คอป.จัดเสวนาก่อนเลือกตั้ง ไม่เห็นด้วยนิรโทษกรรม ดันทุกพรรคประกาศรูปธรรม “ปรองดอง”

คอป.จับมือไทยพีบีเอส ร่วมจัดเสวนาแนวทางพรรคการเมืองในการก้าวข้ามความขัดแย้งหลังเลือกตั้ง นำเสนอข้อเสนอ 8 ข้อ พร้อมเปิดเวทีวิพากษ์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ – สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ชวนสื่อถามทุกพรรคถึงปัญหาสำคัญของการเมืองไทย รูปธรรมการปรองดอง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปัญหากฎหมายมาตรา 112 30 พ.ค.54 ที่โรงแรมสยามซิตี้ มีการจัดเสวนา “แนวทางของพรรคการเมืองในการนำประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งหลังการเลือกตั้ง” โดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) พร้อมทั้งมีการนำเสนอข้อเสนอของ คอป.ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง พร้อมแจกรายงานความคืบหน้าการทำงานของ ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการทำงานระหว่างวันที่ 17 ก.ค.53 – 16 ม.ค.54 ในเวทีมีการนำเสนอข้อเสนอแนะของ คอป.โดยตัวแทนคณะกรรมการคือ ดร.กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ และนายสมชาย หอมลออ กรรมการคอป. และมีการวิพากษ์ข้อเสนอ คอป. โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, สุรเกียรติ เสถียรไทย และพล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผู้สังเกตการณ์จากสถานทูตหรือองค์กรระหว่างประเทศด้วย ทั้งนี้ ครม.รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติเห็นชอบในหลักการให้มี คอป. เมื่อ 8 มิ.ย.53 และตั้ง คณิต ณ นคร เป็นประธาน โดยให้ประธานไปสรรหากรรมการที่เหลือ กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี และต้องจัดทำรายงานความคืบหน้าทุก 6 เดือน ที่ผ่านมามีการตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ 5 คณะ ได้รับจัดสรรงบเบื้องต้น 32 ล้านบาท 6 เดือน คอป.ได้จัดทำข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีแล้ว 2 ครั้ง สำหรับงานเสวนาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะ 8 ข้อ ได้แก่ 1.ทุกฝ่ายควรตระหนักว่ารากเหง้าของปัญหาครั้งนี้หยั่งรากลึกถึงระดับโครงสร้างทางสังคมและโครงสร้างทางการเมือง ควรหาทางออกด้วยการรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย 2.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญสูงสุดกับการทำการเลือกตั้งให้ปราศจากความรุนแรงและเป็นกลางอย่างแท้จริง และขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคประกาศจุดยืนที่ชัดเจนก่อนการเลือกตั้งถึงกระบวนการที่เป็นรูปธรรมในการนำชาติบ้านเมืองก้าวข้ามความขัดแย้ง 3. การเสนอให้มีการนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องในสถานการณ์ความรุนแรงทั้งที่เกิดความสูญเสียอย่างมากก็ดี การดำเนินการกับผู้ชุมนุมโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัดโดยไม่คำนึงถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่นำมาสู่ปัญหาการชุมนุมก็ดี ล้วนไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ทางที่ดีที่สุด คือให้สังคมทราบความจริงของสภาพปัญหาและให้ความสำคัญกับการนำหลักยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาใช้ เป็นกลไกเสริมกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก 4.รัฐบาลและผู้มีส่วนกี่ยวข้องพึงใช้กฎหมายอย่างระมัดระวัง ไม่ตั้งข้อหาเกินสมควร คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกฝ่าย 5. ทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องมีความระมัดระวังและแสดงให้เห็นถึงการวางตัวเป็นกลาง 6. ทุกฝ่ายควรแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง และหน่วยงานรัฐพึงระวังการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในห้วงเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูงเช่นนี้ 7. สื่อทุกแขนงต้องระวังและมีความรับผิดชอบในการเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชน 8. รัฐบาลควรสนับสนุนและส่งเสริมการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง นายสมชาย หอมลออ กล่าวว่า พรรคการเมืองควรมีนโนบายที่ชัดเจนเรื่องแนวทางการนำไปสู่ความปรองดอง และเชื่อว่าความปรองดองจะไม่เกิดขึ้นหากขาด 3 สิ่ง คือความจริงของสถานการณ์ ความยุติธรรม และการแก้ไขปรับปรุงสภาพโครงสร้างทางการเมืองในปัจจุบันตั้งแต่แนวคิดนิยามการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเพื่อหามติร่วม เพราะความแตกต่างอย่างที่เป็นอยู่ยากจะนำไปสู่การปรองดอง รวมถึงการตอบคำถามเกี่ยวกับบทบาทที่เหมาะสมของกองทัพ โครงสร้างองค์กรอิสระ รัฐสภา “ผมไม่เชื่อว่าจะมีใครอยากจะก้าวผ่านไปสู่การปกครองที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพียงแต่มีการนิยาม และความเข้าใจที่แตกต่างกันเท่านั้น” สมชายกล่าว ขณะเดียวกันในส่วนของภาคประชาสังคมก็ต้องหาจุดลงตัวใหม่ในหลายเรื่อง เช่น เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพสื่อ เพราะต้องยอมรับว่าเสรีภาพเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในสาเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น “ถ้าไม่ปฏิรูปอาจนำไปสู่การปฏิวัติ ที่เป็นความขัดแย้งกันรุนแรง ในสถานการณ์ของการเลือกตั้ง ปัญหาเหล่านี้แบอยู่ตรงหน้า และต้องการคำตอบของพรรคการเมือง รวมถึงผู้มีสิทธิลงคะแนน” สมชายกล่าว ในส่วนของผู้วิพากษ์รายงาน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เข้าใจว่าโจทย์ของ คอป.ในเวทีนี้คือ ต้องการยกระดับการสนทนาเรื่อง “การปรองดอง” ในสังคมไทยให้ดีขึ้น จากที่ผ่านมาทุกฝ่ายก็พูดเรื่องนี้กันทั้งหมด ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า หากดูข้อเสนอของ คอป. จะพบว่าเป็น ข้อเสนอทางกฎหมาย 4 ข้อ ซึ่งนำไปสู่ข้อสังเกตว่าอาจจำเป็นต้องพูดเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หากพรรคการเมืองพูดเรื่องการปรองดอง สื่อก็น่าจะถามนโยบายที่เป็นรูปธรรมของพรรคเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เช่น ถามแนวทางของพรรคต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย มาตรา 112 ชัยวัฒน์กล่าวด้วยว่า หากกล่าวถึง “การปรองดอง” มีคำถามน่าสนใจอยู่ 3 ข้อ ประการแรกคือ อะไรคือสมมติฐานของการปรองดอง เมื่อคิดถึงเรื่องนี้มักมีฐานคิดว่า 1.มีความสามารถที่จะฟื้นคืนชีวิตทางการเมืองของตัวเองได้ แต่ถามว่าสังคมไทยมีความสามารถนี้หรือไม่ ไม่รู้ 2.ตัวอย่างหลายประเทศเวลาตั้งคณะกรรมการปรองดอง ส่วนมากทำหลังจากความขัดแย้งจบไปแล้ว ของไทยตั้ง “ท่ามกลาง” ความแตกแยก 3. วางอนาคตร่วมกัน สังคมไทยตอนนี้คิดถึงอนาคตต่างกัน เรามาถึงจุดนี้แล้วและไม่น่าจะหลอกตัวเองว่ามันยังเหมือนเดิม ประการที่สอง สมมติฐานเกี่ยวกับ “การลืม” และ “การจำ” การปรองดองอาจมีการใช้การลืมในบางลักษณะก็เป็นได้ เพราะการลืมอาจสำคัญต่อการดำเนินไปของความสัมพันธ์ แต่ถ้าพูดถึงการให้อภัยจะต้อง “จำ” เท่านั้น โดยชัยวัฒน์ขยายความว่า การลืมอาจไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด มีนักทฤษฎีแยกการลืมออกเป็น 7 ประเภท เช่น การลืมและลบทิ้ง ซึ่งมักทำในรัฐบาลเผด็จการ, การออกแบบให้ลืม ลืมเพื่อประโยชน์ของคนทั้งหลาย, ลืมบางอย่างที่มีผลต่ออัตลักษณ์ของเรา, ลืมเพราะข้อมูลมากเกินไป เป็นต้น แล้วรัฐบาลส่วนใหญ่ทำอย่างไร บางประเทศบอกว่าไม่เคยเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ในไทยนั้นทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น บางประเทศก็เล่นงานเหยื่อ สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง หรือบอกว่าเป็นปัญหาของบางคนไม่ใช่ทุกคน หรือลืมเพื่อเดินหน้า ฯลฯ ประการที่สาม สมมติฐานเกี่ยวกับ “การเลือกตั้ง” บางคนเชื่อว่าเหมือนครั้งอื่น บางคนเชื่อว่าไม่เหมือนครั้งใดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ซึ่งสมมติฐานที่ต่างกันนี้นำสู่วิธีคิดเกี่ยวกับการปรองดองที่ไม่เหมือนกัน โดยสรุป ปัญหาของการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่ส่วนของพรรคการเมืองเท่าไร แต่คือพลังที่อยู่นอกการเมืองระบบเลือกตั้ง และอาจมีผลหลังการเลือกตั้ง ซึ่งอาจนำมาซึ่งความรุนแรง สิ่งสำคัญคือพรรคการเมืองคิดกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร สื่อมวลชนน่าจะตั้งคำถามเหล่านี้กับแต่ละพรรค “เราควรหาโจทย์หลักของสังคมไทยมาคุยกัน บางเรื่องคุยได้ในสาธารณะ บางเรื่องไม่ได้ แต่อย่างไรมันก็ต้องคุยกัน” ชัยวัฒน์กล่าว สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กล่าวถึงความสำคัญของการปรองดองในเวลานี้ว่า เป็นเพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาทางการเมืองที่ต้องแก้ด้วยการเมือง การเลือกตั้งจึงเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ แต่การเลือกตั้งอย่างเดียก็ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ซับซ้อน ต้องเป็นการเลือกตั้งที่นำไปสู่การปรองดอง ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ คอป.จะเสนอให้ทุกส่วนทั้งพรรคการเมือง สื่อ พูดเรื่องการปรองดองลงลึกในรายละเอียดที่แตกต่าง สุรเกียรติ์ กล่าวอีกว่ารากเหง้าของปัญหามี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือสถาบันกษัตริย์ ซึ่งที่ผ่านมามีการโจมตีใส่ความจาบจ้วงมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม นำสู่การตอบโต้หลายรูปแบบทั้งการเปลี่ยนรัฐบาลโดยการรัฐประหาร หรือการใช้กฎหมายมาตรา 112 ซึ่งมีการวิจารณ์เยอะว่าใช้โดยไม่แยกแยะคนที่จงรักภักดี เรื่องที่สองคือ เรื่องการใช้กฎหมายหรือการดำเนินกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน จากที่คนเพียงรู้สึกก็เริ่มเห็นชัดเจนขึ้น จนตอนนี้มีความเห็นที่แตกแยกกันเลยว่า อะไรคือ ความยุติธรรม กฎหมาย หรือความถูกต้อง รากเหง้าทั้งสองเรื่องนี้นำสู่ความขัดแย้งที่ยากจะพูดกันได้ สุรเกียรติ์ พูดถึงข้อเสนอว่า ควรเทิดทูนสถาบันให้อยู่เหนือการเมือง และหยุดอ้าถึงไม่ว่าจะทางใด ทั้งพวกล้มสถาบันซึ่งเป็นส่วนน้อย รวมถึงการอ้าง “สัญญาณ” จากเบื้องบน นักการเมืองและสังคมไทยควรจะโตเสียที ส่วนการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งหลายฝ่ายรู้สึกว่าเหวี่ยงแหนั้นต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง แต่ผู้ผิดจริงก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ที่ว่าประชาชนไม่ได้รับรู้รับฟังว่าเขาผิดอย่างไร พูดอะไร เสียหายอย่างไร การดำเนินการควรให้ประชาชนได้รับทราบด้วย เพื่อลบล้างคำกล่าวหาว่ารัฐใช้อย่างเหวี่ยงแห ทั้งนี้ สุรกียรติ์ ได้หยิบยกพระราชดำรัสของในหลวงที่ทรงเคยรับสั่งไว้ว่าไม่เห็นด้วยกับหลักการ The king can do no wrong ด้วย นอกจากนี้เขายังเห็นด้วยกับการการใช้กระบวนการยุติธรรมแบบพิเศษเพื่อจัดการกับความผิดเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งหลายประเทศแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยเส้นทางนี้ บางประเทศใช้ผสมผสานกับกฎหมายอาญา เขายังเสนอว่า สื่อมวลชนควรไปถามพรรคการเมืองต่างๆ ถึงนิยามและแนวทางรูปธรรมของการปรองดอง และคอป.ควรเป็นแกนกลางให้ทุกฝ่ายได้มาหารือร่วมกัน แม้จะจำกัดความเรื่องนี้ต่างกันก็ตาม “ความสำเร็จของการปรองดอง คือ จะต้องไม่มีเงื่อนไขใดๆ ก่อนการพูดคุยจะเกิดขึ้น ไม่มีคำว่า “ถ้า” ต่อท้าย การตั้งเงื่อนไขก่อนการปรองดอง คือ ไม่ต้องการปรองดอง อย่างไรขอให้มาพูดคุยกันก่อน” สุรเกียรติ์กล่าวและว่าสิ่งที่ต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้นคือ การชูประเด็นเรื่องการปรองดองมาโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าแนวทางของฝ่ายตนนั้นถูกต้องกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท