Skip to main content
sharethis

วานนี้ (20 พ.ค.) กลุ่มฟิล์มกาวัน และบริษัทเอ็กซ์ตร้า เวอร์จิ้น จำกัด ร่วมด้วยโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาเรื่อง “เพื่อความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน ASEAN กับ Enemies of people” จัดขึ้น ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จุดประสงค์ของงานเสวนานี้เพื่อบอกเล่า ถกประเด็น และสร้างความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้านในยุคเขมรแดงผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Enemies of people (ศัตรูประชาชน) เสวนาโดย เต็ด สัมบัท ผู้กำกับภาพยนตร์ นักข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์พนมเปญ โพสต์ ดร. ศรีประภา เพชรมีศรี นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยมหิดล และสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักข่าวอาวุโสจาก The Nation ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งและความสัมพันธ์ของประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินรายการโดย กฤตยา ทรงประโคน ผู้สนใจประวัติศาสตร์และสังคมกัมพูชา จากกลุ่มฟิล์มกาวัน ภาพยนตร์เรื่อง Enemies of people หรือ “ศัตรูประชาชน” ซึ่งกำลังเข้าฉายอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ เป็นภาพยนตร์สารคดีว่าด้วยเบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคเขมรแดง โดยฝีมือการสร้างของร็อบ เลมกิน ผู้กำกับชาวอังกฤษ และเต็ด สัมบัท นักข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์พนมเปญ โพสต์ ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าประวัติศาสตร์ระบอบเขมรแดงในมุมมองของประชาชน โดยเล่าถึงเบื้องหลังความเป็นมาของเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงปี 1975-1979ผ่านบทสัมภาษณ์ของนวล เจีย หนึ่งในผู้นำระดับสูงของกลุ่มเขมรแดงในอดีต และเป็นอดีตผู้นำเพียงคนเดียวที่ยังคงมีชีวิตอยู่ Enemies of people ใช้เวลาในการถ่ายทำนานกว่าสิบปี เพื่อที่จะได้นำเสนอข้อจริงและเยียวยาความรู้สึกของเพื่อนร่วมชาติทั้งสองฝ่ายให้ได้ตรงความจริงที่สุด แต่ท้ายที่สุดแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถูกคำสั่งห้ามฉายในประเทศกัมพูชา นวล เจีย ผู้นำเขมรแดงที่ใช้ชีวิตวัยเรียนอยู่ในประเทศไทยนานกว่าสิบปี กฤตยา ทรงประโคน เล่าถึงประวัติของนวล เจีย อดีตผู้นำเบอร์สองของกลุ่มเขมรแดง ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวถึงในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า นวล เจีย ได้รับตำแหน่งเลาขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาในปี พ.ศ. 2500 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2518 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2521 กองกำลังของเวียดนามบุกเข้ากัมพูชา นวล เจีย และพอล พต อดีตผู้นำหมายเลขหนึ่งจึงต้องหนีถอยไปยังพื้นที่ชนบท ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 หลังจากที่ พอล พตเสียชีวิตลง นวลเจีย และเขียวสัมพันธ์ อดีตผู้นำระดับสูงอีกคนหนึ่งได้ทำหนังสือถึงนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยขอยอมแพ้และแสดงเจตจำนงว่าจะขออยู่ในประเทศต่อไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2550 นวลเจียถูกจับกุมในฐานะผู้ต้องหาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และขณะนี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างรอการไต่สวนโดยศาลพิเศษที่สหประชาชาติและรัฐบาลกัมพูชาร่วมกันจัดตั้งขึ้น กฤตยาเล่าต่อไปอีกว่าเรื่องราวของ นวล เจียนั้น มีความสัมพันธ์กับประเทศไทย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเขาเคยเข้าศึกษาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 ในโรงเรียนมัธยมเบญจมบพิตร โดยเขาใช้ชื่อไทยว่า “รุ่งเลิศ เหล่าดี” จากนั้นก็เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขากฎหมาย ในปี พ.ศ. 2498 ในระหว่างนั้นก็เข้าทำงานเป็นข้าราชการกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และเข้าเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ต่อมาก็ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ แผนกอินโดจีน แต่หลังจากทำงานได้เพียงหนึ่งเดือนเขาก็ลาออกและไม่ได้เรียนต่อจนจบการศึกษา นวล เจียลาออกจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเข้าเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่เวียดนาม และเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดในปี พ.ศ. 2489 หนึ่งปีหลังข้อตกลงหยุดยิงเจนีวา และได้พบกับพอล พตและสหายร่วมอุดมการณ์ต่อต้านอาณานิคมฝรั่งเศส ไม่ได้สร้างภาพยนตร์ด้วยความแค้นแต่เพื่อ “ปลดปล่อย” นายเต็ต สัมบัท ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวกัมพูชากล่าวว่า ตนไม่ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาเพียงเพราะครอบครัวของตนหรือครอบครัวของคนอื่นเท่านั้นที่ได้รับผลจากเหตุการณ์สังหารประชาชนในอดีต สัมบัทเห็นว่าครอบครัวของตนเป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มเล็กๆที่เป็นเหยื่อ เขาจึงอยากที่จะศึกษาและนำเสนอเรื่องราวของเขมรแดงที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบและความเจ็บปวดมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยเขายังกล่าวด้วยว่า ฆาตกรหรือผู้สังหารก็เป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้ด้วยเช่นกัน เขากล่าวว่าคนกัมพูชารุ่นหลังไม่รู้รายละเอียดลึกๆว่ายุคนั้นเกิดอะไรขึ้น เขาเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะสามารถทำให้คนรุ่นหลังสามารถเรียนรู้เรื่องราวของความเจ็บปวดในอดีต และจะช่วยเยียวยาบาดแผลของคนทั้งสองฝ่ายได้ สัมบัทเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ในอดีต แต่ด้วยความที่เขาเป็นนักข่าว เขาจึงต้องยืนอยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย เพื่อที่จะได้สามารถเขียนงานออกมาได้เป็นกลางและเป็นประโยชน์ต่อชาวกัมพูชาให้ได้มากที่สุด สัมบัทมองว่าถ้าต่างฝ่ายต่างมีแต่ทัศนะที่ต้องการแก้แค้น ก็ไม่ได้ช่วยให้มีพัฒนาการอะไรที่ดีขึ้น เขากล่าวว่า จนถึงทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์เขมรแดงถูกเก็บอยู่กับพอล พต และนวล เจียเพียงสองคนเท่านั้น เขาจึงต้องการที่จะเก็บเกี่ยวประวัติศาสตร์ของเขมรแดงให้ได้มากที่สุด เพราะไม่ต้องการให้คนรุ่นใหม่เดินตามหลังในสิ่งที่อดีตผู้นำทั้งสองคนได้ทำเอาไว้ สัมบัทกล่าวทิ้งท้ายถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า เขาต้องการนำเสนอว่ากลุ่มเขมรแดงมีทรรศนะอย่างไรจึงทำให้สามารถเกิดการสังหารครั้งใหญ่นี้ได้ สัมบัทกล่าวว่าในภาคสองของภาพยนตร์เรื่องนี้จะให้คำตอบทั้งหมดว่าความเป็นมาของการฆ่าเกิดจากอะไร เพราะอะไร ทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงสามารถทำสิ่งเหล่านี้กับคนร่วมชาติได้ และประชาชนที่ชมภาพยนตร์จะเป็นผู้ตัดสินเองว่าสาเหตุของการฆ่ามาจากอะไร และต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ไทยก็มีส่วนร่วมกับการสังหารในกัมพูชา สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี เป็นผู้หนึ่งที่สนใจและติดตามเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกัมพูชามาตลอด สุภลักษณ์กล่าวว่าในยุคนั้น เราไม่เคยรู้เลยว่าอะไรเกดขึ้นกับกัมพูชา ภาพที่ไทยนำเสนอนั้นมีเพียงข่าวว่ากัมพูชาบุกไทย คอมมิวนิสต์จะยึดไทย แต่ไม่เคยนำเสนอข่าวในมุมมองที่สร้างความเข้าใจต่อเพื่อนบ้านเลย สุภลักษณ์กล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้ได้คำตอบว่าสาเหตุของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคเขมรแดงนั้นเกิดจากสาเหตุใด และกัมพูชาจะกลั้นกลืนความเจ็บปวดนี้ได้อย่างไร สุภลักษณ์มองว่าการปฏิวัติของเขมรแดงนั้นไม่ได้เดินตามแบบลัทธิมาร์กซิสต์ หรือเลนิน แต่เป็นการแก้แค้นของขบวนการชาวนาในกัมพูชาที่ถูกขูดรีดทั้งจากชาวต่างชาติและคนในชาติเดียวกัน จนกลายเป็นความแค้นที่ถูกสั่งสมมาเป็นเวลานาน หลังการปฏิวัติของเขมรแดง ทุกคนในกัมพูชาต้องทำนา สังคมกัมพูชาถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสังคมบุพกาล เพื่อนำไปสู่ความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ผู้ที่เป็นศัตรูของประชาชนต้องได้รับการลงโทษ สุภลักษณ์เห็นว่างานของสัมบัทเป็นงานที่เจาะลึกถึงเรื่องราวของเขมรแดงได้มากกว่างานชิ้นอื่นที่ผ่านมา นักข่าวอาวุโสผู้นี้กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์กัมพูชา ทางไทยเองก็ทำผิดไม่น้อย “เพราะเรากลัวเวียดนาม กลัวกัมพูชา กลัวว่าทฤษฎีโดมิโนจะมาถึงไทย เราจึงส่งเสริมเขมรแดงมานานกว่า ๑๐ ปี ชีวิตปกติของชาวกัมพูชาในตอนนั้นคืออยู่กับเสียงกระสุนปืน ชีวิตปกติของชาวกัมพูชาในปัจจุบันคืออยู่กับกับระเบิด” สุภลักษณ์กล่าวด้วยว่าอาเซียนในตอนนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากแถลงโจมตีเวียดนาม และไทยเองก็มีส่วนร่วมต่อสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในกัมพูชา ไม่ใช่ตั้งศาลเพียงแค่เพื่อหาข้อเท็จจริงแต่ต้องสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจริง ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี เล่าถึงตอนที่เธอได้เข้าไปทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในช่วงยุคเขมรแดง ศรีประภากล่าวว่าผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาทุกคนต่างก็ต้องการปลดปล่อยตนเองออกจากความเจ็บแค้นที่ตนถูกกระทำจากฝ่ายเขมรแดง ศรีประภากล่าวในมุมมองของนักสิทธิมนุษยชนว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีความรุนแรงที่สุด เธอเห็นว่าในเอเชียตะวันออกเฉยงใต้มีเพียงกัมพูชาที่เดียวเท่านั้นที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ชัดเจนที่สุด เธอยกตัวอย่างต่อไปว่าในแอฟริกา เช่นในซูดาน และรวันดาก็เกิดเหตุการณ์แบบนี้เช่นกัน แม้ว่าปัจจุบันจะมีการตั้งศาลอาญาชั่วคราวโดยองค์กรสหประชาชาติเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ก็พยายามทำการเยียวยาบาดแผลของคนร่วมชาติที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศรีประภาเล่าถึงความร่วมมือของอาเซียนในสมัยนั้นว่า ต่างก็ร่วมมือสามัคคีกันต่อต้านเวียดนาม และสนับสนุนการขึ้นมามีอำนาจของกลุ่มเขมรแดง ศรีประภากล่าวด้วยว่า ประเทศที่เคยให้การสนับสนุนควรมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกัมพูชาด้วย และเธอจึงมองว่าเพราะเหตุนี้จึงทำให้เรื่องดังกล่าวไม่ค่อยถูกนำกลับมาพูดถึงมากนัก ศรีประภามองว่าแม้ตอนนี้กัมพูชาจะมีการตั้งศาลแสวงหาข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่ได้ทำเพื่อการปรองดอง เธอจึงเสนอว่าควรมีกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง และมีการปรองดองเกิดขึ้นดังเช่นในแอฟริกา สำหรับชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ ศรีประภากล่าวว่า “ศัตรูประชาชน” หมายถึงผู้ที่ “ถูกฆ่า” ในยุคเขมรแดง เมื่อเป็นศัตรูประชาชนก็แสดงว่าผู้ที่ฆ่านั้นไม่ได้มีความผิดเพราะเขาช่วยประชาชนฆ่าศัตรู แม้แต่นายเขียว สัมพันธ์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำระดับสูงเอง ก็ยังเคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่าตนทำในสิ่งที่ถูกต้อง ศรีประภามองว่าคนที่มองเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปลดปล่อยอะไร ศรีประภาเมองว่านายเต็ต สัมบัทสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาไม่ใช่เพราะความแค้น แต่เพราะเพื่อต้องการอธิบายความจริงโดยไม่ต้องให้รัฐเข้ามามีส่วน ซึ่งเธอเห็นว่ากรณีของสังคมไทยเองก็สามารถทำได้เช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net