ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แก้ปัญหาที่ต้นเหตุหรือปลายเหตุ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน ของแต่ละปี เป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วที่มักจะได้ยินข่าวคราวของเด็กนักเรียนกับการสอบแข่งขันและความเครียดความกดดันจากการสอบเข้าเรียนในสถาบันการศึกษา โรงเรียนชั้นนำ ทั้งการสอบแข่งขัน O-net, A-net และ Gat-pat เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ยิ่งหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปอย่างที่หวัง เด็กเหล่านี้ต่างก็ตกอยู่ในภาวะเครียด ผิดหวัง เสียใจ และทำให้ตัดสินใจทำอะไรโดยไม่คิด อย่างที่เป็นข่าวคราวกันมาโดยตลอด ที่ไม่ใช่แค่เด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ความเครียดและการกดดันจากการแข่งขันในระบบการศึกษาไทย กำลังลุกลามไปที่ผู้ปกครองของเด็กๆ ด้วยเช่นกัน กล่าวได้ว่า ปัจจุบันเด็กนักเรียนทั้งในเมืองและชนบท ล้วนมีความทุกข์จากระบบการศึกษาไม่แตกต่างกัน เด็กๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องเรียนกับหนังสือตำรากองโต ความรู้ไกลตัว ไกลท้องถิ่น ตกเย็นก็ต่อด้วยการเรียนกวดวิชา เรียนพิเศษสารพัดสารพันอย่าง เรียนหนักติวเข้มกันตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ซ้ำร้ายสภาพแวดล้อมของสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ใช้ระบบแอดมิดชั่น ก็ส่งผลทำให้เด็กนักเรียนต้องวิ่งอาศัยความรู้จากโรงเรียนกวดวิชามากขึ้น โรงเรียนกวดวิชาผุดขึ้นราวดอกเห็ดและกิจการรุ่งเรือง ขยายสาขากันมากมาย แต่ท้ายที่สุดแล้วในแต่ละปีกลับยังพบว่ามีบัณฑิตจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงาน ขณะที่ชุมชนท้องถิ่นเต็มไปด้วยผู้เฒ่าผู้แก่ ส่วนคนหนุ่มสาวยังเฝ้าหางานในเมืองต่อไป ขณะที่ระบบการศึกษาไทยไม่สามารถตอบสนองสร้างเด็กเยาวชน คนรุ่นใหม่ได้ภายใต้โครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการของภาครัฐ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระบบการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นหรือพื้นที่ในเมืองหลายแห่งกลับมีการจัดการเรียนการสอนที่เป็นทางเลือกในการสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน ทั้งนี้ การศึกษาทางเลือกในประเทศไทย เริ่มเกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปีแล้ว ดังเช่นการเกิดขึ้นของโรงเรียนทางเลือกอย่าง โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนทอสี โรงเรียนมาตยกุล โรงเรียนสัตยาไส หรือ โรงเรียนสัมมาสิกขา(อโศก) และอื่นๆ อีกหลายแห่งในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบของการจัดการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โรงเรียนชาวนา โรงเรียนม่อนแสงดาว ศูนย์เพื่อลูกหญิง รวมทั้งการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน (Home School) เป็นต้น การริเริ่มดังกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อนการปฏิรูปการศึกษา ปี 2542 และเป็นที่มาส่วนหนึ่งของแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเยาวชนในสังคมไทยอย่างสมบูรณ์รอบด้าน ที่มิได้เน้นแต่วิชาการอย่างเดียว ซึ่งปรากฏเป็นรูปธรรมทั้งการระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2540 และในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2542 และมีโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งในชนบทที่มีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เกิดการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น เกิดกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีพ่อครู แม่ครู ปราชญ์ชาวบ้านมาสอนลูกสอนหลานในชุมชน หากแต่ ภายใต้นโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (2553-2561) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ตั้งเป้าว่าเมื่อสิ้นสุดการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 แล้ว จะส่งผลให้เกิดการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 7,000 โรง หรือ 50% ของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่ถึง 1.4 หมื่นโรงทั่วประเทศ โดย สพฐ. มีจุดมุ่งหมายในการยุบดังกล่าวเพื่อทำให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรและงบประมาณด้านการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องกระจายงบประมาณไปตามโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่เป็นหมื่นโรง ประกอบเหตุผลที่มีโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ เพราะต้องบริหารจัดการในภาวะขาดแคลนงบประมาณและบุคลากร การยุบจึงเป็นทางออกหนึ่งของสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน สพฐ. ก็ได้จัดทำโครงการโรงเรียนดีประจำตำบล ที่กำลังดำเนินการในปีการศึกษา 2553 จำนวน 182 แห่ง เพื่อให้แต่ละตำบลมีโรงเรียนดีอย่างน้อย 1 หรือ 2 โรงเรียน โรงเรียนดีประจำตำบล ด้วยเชื่อว่าจะเป็นพื้นที่รองรับเด็กจากโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบให้เข้ามาเรียนแทน และจัดสรรโยกย้ายข้าราชการในระดับตำแหน่งผู้บริหารของโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบ ให้มาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนร่วมในโรงเรียนดีประจำตำบล โดยใช้รูปแบบการบริหารโรงเรียนดีประจำตำบลที่มีผู้อำนวยการร่วมหลายคน แผนและทิศทางการยุบโรงเรียนขนาดเล็กและการเยียวยาต่างๆ ที่ถูกวางไว้ คาดหวังไว้ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงนั้น สะท้อนให้เห็นถึง การขาดความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญขั้นพื้นฐานของการจัดการเรียนรู้โดยชุมชน เนื่องจากการก่อตั้งโรงเรียนขนาดเล็กในท้องถิ่นแต่ละแห่งนั้นมิได้ตั้งขึ้นมาอย่างง่ายดาย แต่เกิดจากความเรียกร้องความต้องการของชุมชนท้องถิ่นจนมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในชุมชน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และในหลายพื้นที่ก็ยังพบว่าชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างโรงเรียน ทั้งช่วยกันหาไม้หาอุปกรณ์ต่างๆ มาช่วยกันก่อสร้างโรงเรียน ลงขัน ลงแรง ระดมความคิดเห็น และรวมทั้งในอีกหลายชุมชนก็ได้สนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนในท้องถิ่น มีกิจกรรมทั้งทางวัฒนธรรม ประเพณีที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชนมาโดยตลอด โดยหวังให้โรงเรียนเป็นที่ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ให้ลูกหลานได้มีปัญญา เก่งกล้าสามารถ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในอนาคต โดยไม่ละเลย หลงลืมรากเหง้า ภูมิปัญญาและตัวตนของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ดังกล่าวนี้เอง การดำเนินนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนั้นย่อมจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจัดการเรียนรู้ในระดับท้องถิ่น ส่งผลกระทบอย่างมากตามมาจากการที่เด็กต้องเดินทางไปเรียนไกลขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กที่พ่อแม่ ผู้ปกครองยังต้องไปรับไปส่งหรือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลานมากขึ้นจากรายจ่ายค่ารถรับส่ง ที่แม้ว่า สพฐ. เสนอจะให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเข้ามารับผิดชอบก็ตามที ฯลฯ ขณะเดียวกัน ผลกระทบที่สำคัญที่สุดที่ถูกละเลยมองข้ามคือผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากการชุมชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนได้ จะปฏิเสธได้หรือไม่ว่าการจัดการศึกษาให้แก่ลูกหลานไม่ใช่เรื่องสำคัญของชุมชน เพราะแท้จริงแล้วนี่คืออนาคตของชุมชน อนาคตที่ตกทอดสู่มือลูกหลาน ดังนั้นการดึงเด็กออกจากกระบวนการเรียนรู้วิถีของชุมชนท้องถิ่น ย่อมส่งผลกระทบอย่างแน่นอนต่อการสร้างการเรียนรู้คุณค่าของตัวเองและของชุมชน ซึ่งเป็นฐานความรู้ที่โรงเรียนขนาดใหญ่หรือโรงเรียนในเมืองไม่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงเช่นนี้ล้วนมีรูปธรรมดังปรากฏเป็นข่าวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ดังนั้น สภาการศึกษาทางเลือก ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของโรงเรียน สถาบัน องค์กร และกลุ่มการศึกษาทางเลือกอันหลากหลายทั่วประเทศ เครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ได้แก่ เครือข่ายการศึกษาทางเลือก เครือข่ายโรงเรียนไทยไท และเครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา ฯลฯ ในฐานะหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนผลักดันการปฏิรูปการศึกษาไทย จึงมีมติร่วมกันไม่เห็นด้วยต่อนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยเชื่อว่าไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและอาจซ้ำเติมให้ปัญหาของระบบการศึกษาไทยเลวร้ายมากยิ่งขึ้น สภาการศึกษาทางเลือก ขอเรียกร้องและมีข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้ พิจารณายุตินโยบายการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เสนอให้เกิดกระบวนการจัดเวทีประชาคม โรงเรียน สำนักงานเขตการศึกษา ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคี และกลุ่มการศึกษาทางเลือกในพื้นที่ที่จะมีการยุบและควบรวมโรงเรียน เพื่อวิเคราะห์ปัญหา หาทางแก้ไขและตัดสินใจร่วมกัน เสนอให้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ประกอบด้วย ผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากคณะกรรมการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก ผู้ปกครอง และกลุ่มการศึกษาทางเลือก เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอนโยบายในการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กโดยภาพรวม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท