Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม: ครบรอบ 2 เดือน-ปิดศูนย์ข้อมูลคนหาย “คนหายที่แจ้งรัฐ...ยังไม่สามารถติดตามได้ในขณะนี้” 16 พฤษภาคม 2554 เป็นวันครบรอบ 2 เดือนเต็ม ที่มูลนิธิกระจกเงา ได้ประกาศปิดตัวโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย ซึ่งเป็นโครงการที่ทำหน้าที่รับแจ้งเหตุ ให้คำปรึกษา และประสานงานติดตามคนหายทั่วทั้งประเทศเป็นเวลากว่า 9 ปีเต็ม ก่อนการปิดตัวโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย ทีมงานมูลนิธิกระจกเงาได้ติดต่อขอเข้าพบเพื่อหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการแก่หน่วยงานภาครัฐว่า หน่วยงานเอกชนที่ทำงานเรื่องคนหายในประเทศไทย ไม่สามารถดำเนินการภารกิจนี้ได้ต่อ และจำเป็นต้องส่งมอบภารกิจดังกล่าวให้กับหน่วยงานภาครัฐรับไปดำเนินการอย่างเต็มตัว ปัญหาเรื่องคนหายในสังคมไทยดูเหมือนยังเลือนลางและห่างไกลจากความจริงใจในการตอบโต้เพื่อเท่าทันปัญหาของหน่วยงานรัฐพอสมควร และนี่คือบทสรุปลำดับเหตุการณ์ภายในระยะเวลา 2 เดือนเต็มหลังการปิดศูนย์ข้อมูลคนหาย (เหมือน)ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ การเข้าพบหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าหน่วยงานใดก็ตาม ดูเหมือนว่าจะได้รับการตอบสนองด้วยดีจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการได้รับเกียรติให้เข้าพบผู้หลักผู้ใหญ่ในระดับหัวหน้าหน่วยงาน จึงทำให้สร้างขวัญกำลังใจได้เป็นอย่างดีกว่า “ผู้ใหญ่ ให้ความสำคัญ” กับปัญญาคนหายอย่างจริงจัง ด้านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ส่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มานั่งหารือกับตัวแทนมูลนิธิกระจกเงา พร้อมรับปาก จะผลักดันให้สายด่วนศูนย์ประชาบดี 1300 พร้อมสำหรับการรับแจ้งเรื่องคนหายด้วย – ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งรองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาหารือ พร้อมรับปากเช่นกันว่า ตำรวจจะเต็มที่กับเรื่องนี้เช่นกัน รูปธรรมในหน้ากระดาษ ภายหลังตัวแทนมูลนิธิกระจกเงาเข้าพบอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยการหารือหลักๆ อยู่ที่การยกโปรแกรมฐานข้อมูลคนหาย (DATA BEST) ของศูนย์ข้อมูลคนหาย ให้กับหน่วยงานรัฐแบบให้เปล่า พร้อมทั้งข้อเสนอในการพัฒนาแบบฟอร์มฐานข้อมูลให้ตรงตามมาตรฐานของหน่วยงานรัฐ เพื่อให้ฐานข้อมูลคนหายได้รับการติดตั้งไปยังศูนย์ประชาบดี ครบทั้ง 76 จังหวัดทั่วทั้งประเทศไทย สำหรับการรับแจ้งคนหายอย่างเป็นระบบ ซึ่งผ่านมาแล้ว 2 เดือน การถ่ายโอนฐานข้อมูลดังกล่าว ก็ยังไม่พร้อมใช้สำหรับการรับแจ้งคนหายของศูนย์ประชาบดี กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ออกหนังสือเวียนไปยังบ้านพักเด็กและครอบครัว 76 แห่งทั่วประเทศ ใจความระบุ ว่า ภารกิจการรับแจ้งเหตุคนหาย ต่อไป จะภารกิจหนึ่งของศูนย์ประชาบดี แต่ทว่า หนังสือเวียนฉบับดังกล่าว ก็ยังไม่ได้ระบุว่าศูนย์ประชาบดีแต่ละจังหวัดต้องทำอย่างไร ท้ายสุดอาจเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมในกระดาษ เพราะหลายจังหวัด ไม่เคยมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาเรื่องการติดตามคนหายแม้แต่รายเดียว ส่วนด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายหลังจากรองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งทุบโต๊ะ ให้ งานคนหายพลัดหลง กองทะเบียนอาชญากร ติดตามรายงานเรื่องการรับแจ้งเหตุคนหายกับมูลนิธิกระจกเงา ปรากฏว่า หลังจากนั้น มีนายตำรวจท่านหนึ่ง โทรมา ของลิงค์เวปไซค์เข้าฐานข้อมูลคนหาย ของมูลนิธิกระจกเงา แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธการส่งข้อมูลทางอีเมล์ โดยเสนอว่า เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา ยินดีเข้าไปติดตั้งโปรแกรมและอบรมการใช้ฐานข้อมูลคนหายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่หลังจากนั้น นายตำรวจท่านนั้นก็มิได้ติดต่อมาอีกเลย เป็นอันว่า แนวทางความเชื่อมั่นที่น่าจะเกิดขึ้น หารูปธรรมยังไม่เจอเลยว่า หน่วยงานรัฐ จะรับมืออย่างไรกับเรื่องคนหายในประเทศไทย ตรวจเช็คการรับมือปัญหาของหน่วยงานรัฐ แม้ว่าแต่เดิม ศูนย์ประชาบดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีภารกิจรับแจ้งเหตุคนหายเป็นปกติอยู่แล้วก็ตาม แต่ทว่า ภายหลังจากการปิดตัวโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย อาจทำให้ภารกิจของทั้งสองหน่วยงานมีภาระเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว โดยหลังจากการปิดตัวศูนย์ข้อมูลคนหาย ยังมีครอบครัวที่บุตรหลานสูญหายได้โทรมาแจ้งขอความช่วยเหลือยังมูลนิธิกระจกเงาอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาได้แจ้งหมายเลขโทรศัพท์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์ประชาบดี เพื่อให้ครอบครัวได้โทรไปร้องทุกข์เรื่องคนหายกับหน่วยงานของภาครัฐโดยตรง หลังจากการแนะนำหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานรัฐให้กับครอบครัวคนหาย พบว่า หลายครอบครัว ต้องพบกับความผิดหวังในการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานศูนย์ประชาบดีในส่วนภูมิภาค ซึ่งให้คำปรึกษาเพียงแค่ให้ครอบครัวคนหายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเท่านั้น นอกจากนี้ศูนย์ประชาบดีบางจังหวัด ยังได้ให้ครอบครัว คนหาย โทรกลับมาขอความช่วยเหลือที่มูลนิธิกระจกเงาอีกรอบ โดยมีบางกรณีให้เบอร์มือถือของเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา และบอกกับญาติคนหายว่า เป็นเบอร์โทรศัพท์ของหัวหน้าศูนย์ประชาบดี – นี่คือการสะท้อนภาพปัญหาสำคัญที่หน่วยงานรัฐ ยังไม่มีความพร้อมในการจัดการปัญหาเรื่องคนหายอย่างเป็นระบบ และมาตรการในการรับมือกับปัญหายังขาดองค์ความรู้ในการให้คำปรึกษาและคำแนะนำเพื่อให้นำไปสู่แนวทางในการติดตามตัวคนหายให้เจอได้ แก้ไขปัญหาด้วยความ(ไม่)รู้ ปัญหาเรื่องคนหาย มีการทำงานในประเทศไทยมาแล้วหลายปี แต่ขาดการรวบรวมองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ยังไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดการปัญหาคนหายอย่างเป็นรูปธรรม จึงทำให้การให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่ครอบครัวคนหาย อยู่ในวงแคบเพียงแนะนำให้ครอบครัวคนหายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีการปกติพื้นฐานที่ครอบครัวคนหายต้องทำอยู่แล้ว รัฐยังไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลในระบบของหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง เพื่อตรวจสอบข้อมูลคนหายซึ่งอาจไปอยู่ในระบบต่างๆได้ ทั้งโรงพยาบาล เรือนจำ หรือแม้กระทั่งศพไม่ทราบชื่อ แนวทางในการติดตามคนหายแต่ละสาเหตุ มีวิธีการและขั้นตอนที่แตกต่างกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานภาครัฐ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อการให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพและนำไปสู่การพบตัวคนหายอย่างปลอดภัย ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมายังไม่พบว่ารัฐได้ดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับการจัดการความรู้เรื่องคนหาย ครอบครัวคนหายจึงได้รับการคำแนะนำจากรัฐในลักษณะที่ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการแก้ไขปัญหา ความจริงใจต่อปัญหาคนหาย หลายครั้งเรามักได้ยินเจ้าหน้าที่รัฐ กล่าวอ้างเสมอว่า รัฐไม่สามารถจัดการปัญหาได้ เพราะไม่มีกฎหมายในการรองรับ เรื่องคนหายก็เป็นปัญหาที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการเฉพาะเช่นกัน ปัญหาเรื่องการไม่รับแจ้งความคนหาย ยังคงมีให้เห็นอยู่ทุกวัน ปัญหาเรื่องการรับเรื่องแล้วไม่มีแนวทางในการดำเนินงานต่อก็มักเกิดขึ้นเสมอ ถึงแม้ว่าหัวใจของการติดตามคนหายจะอยู่ที่ครอบครัวเป็นหลักก็ตาม แต่ทว่ารัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้บริหารจัดการแนวทางการช่วยเหลือของทุกภาคส่วน ปัจจุบัน พบว่า เคสคนหายที่เกินความสามารถในการติดตาม รัฐมักใช้วิธีการมอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวเบื้องต้นจำนวน 2,000 บาท ตามแบบวิธีของทางราชการเท่านั้น เมื่อมอบเงินให้กับทางครอบครัวคนหายแล้ว ดูเหมือนรัฐจะเข้าใจว่า การช่วยเหลือได้เกิดขึ้นและปิดการดำเนินการช่วยเหลือด้านอื่นๆ นับจากนั้นทันที 2 เดือนเต็ม สำหรับหน่วยงานรัฐในการรับมือกับปัญหาคนหายที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน บทสรุปในช่วงหลังการปิดตัวศูนย์ข้อมูลคนหาย ทำให้มองเห็นว่า ปัญหาอะไรดัง ปัญหานั้นได้รับการแก้ไขก่อน - วันนี้ต้องมีคำถามกลับไปว่า รัฐจะใช้เวลาอีกเท่าไหร่ สำหรับการเตรียมความพร้อมในการจัดการปัญหาคนหายอย่างเป็นระบบและให้ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างจริงจังเสียที อย่าให้ปลายสายโทรศัพท์ดังก้องหูประชาชนอยู่เสมอว่า “คนหายที่แจ้งรัฐ...ยังไม่สามารถติดตามได้ในขณะนี้” ....

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net