Skip to main content
sharethis

กก.องค์กรชุมชนฯ ชี้โครงการเสี่ยงก่อปัญหาดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก ต้องให้ผู้ได้รับผลกระทบร่วมกันตัดสินใจ ส่วนคณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จี้ยุติโครงการ แฉไม่ใช่เพื่อตรวจป่า แต่เพื่อแบ่งแยกชุมชน สืบเนื่องจาก กรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชดำเนินการตัดถนนเพื่อกันแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ในพื้นที่ ม.1 และ ม.4 ต.โพรงจระเข้ ม.4 และ ม.8 ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว และ ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง โดยมีระยะทาง 15 กม.กว้าง 5 เมตร โดยในขณะนี้ ดำเนินการไปแล้วระยะทาง 6 กม. วันนี้ (25 พ.ค.54) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “ตัดถนนกันแนวเขตเขาบรรทัด เพื่ออะไร ใครได้-ใครเสีย” ณ บ้านลำขนุน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าว กิจกรรมในงานมีการนำเสนอถึงขั้นตอนการดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย นส.ศยามล ไกยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อโครงการ โดยปลัดอำเภอย่านตาขาวและผู้นำท้องถิ่น ได้แก่ นายประสิทธิ์ สมบัติทอง นายก อบต.นาชุมเห็ด, นายสายันห์ ชูคง สมาชิก อบต.นาชุมเห็ด, กำนัน ต.นาชุมเห็ด และผู้ใหญ่บ้าน ม.8 ต.นาชุมเห็ด รวมทั้งตัวแทนชุมชน และสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จากพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดตรัง นายศุภกร มากสอน กรรมการองค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านลำขนุน กล่าวว่า ชุมชนบ้านลำขนุน และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด คัดค้านโครงการดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าไม่โปร่งใส ไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ไม่มีการจัดเวทีประชาพิจารณ์ ไม่มีการนำมาหารือในเวทีประชาคมหมู่บ้าน และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการ ทั้งที่การตัดถนนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม เรื่องนี้ต้องให้พี่น้องที่ได้รับผลกระทบร่วมกันตัดสินใจ ทั้งคนในพื้นที่ และคนตรัง โดยเฉพาะพี่น้องในพื้นที่ อ.ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน อ.นาโยง อ.เมือง และ อ.กันตัง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ปลายน้ำ “ปี 2550 เคยเกิดน้ำป่าไหลหลากที่นี่ บริเวณน้ำตกสายรุ้งและน้ำตกไพรสวรรค์ มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิต 38 คน เพราะไม่มีหน่วยเตือนภัย แต่ก่อนเคยมี ‘ชมรมรักษ์สายรุ้ง’ คอยดูแลนักท่องเที่ยว แต่ต้องยุบไป เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม มาปีนี้หน่วยงานป่าไม้ยังทำโครงการโดยไม่เห็นหัวคนในชุมชนเหมือนเดิม น่าเป็นห่วงว่าถ้าเกิดน้ำป่าไหลหลากจะทำให้ดินและหินขนาดใหญ่ถล่มลงมาด้วย เพราะมีการใช้รถแทรกเตอร์และรถแบคโฮขุดไถดันทำลายหน้าดินและถมทำลายลำห้วยหลายสาย\ นายศุภกร กล่าว นายสมนึก พุฒนวล คณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวเสริมว่า กรมอุทยานฯ ต้องยุติโครงการนี้ เพราะไม่มีประโยชน์กับชุมชนและสังคม แถมยังเกิดโทษมากมาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดดินและหินถล่ม ซึ่งในบางพื้นที่เป็นดินร่วนปนทรายอันตรายมาก เจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าการตัดถนนนี้จะช่วยรักษาป่าได้ จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย จะเปิดทางสะดวกให้คนทำไม้เถื่อน ในช่วงที่ตัดถนนก็ทำลายต้นไม้ใหญ่ๆ ตามแนวถนนไปมากแล้ว “โครงการนี้เป็นโครงการผลาญงบประมาณ การตัดถนนลำลองเพื่อตรวจป่าเขาไม่ทำกันแบบนี้ แต่นี่เป็นถนนแบ่งแยกชุมชน ไม่ใช่การกันแนวเขตป่า เพราะมันผ่ากลางสวนยาง ผ่ากลางหย่อมป่าหัวสวนของชุมชน ไม่มีการกันแนวเขตตามความเป็นจริง จะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านยิ่งขึ้น ทั้งที่ชาวบ้านพยายามแก้ปัญหาการประกาศเขตป่าทับที่ชุมชนด้วยการทำโฉนดชุมชน โดยบ้านลำขนุนและบ้านลำพิกุลได้รับการพิจารณาให้เป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนแล้ว ส่วนบ้านยูงงามก็อยู่ระหว่างการพิจารณาความพร้อมของพื้นที่ แต่กรมอุทยานฯ กลับมาละเมิดสิทธิชุมชนอีก” นายสมนึก กล่าว ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ค.54 ได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านโครงการต่อ นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และเรียกร้องให้มีคำสั่งเป็นหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการก่อสร้างถนนในพื้นที่ทันที และขอให้จังหวัดชี้แจงรายละเอียดโครงการแก่เครือข่ายฯ เป็นหนังสือภายใน 15 วัน เพื่อให้ชุมชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและกำหนดแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน แต่ในขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานงานจากทางจังหวัดตรังแต่อย่างใด"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net