ศาลสิ่งแวดล้อม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.54 ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมได้เปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลแพ่งอย่างเป็นทางการแล้ว นับว่าเป็นอีกก้าวย่างหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ที่การบริหารจัดการในอำนาจตุลาการจะได้เพิ่มความเชี่ยวชาญทางคดีของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เพื่อตอบสนองความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชนได้ทั่วประเทศ หากมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม แล้วมีผู้เดือดร้อนและเสียหาย จนไม่อาจพึงพาอำนาจทางบริหาร หน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้ การนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม จึงเป็นสิทธิโดยชอบของประชาชนทุกคน ก่อนหน้านี้ “ศาลฎีกา” ได้เปิดให้มีแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกามาก่อนแล้ว อันสืบเนื่องมาจากการประชุมร่วมกันระหว่างผู้แทนจากศาลฎีกาของประเทศต่างๆในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ณ สำนักงานแผนงานสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2546 โดยที่ประชุมได้มีการยอมรับในถ้อยแถลงร่วมกันที่เรียกว่า “Bangkok Statement” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะร่วมมือกันในกิจกรรมและแผนงานต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคคลากรทางด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับภูมิภาคและในระหว่างประเทศต่อไป ในการนี้ สำนักประธานศาลฎีกาจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานวิจัยขึ้นทำการศึกษาและวิเคราะห์คดีสิ่งแวดล้อมในทุกระดับชั้นของศาลยุติธรรม เพื่อหาแนวทางกำหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนาประสิทธิภาพของผู้พิพากษาและบุคคลากรของศาลยุติธรรม ให้มีความรู้ความชำนาญทางด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม และเพื่อปรับบทบาทของศาลยุติธรรมในการทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริงในปัจจุบัน โดยในระยะเริ่มแรก ได้มีการจัดตั้ง “แผนกคดีสิ่งแวดล้อม” (Green Bench) ขึ้นก่อนในศาลฎีกา เพื่อจะให้คำพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมของศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐาน หรือเป็นแนวทางให้การตัดสินคดีสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่ลักลั่น และเป็นแนวทางเดียวกันในทุกชั้นศาล ได้แก่ ศาลชั้นรองลงไป คือ ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น และระยะต่อๆ มาก็ขยายแผนกคดีสิ่งแวดล้อมลงไปสู่ศาลอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์กลาง เพื่อที่จะแก้ปัญหาคดีสิ่งแวดล้อมที่ขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทุกแห่งทั่วประเทศด้วยการใช้อำนาจของประธานศาลอุทธรณ์กลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาคที่จะสั่งโอนคดีพิเศษบางเรื่องบางประเภทเข้ามาอยู่ในอำนาจศาลอุทธรณ์กลางได้ ต่อจากนั้นจึงค่อย ๆ ขยับขยายมาจัดตั้งขึ้นที่ศาลชั้นต้นในช่วงเวลาดังกล่าว โดยให้สิทธิแก่ประชาชนที่จะยื่นฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมได้ที่ศาลแพ่งหรือศาลอาญาหรือศาลจังหวัด คดีสิ่งแวดล้อม นั้นหมายถึง คดีอาญาและคดีแพ่งที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามกลุ่มกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติและมลพิษ รวมทั้งคดีที่ประธานศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เป็นคดีสิ่งแวดล้อม ตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 30/2547 โดยกลุ่มกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติและด้านมลพิษนั้นมีทั้งหมดประมาณ 24 ฉบับด้วยกัน (ดูรายละเอียดได้ใน www.thaisgwa.com) ในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ต้องมีการค้นหาความจริงโดยการเดินเผชิญสืบ ซึ่งเป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดความชัดเจนในข้อเท็จจริง เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมบางเรื่องอาจไม่สามารถพิจารณาได้จากพยานเอกสารหรือพยานบุคคล แต่เป็นเรื่องที่ต้องประจักษ์ด้วยสายตาตนเอง เช่น ปัญหาในเรื่องกลิ่น ปัญหาสภาพน้ำที่เน่าเสีย เป็นต้น ส่วนในการใช้ดุลพินิจในคดสิ่งแวดล้อม ควรคำนึงถึงสิทธิของประชาชนที่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ และการลงโทษควรคำนึงถึงค่าสินไหมทดแทนในเชิงลงโทษหรือค่าเสียหายในเชิงลงโทษ (Punitive Damages) มาใช้ในคดีสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้น ประธานฎีกาในขณะนั้น จึงเห็นสมควรให้ตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม(ภายใน) ในศาลฎีกา (คำสั่งศาลฎีกาที่ 30/2547) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา หลังจากนั้นคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม(กบศ.) มีมติให้มีการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นอย่างเป็นทางการในศาลฎีกา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2548 โดยแผนกชำนัญพิเศษดังกล่าวประกอบด้วยประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อม เลขนุการแผนกคดีสิ่งแวดล้อม และองค์คณะผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมจำนวน 8 คน แผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกามีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา โดยมีอำนาจในการวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และคำวินิจฉัยชี้ขาดในคดีสิ่งแวดล้อมทุกเรื่องจะเข้าสู่การพิจาณาของที่ประชุมแผนกคดีสิ่งแวดล้อม แผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกาที่จัดตั้งขึ้นมานั้น มีเป้าหมายสำคัญคือการพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคดีสิ่งแวดล้อมที่เข้าสู่ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามกลุ่มกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติและมลพิษ รวมทั้งคดีที่ประธานศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เป็นคดีสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ประธานศาลฎีกา และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมจึงให้มีการจัดสรรทุนของสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อคัดเลือกข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมไปฝึกอบรมหลักสูตรการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 45 คน แบ่งเป็นผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกา จำนวน 8 ทุน ผู้พิพากษาชั้นศาลอุทธรณ์จำนวน 12 ทุน และผู้พิพากษาศาลชั้นต้น จำนวน 20 ทุน และผู้พิพากษาอาวุโสจำนวน 5 ทุน อันเป็นการเสริมสร้างความรู้ในแก่ผู้พิพากษาทุกระดับชั้นศาล ให้มีความรู้ความสามารถในคดีสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ถือว่ากระบวนการในศาลยุติธรรมได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว และเป็นส่วนสำคัญในการร่วมแก้วิกฤตโลกร้อนด้วย ในกระบวนการยุติธรรมนั้นนอกจากศาลจะได้มีการพัฒนาผู้พิพากษาให้มีความรู้ความเข้าใจด้านคดีสิ่งแวดล้อมแล้ว ในส่วนผู้ที่ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย โดยเฉพาะ “ทนายความ” ก็ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการดำเนินกระบวนการช่วยเหลือประชาชนทางคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นมาด้วย โดย “สภาทนายความ” ในฐานะองค์กรทางกฎหมายที่ผลิตทนายความขึ้นมาช่วยเหลือประชาชนได้มีโครงการฝึกอบรม “หลักสูตรทนายความสิ่งแวดล้อม” ขึ้นมาด้วย โดยความรับผิดชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ ปัจจุบันฝึกอบรมได้ไปกว่า 5 รุ่นแล้ว ได้ทนายความรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถในการทำงานคดีสิ่งแวดล้อมแล้วมากกว่า 500 คน ซึ่งได้กระจายไปอยู่ในองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และทำงานอิสระเพื่อช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายอีกมากมาย บัดนี้ กระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมปรากฏโครงสร้างขึ้นค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม นายทุนที่มุ่งเน้นแต่ตักตวงประโยชน์และผลกำไรเป็นตัวตั้ง ต้องทบทวนการกระทำของตนและเพิ่มความระมัดระวังให้จงดี เพราะต่อไปนี้สิทธิของประชาชนทางด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ได้มีองค์กร หรือแผนก หรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถโดยตรงเข้ามาปกป้องสิทธิของประชาชนอย่างสมบูรณ์แล้ว ก้าวต่อไปก็หวังรอแต่เพียงคำพิพากษาของศาลเท่านั้นว่า จะคุ้มครองประชาชนได้จริงหรือไม่เท่านั้น...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท