รวมตัว “แรงงานไทย-ข้ามชาติ” ต้องจัดการศึกษาเรื่องสหภาพแรงงานอย่างทั่วถึง

องค์กรแรงงานเผย หากจะกระตุ้นให้แรงงานไทย-ข้ามชาติรวมตัวมากขึ้น สหภาพแรงงานต้อง จัดการศึกษาอย่างทั่วถึง ในประเด็นสิทธิแรงงาน กฎหมายแรงงาน กระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรม ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานและทุน ระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น 27 พ.ค. 54 - โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยเผยแพร่รายงานสรุปบทเรียน “แรงงานข้ามชาติกับการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน: กรณีศึกษา 7 สหภาพแรงงาน” เพื่อเป็นการสำรวจหาโอกาส-อุปสรรค รวมถึงข้อเสนอแนะต่อการทำกิจกรรมสหภาพร่วมกันระหว่างแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ โดยได้ทำการสัมภาษณ์นักสหภาพแรงงานที่ทำงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ สมุทรปราการ รังสิต และอยุธยา จำนวน 7 สหภาพแรงงาน ซึ่งย่านดังกล่าวล้วนมีการจ้างแรงงานข้ามชาติจริง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมผลิตอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ ตัดเย็บ อีกทั้งมีการรวมตัวของสหภาพแรงงานที่ยังดำเนินงานช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้พบปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการรวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติกับสหภาพแรงงานไทย คือ ความเข้าใจของผู้นำแรงงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ และสำนึกของการปกป้องสิทธิแรงงาน โดยไม่คำนึงเรื่องเชื้อชาติ การเปิดช่องทางการสื่อสารปัญหาแรงงานข้ามชาติ เช่น การรับเรื่องร้องทุกข์ การเปิดข้อบังคับให้สมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทยได้ การเดินไถ่ถามดูแลทุกข์สุขของแรงงานข้ามชาติ การเชื่อมความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติ เช่น กิจกรรมการสอนภาษาไทย การแข่งกีฬาภายใน การช่วยเหลือเรื่องความเป็นอยู่ทั่วๆ ไป ปัจจัยภายนอก คือ สถานการณ์แรงงานทั่วไป ที่ทำให้ผู้นำแรงงานและสมาชิกสหภาพต้องติดตามและเรียนรู้บทเรียนจากการต่อสู้ การคัดค้านการละเมิดสิทธิของนายจ้างจากอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อปรับเปลี่ยนท่าทีการทำงาน โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งของชนชั้นแรงงาน ให้มีมาตรฐานแรงงานเท่าเทียมกัน ด้านปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการรวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติ รายงานระบุว่าเมื่อสอบถามถึงการทำงานของสหภาพแรงงาน และความเข้มแข็งของสหภาพ พบว่าเป็นปัจจัยหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่แรงงานข้ามชาติด้วยเช่นกัน กล่าวคือ หากการทำงานของนักสหภาพแรงงานเป็นไปอย่างเข้มข้น และต่อเนื่อง ดูแลสมาชิกที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างทั่วถึง ให้การศึกษาแก่สมาชิกเกี่ยวกับสิทธิของตนเอง ก็จะสามารถนำไปสู่การดูแลและเข้าถึงคนงานข้ามชาติได้ แต่ปัจจุบันจะเห็นว่า สหภาพแรงงานบางแห่งอ่อนแอลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง จากการปิดโรงงานบางสาขา ทำให้จำนวนสมาชิกลดจำนวนลง และไม่มีสมาชิกสมัครเข้ามาเพิ่ม และทำให้สัดส่วนของจำนวนกรรมการสหภาพลดลงเช่นกัน ทำให้ดูแลสมาชิกไม่ทั่วถึง บางแห่งถึงกับถูกนายจ้างลดสวัสดิการลง คือ ลดโบนัสลง 50% บางแห่งกรรมการสหภาพถูกฝ่ายนายจ้างกลั่นแกล้ง และบางแห่งดำเนินกิจการสหภาพเพื่อให้สหภาพอยู่รอดต่อไป โดยยังไม่กล้าที่จะแตกหัก หรือเรียกร้องตามอัตวิสัยของตนเองมากนัก มีลักษณะที่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เพราะอำนาจต่อรองของสมาชิกอ่อนแอลงนั่นเอง อีกเงื่อนไขหนึ่งคือ โครงสร้างการจ้างงานของระบบทุนอุตสาหกรรมที่ไม่เอื้ออำนวย อีกทั้งกฎหมายมีช่องว่าง ขาดการบังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างจริงจัง ทำให้มีการเอารัดเอาเปรียบคนงานไทยและคนงานข้ามชาติอยู่เป็นประจำ เช่น ในงานที่เสี่ยงอันตราย มีการจ้างคนงานข้ามชาติเข้ามาทดแทนแรงงานไทยเนื่องจากให้ค่าแรงและสวัสดิการไม่คุ้มค่า และไม่มีการปรับปรุงสภาพการทำงานให้ปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ นายจ้างไม่สำนึกในความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานข้ามชาติที่กำลังเผชิญกับงานหนักและทำงานยาวนาน การมีระบบนายหน้าจัดหางานและรับคนงานข้ามชาติเข้ามาในไทยโดยให้เอกชนเข้ามาทำอย่างเสรี แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่ดูแลจัดระเบียบ ปล่อยให้มีการเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ เช่น กินค่าหัวคิวแพงเกินไป การยึดบัตรประจำตัวคนงาน การข่มขู่ว่าจะส่งตำรวจ เป็นต้น การจ้างงานชั่วคราวทำให้คนงานข้ามชาติรู้สึกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องต่อสู้ต่อต้านการกระทำที่ไม่เป็นธรรม โครงสร้างของการจ้างงานดังกล่าวจึงเปิดช่องให้มีการแสวงหากำไรจากคนงานข้ามชาติ และทำให้คนงานอ่อนแอได้ในที่สุด ในด้านข้อเสนอแนะ รายงานระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่ในระดับไม่เป็นทางการมากกว่าทางการ การเปิดรับสมัครสมาชิกสหภาพแรงงานก็มีขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการรวมตัวแรงงานข้ามชาติให้มีอำนาจต่อรองอย่างเข้มแข็ง ทำให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงานจึงยังไม่ทั่วถึง ครอบคลุมทุกเรื่อง ซึ่งต้องมีการพัฒนาต่อไป ข้อเสนอแนะในการศึกษานี้คือ หากจะมีการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติเพื่อให้เกิดการรวมตัวมากขึ้น ต้องมีการพัฒนาสหภาพแรงงานให้เข้มแข็งพร้อมๆ กัน ต้องมีการพบปะเสวนาระหว่างสมาชิก จัดการศึกษาให้สมาชิกอย่างทั่วถึง ในประเด็นสิทธิแรงงาน กฎหมายแรงงาน กระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรม ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานและทุน ระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท