Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แถลงระบุสิทธิมนุษชนไทยถูกจำกัดโดยกฎหมายหมิ่นฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ชี้รัฐสลายชุมนุมเสื้อแดงเกินกว่าเหตุ และมีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาที่ภาคใต้

13 พ.ค. 54 เวลา 13.00 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หรือเอไอ (AI) ได้จัดแถลงข่าวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโลกประจำปี 2554 ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย

ในรายงานระบุว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมาย “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อาทิ ปิดเว็บไซต์กว่า 50,000 แห่ง การจับกุมอมรวรรณ เจริญกิจ กรณีขายรองเท้าแตะที่พิมพ์ภาพถ่ายใบหน้านายกรัฐมนตรีในจังหวัดอยุธยาซึ่ง เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกรณีนักโทษมโนธรรมสำนึก (prisoners of conscious) วิภาส รักสกุลไทย ซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพภายหลังถูกกล่าวหาว่าส่ง sms ที่มีข้อความเข้าข่ายละเมิดกฎหมายดังกล่าว รวมถึงกรณีจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากข้อ ความที่ผู้อื่นโพสต์ในเว็บบอร์ดประชาไท

เอไอระบุด้วยว่าการสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน – พฤษภาคม ปีที่แล้ว ถือเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตกว่า 70 คน รวมถึงทหาร อาสากู้ภัย และนักข่าว นอกจากนี้ การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังส่งผลให้ประชาชนกว่า 450 คนต้องถูกคุมขัง ซึ่งบางส่วนยังอยู่ในระหว่างดำเนินคดีและยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนถึง ปัจจุบัน

ขณะเดียวกันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาตั้งแต่ ปี 2548 ซึ่งมีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาและทำให้เสียชีวิตในระหว่างการคุมขังโดยเจ้า หน้าที่รัฐ การใช้ความรุนแรงจากฝ่ายติดอาวุธต่อพลเรือนโดยไม่เลือกหน้า แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดต้องรับผิดจากกระทำละเมิดสิทธิมนุษย ชนดังกล่าวเช่นกัน ส่วนปัญหาด้านผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่ยังคงมีมากในบริเวณชายแดนไทย-พม่า ก็พบว่ารัฐบาลไทยได้ละเมิดหลักการไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัย (non-refoulement) โดยส่งกลับผู้ลี้ภัยจำนวนมากกลับประเทศ ถึงแม้ว่าการส่งกลับนั้นจะเสี่ยงต่อชีวิตและเสรีภาพของผู้ลี้ภัยก็ตาม เช่น ในกรณีของชาวโรฮิงญา ซึ่งต่อกรณีนี้ วีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการองค์กรเพื่อผู้ลี้ภัยไทยกล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่มีนโยบายรองรับในการปกป้องสิทธิของผู้อพยพ และไม่มีกรอบทางกฎหมายในการจัดการที่ชัดเจน จึงก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน และนำไปสู่ทัศนคติและความไม่เข้าใจของคนไทยที่มีต่อผู้อพยพและคนต่างด้าวโดย ทั่วไป

ส่วนกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ภายหลังเอไอมาเลเซียได้ประกาศยกเลิกการจัดแถลงข่าวร่วมกับโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของกลุ่มนปช. ซึ่งเดิมจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 23 เมษายน 2554 จนทำให้สมาชิกเอไอประเทศไทย นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมทางด้านสิทธิมนุษยชนและประชาชนยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อเอไอสากลให้ ตรวจสอบการกระทำของเบน ซาแวกกี นักวิจัยของเอไอสากลประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของเอไอมาเลเซียจนนำมาสู่เหตุการณ์ดังกล่าวนั้น อเล็ก แบมฟอร์ด ที่ปรึกษาเอไอประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า เอไอจำเป็นต้องรักษาหลักการความเป็นกลาง (Impartiality) และความถูกต้อง (accuracy) ในการดำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

“ในประเด็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกนี้ ... เอไอไม่ได้ห้ามนายอัมสเตอร์ดัมแถลงข่าวแต่อย่างใด เราเพียงชี้แจงว่าการแถลงข่าวของนายอัมสเตอร์ดัมไม่ควรจัดบนเวทีร่วมกับของ เอไอ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อหลักการความเป็นกลางในการทำงานของเอไอ”

หลังจากนั้น ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ นักสิทธิมนุษยชน ได้ตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของทั้งเอไอสากลและเอไอประเทศไทย โดยได้ยกตัวอย่างกรณีท่าทีของเอไอประเทศไทยต่อสถานการณ์การใช้กฎหมายหมิ่น พระบรมเดชานุภาพคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยระบุว่า ทั้งที่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ได้มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นจำนวนถึง 547 คดี ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นสูงถึง 900% แต่ในแถลงการณ์ทุกฉบับของเอไอประเทศไทยก็ไม่เคยกล่าวถึงกรณีเหล่านี้เลยแม้ แต่ครั้งเดียว

ต่อกรณีดังกล่าว สมชาย หอมลออ ประธานกรรมการบริหารเอไอประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า เนื่องจากเอไอมีนโยบายไม่ทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการ เมืองในประเทศของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการทำงานระหว่างสมาชิกภายในประเทศ จึงไม่มีบทบาทที่ชัดเจนต่อปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สมชายยอมรับว่าเอไอประเทศไทยสามารถทำหน้าที่เสนอแนะและให้ข้อมูลแก่นักวิจัย เอไอสากลได้

ด้านอเล็ก แบมฟอร์ด ที่ปรึกษาเอไอ ประเทศไทย ระบุตรงกันว่า การเลือกจะทำงานในประเด็นใดนั้นไม่ใช่การตัดสินใจของเอไอประเทศไทย แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเอไอสากล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net