วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉานปีที่ 53: กองทัพรัฐฉานเหนือ-ใต้ ประกาศรวมกำลังต่อสู้กองทัพพม่า

กองทัพรัฐฉาน SSA จัดสวนสนามในวันปฏิวัติประชาชนรัฐฉานปีที่ 53 โดยรองผู้บัญชาการของกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ได้เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย พร้อมประกาศร่วมกับกองทัพรัฐฉาน “ใต้” ต่อสู้กับกองทัพพม่า โดยจะไม่มีการกลับไปเจรจาอีก “เจ้ายอดศึก” เผยจะรวมเป็นกองทัพเดียวกันภายใต้สภากอบกู้รัฐฉานภายในปีนี้ 

นายทหารในกองทัพรัฐฉาน (SSA) และกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่พันธมิตรฯ เข้าร่วมพิธีวันปฏิวัติประชาชนรัฐฉานปีที่ 53

ทหาร กองทัพรัฐฉาน SSA ระหว่างพิธีวันปฏิวัติประชาชนรัฐฉานปีที่ 53 ที่ดอยไตแลง เมื่อ 21 พ.ค. โดยวันนี้เมื่อ 53 ปีที่แล้ว หรือในปี พ.ศ. 2501 ชาวไทใหญ่กลุ่มหนึ่งได้ตั้งกองกำลัง “หนุ่มศึกหาญ” เพื่อเรียกร้องเอกราชจากพม่า และวันนี้ยังเป็นวันครบรอบ 11 ปี การก่อตั้งสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของกองทัพรัฐฉานด้วย

ทหารกองทัพรัฐฉาน SSA ระหว่างพิธีวันปฏิวัติประชาชนรัฐฉานปีที่ 53 ที่ดอยไตแลง เมื่อ 21 พ.ค.

พล.ต.เจ้า จายยี่ รองประธานสภากอบกู้รัฐฉานคนที่ 1 ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในงาน ทั้งนี้ เจ้าจายยี่เป็นอดีตนายทหารในกองทัพแห่งชาติรัฐฉาน (Shan State National Army – SSNA) ซึ่งได้นำกองกำลังมาเข้าร่วมกับกองทัพรัฐฉาน (SSA) ของ เจ้ายอดศึก เมื่อปี 2548

พล.ท.เจ้า ยอดศึก (ซ้าย) ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน และผู้นำกองทัพรัฐฉาน (SSA) และเจ้าจายทู รองผู้บัญชาการกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” (SSA/SSPP) ในงานวันปฏิวัติประชาชนรัฐฉานปีที่ 53 ที่ดอยไตแลง รัฐฉาน เมื่อ 21 พ.ค.

โดย กองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ได้ส่งเจ้าจายทูเป็นตัวแทนร่วมงานดังกล่าว และได้ประกาศว่าจะเข้าร่วมกับกองทัพรัฐฉาน (SSA) และสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ด้วย โดยถือเป็นการประกาศต่อต้านกองทัพพม่าอย่างเป็นทางการ หลังจากถูกกองทัพพม่าโจมตีอย่างหนักมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ไม่ยอมเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์พื้นที่ (HGF)

ทหารกองทัพรัฐฉานเตรียมพวงมาลา เพื่อนำไปวางไว้อาลัยให้กับทหารในกองทัพซึ่งเสียชีวิตระหว่างการสู้รบ

 

ช่วงเช้าวันนี้ (22 พ.ค. 53) กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army – SSA) และสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of the Shan State - RCSS) ได้จัดงาน “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน” (Shan State People Resistance Day) ครบรอบปีที่ 53 ที่ฐานที่มั่นดอยไตแลง รัฐฉาน ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ในงานมีการสวนสนามของทหารไทใหญ่ที่สำเร็จการฝึกทหาร 

นอกจากนี้ในวันนี้ยังเป็นวันครบรอบ 11 ปีการก่อตั้งสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของกองทัพรัฐฉานด้วย

โดยการจัดงานในปีนี้ กองทัพรัฐฉาน “เหนือ” (SSA/SSPP) ภายใต้การนำของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (Shan State Progress Party – SSPP) ได้ส่งเจ้าจายทู รองผู้บัญชาการกองทัพคนที่ 2 เป็นผู้แทนมาร่วมงานดังกล่าวด้วย และมีการประกาศเข้าร่วมกับกองทัพรัฐฉาน (SSA) และ สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ด้วย

ทั้งนี้ ถือเป็นการประกาศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทั้งด้านการเมืองและการทหารกับกองทัพรัฐฉาน (SSA) อย่าง เป็นทางการ และถือเป็นการประกาศต่อต้านกองทัพพม่าอย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังจากกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ทำสัญญาหยุดยิงกันเมื่อปี 2532

เจ้าจายทู รองผู้บัญชาการคนที่ 2 กอง ทัพรัฐฉาน “เหนือ” ให้สัมภาษณ์หลังพิธีสวนสนามว่า กองทัพรัฐฉานเหนือมีการหยุดยิงมาตั้งแต่ปี 2532 โดยหวังจะเอาการเมืองมาแก้ไขปัญหาทางการเมือง แต่กองทัพพม่าไม่รับฟัง มีการใช้กำลังทหารข่มขู่ และมีการปะทะกับกองทัพรัฐฉานเหนือตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยกองทัพรัฐฉานเหนือยืนยันว่าจะไม่มีการเจรจากับกองทัพพม่าอีก “ต่อสู้ก็คือต่อสู้ ไม่มีเจรจา เพราะกองทัพเราอยู่กับสภากอบกู้รัฐฉานแล้ว”

ด้าน พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) และ ผู้นำกองทัพรัฐฉาน (SSA) กล่าวว่า ประชาชนในรัฐฉานอยากเห็นกองทัพในรัฐฉานแต่ละกองทัพ หันมาปรองดอง สามัคคีกัน โดยการรวมกองทัพระหว่างสองกองทัพรัฐฉาน จะมีการรวมกันอย่างจริงจังโดยภายในปีนี้จะเห็นความชัดเจน ส่วนรูปธรรมขณะนี้ทั้งเราทั้งสองกองทัพพูดคุยกัน เข้าใจกัน โดยจะมีการลงรายละเอียดอีกทีในเรื่องระเบียบวินัยของกองทัพ และไม่ว่ากลุ่มไหนในรัฐฉาน ตอนนี้เราสามัคคีกันทุกกลุ่ม

สำหรับวันที่ 21 พ.ค. ของทุกปี ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่าถือเอาวันนี้เป็นวันรำลึกการต่อต้านทหารพม่า โดยวันนี้เมื่อปี พ.ศ. 2501 เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะได้ตั้งกองกำลังต่อต้านรัฐบาลพม่าในนามกลุ่ม "หนุ่มศึกหาญ" ขึ้นที่เมืองหาง เขตอำเภอเมืองโต๋น ในรัฐฉานตอนใต้ ด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน โดยเริ่มต้นมีกำลังพล 30 นาย

โดยในปี 2501 ดังกล่าว ถือเป็นปีครบกำหนดที่ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานและชนกลุ่มน้อยในรัฐอื่นของพม่า สามารถใช้ “สิทธิแยกตัว” (Right of Secession) ตามรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ระบุว่าหลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษไปแล้ว 10 ปี หากรัฐของชนชาติต่างๆ ในสหภาพพม่าต้องการแยกตัวเป็นเอกราช โดยสามารถจัดการลงประชามติขึ้นในรัฐนั้น หากได้รับเสียง 2 ใน 3 จึงจะสามารถแยกตัวเป็นเอกราชได้ แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลพม่าอีกที อย่างไรก็ตามไม่มีชนกลุ่มน้อยรัฐใดในรัฐฉานมีโอกาสใช้สิทธิดังกล่าว เนื่องจากปัญหาสงครามกลางเมืองระหว่างชนกลุ่มน้อยที่ต้องการแยกเป็นอิสระ และทหารพม่ารุกคืบเข้าไปในพื้นที่ของรัฐชนกลุ่มน้อย

000

 

การรวมกันเป็นหนึ่งกองทัพในรัฐฉาน

ปัจจุบันในรัฐฉาน มีกองกำลังที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าคือกองทัพรัฐฉาน หรือ SSA (Shan State Army) นำ โดย พล.ท.เจ้ายอดศึก ซึ่งแยกออกมาตั้งกลุ่มใหม่ หลังจากที่ขุนส่านำกองทัพเมืองไต (Mong Tai Army หรือ MTA) วางอาวุธแก่รัฐบาลพม่าในเดือนมกราคมปี พ.ศ.2539

ต่อมาเมื่อเดือน พ.ค. ปี 2548 มีกองกำลังมาเข้าร่วมกับกองทัพรัฐฉาน SSA เพิ่ม คือ กองทัพแห่งชาติรัฐฉาน (Shan State National Army – SSNA) ซึ่งได้แยกตัวจากขุนส่า เมื่อปี 2538 และทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่านั้น ได้เลิกสัญญาหยุดยิงและ พ.อ.เจ้าจายยี่ ผู้นำ SSNA ได้นำกำลังมารวมกับกองทัพรัฐฉาน SSA

ในบางกรณี ผู้สังเกตการณ์ภายนอกขนานนามกองทัพรัฐฉานที่นำโดย พล.ท.เจ้ายอดศึกว่า กองทัพรัฐฉาน ใต้” (Shan State Army – South / SSA-S) เนื่อง จากมีอีกกองกำลังหนึ่งในรัฐฉาน ที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ ว่า “Shan State Army” เหมือนกัน แต่เนื่องจากเป็นคนละกองทัพกัน และมีพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่ในตอนเหนือรัฐฉาน จึงถูกผู้สังเกตการณ์ขนานนามว่า กองทัพรัฐฉาน “เหนือ” (Shan State Army - North) เพื่อจำแนกสองกองกำลังดังกล่าว

แต่ล่าสุด กองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ที่นำโดย พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน ได้ถือเอาวันครบรอบปีที่ 53 วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน ประกาศเข้าร่วมกับกองทัพรัฐฉาน “ใต้” ที่นำโดยสภากอบกู้รัฐฉาน

โดยกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ก่อตั้งในปี 2507 หนึ่งในผู้ก่อตั้งคือมหาเทวีเฮือนคำ อดีตชายาเจ้าฟ้าส่วยแต้ก (Sao Shew Thaik) แห่งเมืองหยองห้วย ประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า (ผู้เป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2491 จนถึงปี 2495 และในเดือนมีนาคมปี 2505 หลังการรัฐประหารของนายพลเนวิน ได้ถูกควบคุมตัวและเสียชีวิตในคุก ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน)

โดย กองทัพรัฐฉาน ที่ตั้งในปี 2507 นี้ต่อมาได้เจรจาหยุดยิงเมื่อปี 2532 โดยแบ่งกำลังเป็น 3 กองพลน้อย คือ กองพลน้อยที่ 1, 3 และ 7

ต่อมาในเดือนเมษายนปี 2553 พล.ต.หลอยมาว ผู้นำสูงสุดของกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ตัดสินใจรับข้อเสนอรัฐบาลทหารพม่า นำกำลังพลในกองพลน้อยที่ 3 และ 7 เปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์พื้นที่ (Home Guard Force – HGF) และมีการเปลี่ยนชุดเครื่องแบบตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2533

ขณะที่กองพลน้อยที่ 1 ภายใต้การนำของ พล.ต.ป่างฟ้า ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการเปลี่ยนสถานะกองกำลังไปอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า

ต่อมาในเดือนธันวาคมปี 2553 กอง พลน้อยที่ 1 ดังกล่าว ได้มีการประชุมใหญ่ทั้งระดับผู้บังคับบัญชาหน่วย ที่ปรึกษา และฝ่ายปกครอง ที่ฐานบัญชาการบ้านไฮ อำเภอเกซี จังหวัดดอยแหลม รัฐฉานภาคเหนือ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ปีนี้ โดยมีมติให้ฟื้นฟูจัดตั้งองค์การเมืองในชื่อ“พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน” (Shan State Progress Party - SSPP) ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองเดิมของกองทัพ แต่ได้ยุติบทบาทมาตั้งแต่ปี 2538 พร้อมกันนั้น กองพลน้อยที่ 1 ได้มีมติเห็นชอบใช้ชื่อกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army - SSA) ซึ่งเป็นชื่อเดิมของกลุ่ม แทนชื่อกองพลน้อยที่ 1

โดยพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP) ที่ ถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่นี้ มี พล.ต.ป่างฟ้า ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 1 ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ และผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ มีการปรับโครงสร้างใหม่แบ่งกำลังพลออกเป็น 5 กองพลน้อย คือ กองพลน้อยที่ 1, 27, 72, 36 และ 74 แต่ละกองพลน้อยมีกำลังทหาร 3 กองพัน นอกนั้นได้จัดตั้งหน่วยรบพิเศษ หน่วยปืนใหญ่ และหน่วยสารวัตรทหารด้วย

กระทั่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพพม่าได้เสริมกำลังเข้าไปประชิดพื้นที่เคลื่อนไหวของกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ดังกล่าว และเริ่มโจมตีมาตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ได้ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลพม่าว่า เคยเสนอให้แก้ปัญหาการเมืองด้วยวิธีเจรจาทางการเมืองมาแล้วหลาย แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ให้ความสำคัญ มุ่งแต่สร้างความแตกแยกและกำจัดกลุ่มชาติพันธุ์ โดยยังคงยึดนโยบายตัด 4 ละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวรัฐฉานต่อเนื่อง และยังส่งกำลังทหารเข้ากดดันกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" จนเกิดการสู้รบกัน

ล่าสุดกองทัพรัฐฉาน เหนือ” ภายใต้การนำของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP) จึงประกาศเข้าร่วมกับกองทัพรัฐฉาน “ใต้” (SSA) และสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ที่มี พล.ท.เจ้ายอดศึกเป็นผู้นำ ดังกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท