Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การคัดสรรกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ CEO ปตท. แทนที่คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ที่กำลังจะเกษียณในเดือนกันยายน ดูจะเป็นข่าวใหญ่ในวงการธุรกิจไทยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และอาจเป็นข่าวที่สำคัญต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน ผู้เขียนมิใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงานหรือคลุกคลีอยู่ในวงธุรกิจพลังงาน หากแต่เป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ที่สนใจและค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับธุรกิจ/อุตสาหกรรมน้ำมันมาบ้างพอสมควร จึงอยากจะขอเท้าความให้เห็นที่มาที่ไป แรงผลักดัน และเงื่อนไขทางสังคมการเมืองและประวัติศาสตร์อันนำไปสู่การแจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่กลายมาเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในเวลาต่อมา เพื่อเป็นการสะท้อนอีกมุมมองหนึ่งจากข่าวใหญ่ ข่าวสำคัญขององค์การทางด้านน้ำมันและพลังงานที่ทรงอิทธิพลและยิ่งใหญ่ที่สุดในสังคมไทยปัจจุบัน อันอาจทำให้เห็นความมุ่งหมายในยุคอรุณรุ่งขององค์กรแห่งนี้ สำหรับผู้เขียนแล้ว แนวคิดในการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อดูแล จัดการ และควบคุมด้านน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศเป็นสิ่งที่เกิดมาจากเงื่อนไข 4 ประการหลักด้วยกัน อันมีความสอดคล้อง เชื่อมโยงและสืบเนื่องกัน (เนื่องด้วยพื้นที่มีจำกัดผู้เขียนจึงทำได้แต่ให้ข้อมูลโดยสังเขปเท่านั้น) ประการแรก ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง และเศรษฐกิจไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการรับความคิดการพัฒนา รวมถึงเงินทุนประเภทต่างๆ จากต่างประเทศ (โดยเฉพาะจากองค์กรระหว่างประเทศและสหรัฐอเมริกา) ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและการผลิตอย่างสำคัญ ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน “ถนน” ได้กลายมาเป็นระบบการขนส่งและคมนาคมหลักของประเทศ รัฐบาลไทย (ภายใต้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ) ได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากไปกับการสร้างระบบถนน โดยความยาวของถนนทั้งประเทศ (ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงจังหวัด) ได้เพิ่มจากระยะทางไม่ถึง 8,000 กิโลเมตรในช่วงก่อนปี พ.ศ.2500 เป็น 10,700 13,410 และ 17,686 กิโลเมตรในปี พ.ศ. 2504 2510 และ 2515 ตามลำดับ การขยายตัวของระบบถนนนี้เองดูจะทำให้จำนวนรถยนต์และจักรยานยนต์รวมของประเทศเพิ่มขึ้นจากประมาณ 124,358 คันใน พ.ศ.2502 เป็น 427,739 และ 736,804 คันใน พ.ศ.2510 และ 2515 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าในระยะเวลา 10 กว่าปี นอกจากการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว แบบแผนการผลิตของประเทศยังได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมในอัตราส่วนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ แห่งชาติและแผนงานการส่งเสริมการลงทุนฯ จากสภาวะดังกล่าวของสังคมไทยนี้ดูจทำให้ “น้ำมัน” กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญของประเทศในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและเกี่ยวเนื่องกับสินค้าและชีวิตของผู้คนจำนวนมากในสังคมไทย และมีอัตราความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและระบบขนส่ง อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การสนับสนุนสร้าง/ดำเนินการโรงกลั่นน้ำมัน 3 แห่งของไทยในช่วงกลางทศวรรษ 2500 อย่างไรก็ดี น้ำมันเชื้อเพลิงเวลานี้ทั้งน้ำมันดิบและสำเร็จรูป (ประเภทที่ไม่พอกับความต้องการ) ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันออกกลางแทบทั้งสิ้น ประการที่สอง เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันของสังคมไทยล้วนต้องเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งทางตรงและทางอ้อม หากแต่น้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศเกือบทั้งหมดล้วนต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ในแง่นี้การเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันและความตึงเครียดทางการเมืองในตะวันออกกลางในช่วงกลางทศวรรษ 2510 ที่ส่งผลอย่างสำคัญต่อการผลิตและราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันของสังคมไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง และในช่วงเวลานี้เองที่ความขัดแย้งระหว่างบริษัทโรงกลั่นน้ำมันเอกชนใหญ่ 3 แห่งของไทยกับรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาด้านการขึ้นราคาน้ำมันทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงการประท้วงที่จะงดการกลั่นน้ำมันจากเอกชนด้วย ภาวการณ์ของวิกฤติน้ำมันนี้ ในทางหนึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความคิด “ชาตินิยม” ในกิจการน้ำมันขึ้นดังปรากฎในข้อเขียนทางหนังสือพิมพ์จำนวนมากในช่วงเวลานั้นแล้ว ในอีกทางหนึ่ง ชนชั้นนำทางการเมืองและภาคราชการจำนวนหนึ่งยังได้แสดงแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้ง “บริษัทน้ำมันแห่งชาติ” “ทบวงน้ำมันแห่งชาติ” หรือ “องค์กรน้ำมันแห่งชาติ” ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดการ ดูแล และควบคุมตั้งแต่แผนงาน การผลิต และการค้าน้ำมันของประเทศด้วย ประการที่สาม แม้จะมีหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านการผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศอยู่แล้วในช่วงเวลานั้น คือ องค์กรเชื้อเพลิง ภายใต้สัญลักษณ์ “สามทหาร” หากแต่ก็มีอำนวจในการดูแล ควบคุม และจัดการด้านน้ำมันของประเทศในวงจำกัด อีกทั้งภาพขององค์กรยังถูกมองจากสื่อมวลชนและสังคมไทยในช่วงเวลานั้นด้วยว่ามีความเป็นราชการสูง มีระเบียบทางราชการและความล่าช้า ไม่เท่าทันกับการจัดการธุรกิจน้ำมันในสถานการณ์ที่มีความผันแปรสูง อีกทั้งยังมีข่าวความไม่ชอบมาพากลด้านการค้าน้ำมันปรากฎให้เห็นผ่านหนังสือพิมพ์ ทำให้เป็นเงื่อนไขที่มีการเรียกร้องให้ตั้งองค์กรด้านน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นมาใหม่ ประการที่สี่ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของน้ำมันและพลังงานเชื้อเพลิงของประเทศไทยตั้งแต่การวางแผนทางนโยบาย การควบคุม การผลิต/จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงเวลานั้นอยู่กระจัดกระจาย/แยกย้ายไปตามกระทรวง/กรมที่แตกต่างกัน อาทิ การขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมอยู่ในอำนาจการดูแลของกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติและย้ายมาเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา ภาษีเงินได้จากปิโตรเลียมมีกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบ การค้าขายและสำรองน้ำมันอยู่ในการดูแลของกระทรวงเศรษฐการ และกิจการน้ำมันบางส่วนอยู่ในความครอบครองดูแลของกระทรวงกลาโหม (รายงานข่าวใน สยามรัฐ, 30 มีนาคม 2517) ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมทับทางด้านหน้าที่และอำนาจหน้าที่ และที่สำคัญประสิทธิภาพในการจัดการด้านน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติการณ์น้ำมันที่ต้องการความรวดเร็วและเอกภาพ จากสี่ประการที่กล่าวมาข้างต้นดูจะชี้ให้เห็นสภาพและเงื่อนไขด้านต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2521 โดยที่มีการผลักดันและแนวคิดมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2510 ด้วยความคาดหวังที่ว่าจะเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ดูแลด้านพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศอย่าง “ครอบคลุม” ครบวงจรตั้งแต่แผนงานทางนโยบาย จนถึงการผลิตและการจำหน่าย ภายใต้การบริหารงานที่ “คล่องตัว” มีเอกภาพและอิสระพอสมควรจากภาครัฐและภาคการเมือง นี่คือตัวแทนภาพความคิดของอรุณรุ่งแห่ง ปตท. ที่ปัจจุบันได้มาเป็น “เรือธง” ไม่เพียงแต่วงการพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงของไทย หากแต่รวมไปถึงภาคเศรษฐกิจและสังคมของไทย ภายใต้รูปแบบการบริหารงานที่ปรับเปลี่ยนจากรัฐวิสาหกิจมาสู่บริษัทมหาชนที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่อันมีอิสระและประสิทธิภาพในการบริหารเพิ่มมากขึ้น ผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของปตท. จะสามารถรักษาและขยายงานจากพื้นฐานความคิดอันสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันขององค์กรแห่งนี้ได้หรือไม่? ดูจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามคำตอบในอนาคตข้างหน้าอยู่ไม่น้อย ...................................... ตีพิมพ์ครั้งแรกที่มุมมองบ้านสามย่าน วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net