Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ลองจินตนาการถึงภาพตัวเองนั่งอยู่เบื้องหน้านายแพทย์ซักคน แล้วหมอก็พูดขึ้นว่า “ทำใจดี ๆ นะครับ คุณเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย หนทางรักษาให้หายขาดนั้นไม่มี ทำได้เพียงประคับประคองอาการไว้ให้นานที่สุด” แม้คุณจะเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ที่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลในประเทศนี้อย่างสมบูรณ์ แต่กระบวนการที่จะได้สิทธินั้นต้องมีขั้นตอนดังนี้ - ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายยื่นบัตรทอง พร้อมกับบัตรประจำตัวประชาชน แจ้งความจำนงเพื่อขอใช้สิทธิรับบริการทดแทนไต ที่โรงพยาบาลที่ระบุในบัตรทอง - รายชื่อของผู้ป่วย ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลที่ร่วมบริการทดแทนไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อเสนอข้อบ่งชี้ในการบริการต่อคณะกรรมการพิจารณาบริการทดแทนไตฯ ระดับจังหวัด - ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณา บริการทดแทนไตฯ ระดับจังหวัด จะได้รับการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยในระบบ - ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะได้รับการแจ้งกลับจากโรงพยาบาลที่ระบุในบัตรทอง เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการบริการ ณ โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จากนั้นคุณจะได้รับการบริการจากโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ จนกว่าจะถึงวันสุดท้ายของชีวิต แต่หากคุณเป็นบุคคลที่ไม่ใช่คนสัญชาติไทย โอกาสการเข้าถึงบริการดังกล่าวคงเป็นไปได้ยาก เช่นเดียวกับกรณีของนางชิชะพอ ชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) อายุ 48 ปี เป็นบุคคลอยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อจัดทำเบียนบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เกิดที่บ้านกะลิคี ประเทศพม่า เข้ามาประเทศไทยทางด่านเปิ่งเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง ตอนอายุ 17 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านสามัคคี ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง นางชิชะพอเริ่มเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอุ้มผางเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552 ด้วยอาการซีด เข้ารับการเจาะเลือด แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรค Anemia จึงรับยาและเจาะเลือดซ้ำเรื่อยมา จนเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 แพทย์ได้วินิจฉัยเพิ่มเติมว่าเป็นโรคไตระยะสุดท้าย End-stage renal disease (ESRD) เข้ารับการรักษาทั้งที่เป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเป็นระยะระยะ 19 มีนาคม 2554 นางชิชะพอเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน และอายุรแพทย์ประจำโรงพยาบาลอุ้มผาง ให้ความเห็นว่าควรได้รับการฟอกล้างไตเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย แต่เมื่อทำการเช็คสิทธิในการรักษา ปรากฏว่า นางชิชะพอไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลจากกองทุนใด ๆ แพทย์จึงทำได้เพียงให้การรักษาทางยาเท่านั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2554 นางชิชะพอ ถูกรับตัวเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลอุ้มผางอีกครั้งด้วยอาการเหนื่อยง่าย ครั้งนี้อาการของนางชิชะพอไม่ทุเลาลง แพทย์ตัดสินใจส่งตัวไปรักษาต่อกับนายแพทย์พิสิฐ ลิมปธนโชติ แพทย์เฉพาะทางประจำหน่วยไตเทียมของโรงพยาบาลแม่สอด ในวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2554 และได้ทำการเจาะหน้าท้องเพื่อทำการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis หรือ CAPD) เป็นวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการยอมรับวิธีหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสามารถทำได้ด้วยตนเอง และในช่วงเวลาที่น้ำยาอยู่ในช่องท้องสามารถทำงานได้ตามปกติ โดยผู้ป่วยปกติใช้เวลาปล่อยน้ำยาเข้าออกรอบละ 30-45 นาที และต้องดำเนินการวันละ 4 รอบ รอบละ 4-8 ชั่วโมง ซึ่งวิธีการนี้ ผู้ป่วยไม่ต้องระวังเรื่องการรับประทานอาหารมากจนหมดความสุข อีกทั้ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความสดชื่น เนื่องจากการล้างไตทางช่องท้องเป็นการถ่ายของเสียออกจากร่างกายทุกวัน วันละประมาณ 4 ครั้ง ของเสียจึงไม่ตกค้างในร่างกายนาน หลังจากอาการของนางชิชะพอคงที่แล้ว แพทย์วางแผนจะเจาะเส้นเลือดบริเวณต้นคอเพื่อฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis-HD) ซึ่งต้องเดินทางมารับ บริการฟอกเลือดที่หน่วยบริการที่มีเครื่องไตเทียมและแพทย์โรคไต สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งๆ ละ 4-5 ชั่วโมง ในส่วนของค่าใช้จ่ายการเจาะหน้าท้องและเส้นเลือด ทางโรงพยาบาลแม่สอดแจ้งว่า ไม่สามารถให้การอนุเคราะห์ผู้ป่วยกรณีนางชิชะพอได้ ทางโรงพยาบาลอุ้มผาง จึงยินยอมรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยให้เป็นหนี้สิ้นเรียกเก็บมายังโรงพยาบาลแต่ด้วยภาระปัจจุบันของโรงพยาบาลอุ้มผางจึงยังไม่สามารถชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมถึงค่าใช้จ่ายที่กำลังจะเกิดขึ้น ราวสามแสนบาทต่อปี หนทางรอดของนางชิชะพอจึงเลือนรางเหมือนแสงสว่างที่รออยู่ปลายอุโมงค์ที่มืดมิด แต่กว่าจะถึงวันนั้น แสงจากคบเพลิงที่ผู้คนจะยื่นมือมาช่วยนับเป็นกำลังใจอันสำคัญที่จะทำให้เธอก้าวไปจนถึงแสงนั้นได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net