังเกตได้จากหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนปกติจะสะท้อนความคิดเห็นของผู้อ่าน ก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนต่อข่าวการปฏิวัติรัฐประหาร ที่คนเชื่อข่าวลือ เมื่อโทรทัศน์ทุกช่องดับดำมืด ก็เพราะการปฏิวัติรัฐประหารนั้นมีแบบแผนของการปูทางไปสู่การสร้างกระแสเพื่อ สร้างความชอบธรรม การทำปฏิวัติไม่ว่าจะเป็นการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2524 การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2534 วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 วันที่ 16 กันยายน 2519 หรือวันที่ 19 กันยายน 2549 ขั้นแรกก็จะมีการสร้างกระแสโดยใช้สื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ บางครั้งก็มีใบปลิวข่าวลือโจมตีรัฐบาล 3-4 ประเด็น ประเด็นแรก คอร์รัปชั่น หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง ประเด็นที่สอง ระบอบรัฐสภาของเราไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาจากการซื้อเสียง ประเด็นที่สาม มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นภัยต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเด็นสุดท้าย ไร้ประสิทธิภาพ เศรษฐกิจล้มละลาย ปล่อยให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง โจรผู้ร้ายชุกชุม ถ้าเป็นสมัยก่อนก็มีเรื่องภัยจากคอมมิวนิสต์แถมเข้าไปด้วย ตอนนี้ภัยจากคอมมิวนิสต์ไม่มีแล้วจึงตัดออก ประเด็นคลาสสิกทั้ง 4 นี้ใช้ได้เสมอ โดยความยินยอมพร้อมใจของหนังสือ พิมพ์ คอลัมนิสต์ ผู้วิจารณ์ข่าวทางวิทยุและโทรทัศน์ โดยใช้จุดอ่อนของสังคมไทยที่ไม่มีค่านิยมทางการเมืองแบบเสรีนิยม ไม่มีค่านิยมทางประชาธิปไตย และค่านิยมในเรื่องสังคมพลเรือน หรือ civil society และการไม่หวงแหนสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง ฟังและพร้อมจะเชื่อแต่เรื่องจริงครึ่งหนึ่งเท็จครึ่งหนึ่ง บางทีหรือเกือบทุกเรื่องเป็นเรื่องเท็จที่สร้างขึ้นเพราะเกลียดรัฐบาล สำหรับประเด็นแรกเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น การฉ้อราษฎร์บังหลวง สำหรับการปกครองของไทยนั้นเป็นความจริงของชีวิตไปแล้ว ยกขึ้นมาโจมตีรัฐบาลและระบบราชการได้เสมอ พูดเมื่อไหร่ก็จริงและคนก็เชื่อเมื่อนั้น เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่นสำหรับสังคมไทยมีอยู่ตลอดกาล คนไทยไม่เคยรังเกียจ แม้จะไปไหว้พระ ไหว้เจ้า ทำกงเต๊กก็ดี เนื้อหาในการติดสินบนเทพยดา เซียน หรือแม้แต่ผีสางก็ทำกันอยู่แล้ว พอจะติดสินบนผู้มีอำนาจวาสนาจะเป็นเรื่องผิดปกติได้อย่างใด แต่ก็ไม่ชอบและเกลียดชัง เมื่อจะทำการปฏิวัติก็สร้างกระแสความเกลียดชัง การทุจริตคอร์รัปชั่น ขึ้นมาทันที แล้วก็ใช้ได้ผล มีทั้งเรื่องจริง เรื่องกึ่งความจริง และเรื่องเท็จ แต่เมื่อมีการปฏิวัติแล้วก็ไม่ได้สนใจบีบบังคับให้คณะปฏิวัติหรือรัฐบาลของ คณะปฏิวัติสืบสวนสอบสวนให้ได้ความจริง ประชาชนหรือสื่อมวลชนก็ไม่ว่าอะไร ไม่เคยสืบสวนว่าคำกล่าวหานั้นจริงหรือเท็จจึงไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชอบหรือถูกลงโทษ เลยตามเลยเพราะเป็นความจริงของชีวิต ประเด็นที่สองก็คือ การทำลายความชอบธรรมของสภาผู้แทนราษฎรในฐานะของการเป็นผู้แทนของปวงชน โดยใช้ประเด็นว่าผู้แทนราษฎรได้มาจากการซื้อเสียง ประเด็นนี้ก็ใช้ได้เสมอ เพราะ ผู้ออกเสียงเลือกตั้งของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตนอกเมืองหรือในเขตชุมชน ระดับล่าง การอำนวยความสะดวก เช่น การจัดรถรับส่ง การออก ค่ารถ ค่าเดินทาง หรือการให้เงินเป็นสินน้ำใจนั้น ผู้คนในระดับนี้ถือว่าเป็นการแสดงน้ำใจ ถ้าไม่มีติดปลายนวมบ้างก็ถือว่าแล้งน้ำใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าจ่ายเงินซื้อเสียงแล้วจะได้รับการเลือกตั้ง จะต้องเป็นผู้ที่เขาจะเลือกอยู่แล้วด้วยเหตุผล 3 อย่าง คือดูแลผู้มีสิทธิออกเสียงมาโดยตลอดอย่างหนึ่ง หาโครงการเข้ามาในเขตเลือกตั้งของตนอย่างหนึ่ง และขณะนี้ก็คือกระแสความนิยมพรรคนั้นอีกหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ก็เป็นการขับเคลื่อนระหว่างพรรคใหญ่ 2 พรรค ในภูมิภาคต่าง ๆ และในกรุงเทพฯ สำหรับ ประเด็นที่สาม เรื่องปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการกระทำที่เป็นภัยต่อการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เกือบทุกครั้งก็จะมีประเด็นนี้ จะหนักบ้างเบาบ้างก็แล้วแต่สถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือจะเป็นการสร้างสถานการณ์ของแนวร่วมมุมกลับก็สุดจะเดาได้ แต่ก็เป็น ประเด็นที่สร้างกระแสทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและรัฐสภาได้ง่าย และทำกันอยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายอาญาบัญญัติให้เป็นความผิดและกำหนดโทษค่อนข้างหนักอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใจเย็นพอที่จะรอให้มีการดำเนินการตามขบวนการยุติธรรม จนถึงขั้นศาลทั้งสามระดับ แต่จะใช้เป็นเหตุผลในการสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร เพราะทราบดีว่าสำหรับคนไทยนั้น พระบรมเดชานุภาพผู้ใดจะละเมิดมิได้ ประเด็นสุดท้ายก็คือความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ ปล่อยให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ข้าวของขึ้นราคา เศรษฐกิจล้มละลาย ผู้คนตกงาน ไม่มีงานทำ สำหรับเรื่องเศรษฐกิจนี้ คนทั่วไปก็รู้ดีว่า อัตราเงินเฟ้อก็ดี ภาวะเศรษฐกิจก็ดี ขึ้นอยู่กับต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นภาวะที่เราควบคุมไม่ได้ ข้าวยากหมากแพงขึ้นก็เพราะเราส่งออกได้ดี ราคาข้าวในตลาดต่างประเทศมีราคาสูง ไม่ใช่เราผลิตไม่พอกิน ประเทศไทยผลิตอาหารเกินความต้องการเสมอ ส่วนหมากแพงก็คงหมายถึงของอุปโภคบริโภคอย่างอื่นมีราคาแพง เช่น น้ำมัน ก็ดี ไฟฟ้าก็ดี ข้าวของอย่างอื่นก็ดี ราคาสูงขึ้นก็เพราะราคาของพวกนี้มีราคาสูงขึ้นในตลาดต่างประเทศ แต่ก็สามารถนำมาใช้อธิบายความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลได้เสมอ คอมมิวนิสต์ก็เคยเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะนำมาอ้างถึงความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ได้ แต่เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนเป็นความมั่นคงในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน เพราะมีโจรผู้ร้ายชุกชุม รวมทั้งการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน กระแสชาตินิยมและความรักชาติด้านเดียว การปะทะกันด้วยกำลังทหาร อาจจะอ้างกรณีที่เป็นจริงที่เป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์มาช่วยเป็นเหตุผลประกอบได้ ในช่วงก่อนการปฏิวัติรัฐประหาร จริง ๆ ก็มักจะมีเหตุการณ์ 4-5 อย่างเกิดเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ แล้วก็นำไปขยายผลโดยนักวิเคราะห์ข่าว นักวิจารณ์การเมืองในรายการวิทยุต่าง ๆ ก็พอจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะรายการวิเคราะห์วิจารณ์ข่าวก็มักจะทำอยู่ตามสถานีวิทยุของทหาร ส่วนวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์หรือของเอกชนก็ดี จะเกรงกลัวรัฐบาลไม่ค่อยอยากยุ่ง สู้จัดรายการละครน้ำเน่าหาสตางค์จากค่าโฆษณาดีกว่า นอกจากได้รับการขอร้องขอความร่วมมือ ที่คนทั้งประเทศขวัญอ่อน เมื่อโทรทัศน์ภาพล่มหมดทั้งระบบ เพราะกระแสทั้ง 4 ประเด็นที่ใช้เป็นประเพณีก่อนการปฏิวัติ กำลังก่อตัวขึ้นต่อต้าน รัฐบาลประชาธิปัตย์อย่างรวดเร็วและรุนแรง บวกกับความล้มเหลวในการเจรจาแบบทวิภาคีกับกัมพูชา เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้มีการเจรจา เป็นการเจรจาแบบพหุภาคีในกรอบของอาเซียน ทางเราก็ไม่แน่ใจเพราะจุดหมายปลายทางไม่น่าจะเป็นเรื่องดินแดน น่าจะเป็นเรื่องการเมืองของทั้งสองฝ่าย แต่ก็ไม่มีใครทราบความจริง กระแสที่เกิดขึ้นเป็นกระแสที่พวกเราที่มีอายุและเคยได้ยินได้ฟังมาตลอดชีวิตจึง ขวัญอ่อน คอยฟังต่อไปเท่านั้นว่ากระแสจะจุดติดหรือไม่ สื่อมวลชนจะร่วมมือสร้างกระแสตามประเด็น 4-5 ประเด็นดังกล่าวหรือไม่เพียงใด จะยังไม่มีรัฐประหาร ถ้ากระแสต่อต้านรัฐบาลหรือต่อต้านขบวนการรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญยังไม่ขึ้นสูงจนสุกงอมพอ ในระหว่างนั้นถ้าหนังสือพิมพ์ไปถามผู้นำทหาร ผู้นำทหารก็จะออกมายืนยันว่าจะไม่มีปฏิวัติรัฐประหาร จอมพลสฤษดิ์ก็ปฏิเสธ โดยกล่าวว่าจะไม่ \วัดรอยเท้านาย\" พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ก็ปฏิเสธข่าวปฏิวัติ พล.อ. สุจินดาก็ออกมายืนยันว่าจะไม่มีปฏิวัติ ก่อน 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้นำเหล่าทัพพร้อมกับตำรวจก็ออกมานั่งแถลงปฏิเสธข่าวการปฏิวัติ การแสดงพลังทหารในที่ตั้งก็เป็นวิธีหนึ่งที่เป็นวัฒนธรรมที่ต้องทำก่อนการ ปฏิวัติ พล.อ.อาทิตย์ ก็เคยทำ พล.อ. สุจินดา ก็เคยทำ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ก็เคยทำ อาจจะทำเองหรือให้ลูกน้องทำก็ได้ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นการให้สัญญาณทั้งสิ้น และทุกครั้งที่มีการให้สัญญาณก็จะมีการปฏิวัติรัฐประหาร ทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง จะมาว่าพวกเราบ้าจี้ ขวัญอ่อน ก็ไม่ยุติธรรมนัก .................... ที่มา: คอลัมน์ คนเดินตรอก ในประชาชาติธุรกิจ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท