Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คำพูดที่ว่า พุทธศาสนาบริสุทธิ์จากการเมือง อยู่เหนือการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง อาจเป็นคำพูดที่ถูกต้องหากหมายถึงพุทธศาสนาส่วนที่เป็นสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้คือ “อริยสัจ 4” แต่หากหมายถึงพุทธศาสนาในความหมายที่ซับซ้อนกว่านั้น เช่น พุทธศาสนาที่มีคำสอนเกี่ยวกับมิติทางสังคมและการเมือง หรือการปรับใช้คำสอนของพุทธศาสนาเพื่อตอบสนองต่อบริบททางสังคม-การเมืองในยุคสมัยต่างๆ หรือพุทธศาสนาเชิงสถาบันที่ประกอบด้วยศาสดา พระสาวก องค์กรสงฆ์ พุทธบริษัท 4 พุทธศาสนาในความหมายที่ซับซ้อนดังกล่าวนี้ไม่เคยเป็นอิสระจากการเมืองอย่างสิ้นเชิง หากแต่มีมิติที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเสมอมากบ้างน้อยบ้างตามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมที่พุทธศาสนาเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับการเมืองในสมัยพุทธกาล ซึ่งบทบาททางศาสนาที่สำคัญในยุคนั้นขึ้นอยู่กับบทบาทของพระศาสดา และบทบาทสำคัญทางการเมืองขึ้นอยู่กับบทบาทของกษัตริย์ หากพระศาสดาและกษัตริย์มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันการเผยแผ่พุทธศาสนาย่อมประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่าความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ เพราะพระพุทธเจ้าเป็น “เพื่อนสนิท” กับกษัตริย์ในรัฐมหาอำนาจในชมพูทวีปถึงสองรัฐคือ รัฐมคธกับรัฐโกศล โดยสัมพันธภาพดังกล่าวย่อมส่งผลให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในสองรัฐใหญ่ และรัฐเมืองขึ้นอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง คำสอนของพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับการเมือง เช่น ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร วัชชีธรรมหรืออปริหานิยธรรม เป็นต้น ก็น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีตั้งแต่ยุคนี้ แต่มีข้อสังเกตว่ากษัตริย์ที่เคร่งครัดในคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธศาสนากลับเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอใน “เกมแห่งอำนาจ” ดังเช่นกษัตริย์ที่เป็นเพื่อนสนิทของพระพุทธเจ้าสองพระองค์คือ พระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าปเสนทิ ต่างก็ถูกโอรสของตนเองทำรัฐประหาร ต่อมาหลังสมัยพุทธกาล ยุคพระเจ้าอโศกมหาราชถือเป็นยุคแห่งการปรับ “อุดมการณ์ธรรมราชา” ตามคำสอนของพุทธศาสนาเป็นอุดมการณ์แห่งรัฐ ทำให้พระราชามีอำนาจในการปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักร เช่น พระราชาเป็นแบบอย่างของผู้ปฏิบัติธรรม สอนธรรม มีพระบรมราชโองการให้พระสงฆ์และข้าราชการสอนธรรมเรื่องนั้นเรื่องนี้แก่พสกนิกร อุปถัมภ์บำรุงคณะสงฆ์และมีอำนาจเข้าไปจัดการปัญหาภายในของคณะสงฆ์ เช่นกรณีมีพระปลอม การแตกสามัคคีในวงการสงฆ์ มีการใช้อำนาจของพระราชาลงโทษประหารชีวิตพระสงฆ์จำนวนมาก เป็นต้น [1] ทว่าในท้ายที่สุดพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ตามคติธรรมราชาของพุทธศาสนาที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็สิ้นสุดสถานะแห่งความเป็นกษัตริย์ลงด้วยการรัฐประหารโดยหลานของพระองค์เอง ในยุคต่อมา เมื่อกษัตริย์ในภูมิภาคอุษาคเนย์หันมานับถือพุทธศาสนาต่างก็ปรารถนาที่จะเป็นธรรมราชาดังพระเจ้าอโศกมาหาราช และกษัตริย์แห่งนครรัฐต่างๆ ในแผ่นดินสยาม นับแต่พ่อขุนรามคำแหงเรื่อยมาถึงยุครัตนโกสินทร์ต่างก็ยืนยัน “ความชอบธรรม” แห่งสถานะความเป็นกษัตริย์โดยอ้างอิง “ทศพิธราชธรรม” เช่นพระเจ้าอโศก อย่างไรก็ตาม การอ้างอิงทศพิธราชธรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่สถานะของกษัตริย์ในแผ่นดินสยาม โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาที่เริ่มมีการสมมติให้กษัตริย์เป็น “เทวดาบนแผ่นดิน” หรือ “สมมติเทพ” เป็นต้นมานั้น ทำให้เกิดภาวะขัดแย้งในตัวเองอย่างที่เรียกกว่า “หัวมงกุฏท้ายมังกร” อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ กษัตริย์ตามคติพุทธศาสนานั้นไม่ใช่เทพ ไม่ใช่โอรสของเทพ หรือไม่ใช่ผู้ที่พระเจ้าสร้างมาและให้อำนาจศักดิ์สิทธิ์มาปกครองแผ่นดิน หากแต่กษัตริย์ตามคติพุทธคือ “คนธรรมดา” ที่ถูกคนส่วนใหญ่เลือกให้เป็นผู้ปกครอง (เรียกว่า “มหาชนสมมติ”) และให้ค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ของผู้ปกครองตามความจำเป็น หรือได้ค่าตอบแทนเพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่แบบพอเพียง [2] ซึ่งผู้ปกครองที่กินอยู่แบบพอเพียงแล้วทำหน้าที่ปกครองให้ราษฎรมีความสุข พุทธศาสนาเรียกผู้ปกครองเช่นนี้ว่า “ราชา” แปลว่า “ผู้ที่ทำให้ประชาชนรัก” ด้วยการมีคุณธรรมของผู้ปกครองคือ “ทศพิธราชธรรม” แต่คำว่า “กษัตริย์” ที่แปลว่า “ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขตแดน” หรือผู้เป็นเจ้าที่ดิน ผู้ร่ำรวยที่สุดในแผ่นดิน บวกกับคติแบบเทวสิทธิ์ที่ว่ากษัตริย์เป็นเทพหรือเป็นผู้ที่ได้อำนาจศักดิ์สิทธิมาจากพระเจ้าเพื่อปกครองแผ่นดิน หากมองตามคติของพุทธศาสนาคำว่า “กษัตริย์” ตามคติดังกล่าวเป็นคำที่มีความหมายในทางลบ หรือเป็นคำที่ชาวบ้านตั้งขึ้นเพื่อปรับทุกข์กันว่า “ทำไมคนที่พวกเราเลือกให้ทำงานเพื่อพวกเราซึ่งสมควรอยู่อย่างสมถะเพราะเป็นคนแห่งธรรม จึงกลายเป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในแผ่นดินเช่นนี้” [3] คำที่มีความหมายเชิงบวกตามคติพุทธคือ “ราชา” ซึ่งหมายถึงคนธรรมดาที่ถูกเลือกจากคนส่วนใหญ่ให้มาทำหน้าที่ปกครอง ได้ค่าตอบแทนในการทำหน้าที่เพียงเพื่อดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และเป็นที่รักของประชาชนโดยการปฏิบัติตามหลักทศพิธราชธรรม จะเห็นได้ว่า ปัญหา “หัวมงกุฏท้ายมังกร” ของคติกษัตริย์ในแผ่นดินสยามคือ คติเรื่องกษัตริย์เป็นการผสมผสานระหว่างทฤษฎีเทวสิทธิ์แบบพราหณ์กับคติธรรมราชาแบบพุทธ ผลก็คือ สถานะของกษัตริย์จึงไม่ชัดว่าเป็นโอรสของเทพ (แบบจักรพรรดิญี่ปุ่น ฟาร์โรของอียิปต์ ฯลฯ) หรือเป็นเทพ ทว่าเป็นกึ่งคนกึ่งเทพ ที่เรียกว่า “สมมติเทพ” ส่วนที่เป็นเทพคือส่วนที่เป็นสถานะและอำนาจของกษัตริย์ที่ศักดิ์สิทธิ์แตะต้องหรือล่วงละเมิดมิได้ ส่วนที่เป็นคนคือส่วนที่เป็นบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครองที่ถูกคนส่วนใหญ่เลือกให้ทำงานแก่ผู้ใต้ปกครองตามครรลองของทศพิธราชธรรม ทั้งสองส่วนนี้ขัดแย้งกันโดยพื้นฐาน กล่าวคือ “สาระ” (essence) ของความเป็นเทพเรียกร้องหรือต้องการภาวะ “อภิมนุษย์” ที่อยู่เหนือหรือห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ แต่สาระของทศพิธราชธรรมเรียกร้องหรือต้องการการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ (เพราะถ้าไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบจะรู้ได้อย่างไรว่ามี หรือปฏิบัติตามหลักทศพิธราชธรรมได้สมบูรณ์หรือบกพร่องหรือไม่) อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงความขัดแย้งในเชิงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ชนชั้นปกครองไทยกลับนำคติเรื่องทศพิธราชธรรมมาสนับสนุนสถานะความเป็นเทพของกษัตริย์ตามคติเทวสิทธิ์แบบพราหฒณ์ได้อย่างลงตัว (นี่อาจเป็นความสามารถพิเศษของชนชั้นปกครองไทย) โดยอ้างอิงคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมและการบำเพ็ญบุญบารมีมารองรับสถานะ “สมมติเทพ” ของกษัตริย์และความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในสังคม ฉะนั้น “จินตภาพสังคมไทยภายใต้ร่มพระบารมี” จึงมีลักษณะเด่นชัดดังที่ ธงชัย วินิจจะกูล อธิบายว่า “องค์รวมที่เรียกว่าประเทศไทย จึงเต็มไปด้วยหน่วยย่อยๆที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะพิจารณาหน่วยสังคมใดๆ เช่นครอบครัว ที่ทำงาน หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด กระทรวงกรม โรงเรียน บริษัท โรงงาน ฯลฯ ก็จะพบผู้คนที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน และต้องยอมรับความสูงต่ำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” [4] ปัญญาคือ เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 จินตภาพสังคมไทยภายใต้ร่มพระบารมี ซึ่งมีสาระสำคัญคือ “การยอมรับความสูงต่ำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” โดยอ้างอิงฐานคิดที่นิยาม “ความเป็นมนุษย์สูง-ต่ำตามบุญบารมีที่บำเพ็ญมาแตกต่างกัน” ยังคงเป็นจินตภาพที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมทางความคิดความเชื่อของสังคมไทย ซึ่งจินตภาพดังกล่าวขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญกับจินตภาพของสังคมประชาธิปไตยที่นิยามความเป็นมนุษย์บนฐานคิดเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาค จึงทำให้สังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆ มีลักษณะแบบ “หัวมงกุฎท้ายมังกร” คือหัวยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขณะที่หางเป็นประชาธิปไตย (เช่นมีการเลือกตั้ง มีเสรีภาพในระดับที่จำกัด) และโดยลักษณะ “หัวมงกุฏท้ายมังกร” ดังกล่าว บ่อยครั้งก็เกิดปรากฎการณ์ “หัวกินหาง” (และกินกลางตลอดตัว?) ทำให้กลายเป็น “ประชาธิปไตยหางด้วน” อย่างที่เห็นและเป็นอยู่! อ้างอิง [1] ดู ส. ศิวรักษ์ (แปลและเรียบเรียง).ความเข้าใจเรื่องพระเจ้าอโศกและอโศกาวทาร.(กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย,2552). หน้า 26. [2] ดู อัคคัญสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 11 [3] สมภาร พรมทา.นิติปรัชญา.วารสารปัญญา ฉบับที่ 6 (มีนาคม 2554), หน้า 329 [4] ธงชัย วินิจจะกูล.พุทธศาสนา ความสัมพันธ์ทางสังคม ลัทธิประวัติศาสตร์ มรดกจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์.(มติชนออนไลน์ 8 พ.ค.2554)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net