กสม.แนะ กฟผ.ยุติโครงการแนวสายส่ง น้ำพอง 2 - อุดรธานี 3 รอคดีในชั้นศาลก่อน

“นพ.นิรันดร์” รับลูก ผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงร้องกรรมการสิทธิฯ หวั่นผลกระทบระยะยาวถึงลูกหลาน ชี้ กฟผ.ละเมิดสิทธิ และอาจสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงให้บานปลาย แนะยุติการดำเนินการไปก่อน เมื่อวันที่ 25 พ.ค.54 กลุ่มคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (คชส.) จ.อุดรธานี เจรจาเพื่อหาทางออกกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีคณะกรรมการสิทธิ์มนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นคนกลางเชิญแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน ที่ห้องประชุม กสม. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 สืบเนื่องจากโครงการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลโวลต์ (KV) น้ำพอง 2 - อุดรธานี 3 โดย กฟผ.แต่ในการเข้าดำเนินการในพื้นที่ถูกชาวบ้านเจ้าของที่นาและบรรดาลูกหลานขวางเอาไว้ โดยให้เหตุผลว่าปัจจุบันกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนแนวเสาและสายส่ง แต่ยังไม่มีคำตัดสิน อีกทั้งยังเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของชาวบ้าน ซึ่งจะมีผลกระทบระยะยาวไปจนชั่วลูกหลาน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่า ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้ 1.การดำเนินโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2-อุดรธานี 3 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการและกำหนดแนวสายส่งก่อน หลังจากนั้นจึงดำเนินการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในภายหลัง ซึ่งกระบวนการดำเนินโครงการในลักษณะดังกล่าว เป็นการไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และละเมิดสิทธิด้านข้อมูลข่าวสารและสิทธิชุมชน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นยังพบว่ามีการเปลี่ยนแนวสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้พ้นที่ดินและบ้านเรือนตามอำเภอใจ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติและสร้างความไม่เป็นธรรมแก่กลุ่มประชาชนที่เดือดร้อน 2.หลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนละเมิดสิทธิในทรัพย์สินปราศจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบ และเมื่อเปรียบเทียบกับราคาประเมินที่ดินทั้งในปัจจุบันและอนาคตทำให้ผู้ได้รับผลกระทบสูญเสียสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดิน และสูญเสียมูลค่าที่ดินและทรัพย์สินบนที่ดินที่ถูกเสาไฟฟ้าและแนวสายไฟพาดผ่าน 3.ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนจากโครงการ ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองจังหวัดขอนแก่นเมื่อ พ.ศ.2551 รวมทั้งได้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าการใช้กฎหมายของการไฟฟ้าฉบับดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกลับเดินหน้าดำเนินการตัดฟันต้นไม้ ผลอาสินของประชาชนโดยใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ อส.พร้อมอาวุธครบมือเข้าไปคุ้มครองการดำเนินการตัดฟันรื้อถอน ที่สำคัญไม่รอการพิจารณาของศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากผลการพิจารณาของศาลว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวบ้านได้ 4.วันที่ 5 และวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้นำเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าตำรวจและฝ่ายปกครอง เข้าไปรื้อถอน ทำลายทรัพย์ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน การกระทำดังกล่าวถือเป็นการยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ 5.คณะอนุกรรมการเฉพาะด้านที่ดินและป่าเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดังกล่าวเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินที่ดินของผู้ร้อง และอาจสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงให้บานปลาย จึงมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ นพ.นิรันดร์ ระบุถึงข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1.ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยุติการดำเนินการใดๆ อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ร้องหรือทรัพย์สินของผู้ร้อง จนกว่าคดีในศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญจะถึงที่สุด รวมทั้งยุติการนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองกระทำการใดๆ ในลักษณะเผชิญหน้า ยั่วยุกับกลุ่มผู้ร้อง เพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ 2.ขอให้ศาลปกครอง ควรพิจารณามาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน 3.กฎหมายดังกล่าวนอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีแล้ว ยังมีประชาชนในอีกหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในลักษณะดังกล่าว หากศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญไม่เร่งพิจารณาคดีความให้เป็นที่ยุติ การดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในลักษณะดังกล่าวจะกลายเป็นการขยายความขัดแย้งจากโครงการก่อสร้างแนวสายส่งไฟฟ้าให้ลุกลามไปในอีกหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดน่าน จังหวัดอยุธยา เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท