"สุภิญญา" รับผิดคำพูดจริงกรณีสมัคร กสทช. ยันไร้ประโยชน์ทับซ้อน

สุภิญญาทวีต รับผิดคำพูด-ผิดมารยาทที่สุดท้ายอยากเป็น กสทช. ปัดข้อครหา "ผลประโยชน์ทับซ้อน" แจงร่างกฎหมายแล้วสมัครเป็น กสทช.เองเป็นตรรกะเดียวกับที่ ส.ส.ร่างกฏหมายเลือกตั้ง แล้วไปลงสมัครเลือกตั้ง

 


สุภิญญา ทวีตผ่าน @supinya

วันนี้ (6 มิ.ย.54) เวลา 17.45น. สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ในฐานะ 1 ใน 22 ผู้สมัครชิงตำแหน่ง กสทช.(ผ่านกรรมการสรรหา) ทวีตผ่านทวิตเตอร์แอคเคาน์ @supinya ชี้ แจงกรณีมีผู้ตั้งคำถาม "ทำไมถึงลงสมัคร กสทช. ผิดมารยาท ผิดคำพูด ผิดผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่" โดยตอบคำถามที่ว่า คุณเคยพูดไว้ว่าจะไม่สมัครเป็น กสทช. ว่า ใช่ เคยพูดจริง แต่ก็เปลี่ยนใจมาสมัครในที่สุด เสียใจที่ผิดคำพูดที่เคยพูดไว้

ส่วนที่มีคำถามว่าคิดว่ามันผิดมารยาทไหม ตอบว่า ตัวเองก็ยอมรับว่าผิดมารยาท พร้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้เต็มๆ

ต่อคำถามว่า คิดว่ามีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะเป็นเอ็นจีโอเคยไปร่วมร่าง พรบ. กสทช. สุภิญญาตอบว่า ไม่ยอมรับเรื่องนี้ เพราะ

"3.1 เอ็นจีโอ เหมือนกับกลุ่มอื่นๆ ที่เข้าไปผลักดันกฏหมายแต่ก็เราไม่ได้ทุกประเด็นที่เราต้องการ คนตัดสินสุดท้ายคือสภา ส.ส. และ ส.ว.

3.2 การแข่งขัน กสทช. ครั้งนี้ไม่ได้เปิดให้เฉพาะบุคลลใด ทุกคนมีสิทธิสมัครเป็นได้ตามกระบวนการแข่งขัน ไม่มีใครได้เป็นโดยอัตโนมัติ

3.3 ในการแข่งขันรอบนี้มีอดีตคนเคยร่าง กม. พ.ร.บ. กสทช. เท่าที่รู้ประมาณ 5 คน สมัครรวมอดีต ส.ว. ด้วย ไม่พบข้อวิจารณ์คนอื่นๆ เรื่องนี้

3.4 ในจำนวน 5 คนที่มีส่วนร่วมร่าง พ.ร.บ.กสทช.ที่มาสมัครรอบนี้ มีทั้งคนเข้ารอบและตกรอบ ท่านหนึ่งที่ตกรอบยังไปฟ้องศาลปกครอง และศาลก็รับฟ้อง

3.5 ถ้าศาลตัดสินเป็นประโยชน์กับท่านนั้น เค้าก็จะได้รับเลือกกลับเข้ารอบตามกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าท่านนั้นจะมีส่วนร่าง พ.ร.บ.กสทช.มาก่อน"

โดยนอกจากมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.กสทช.แล้ว ท่านนั้นก็ยังเป็นอดีตเลขา กทช. และเป็น กทช. ปัจจุบันด้วย ศาลจะตัดสินคดีท่านนี้อีก 2 อาทิตย์

สุภิญญา ระบุว่า เรื่องนี้เช่นเดียวกับกรณีของ ส.ส. ที่เพิ่งผ่านกฏหมายว่าด้วยการเลือกตั้งไป จากนั้นก็ยุบสภามีการเลือกตั้ง ส.ส.ส่วนใหญ่ที่ร่าง กม.ก็ลงเลือกตั้ง แม้ว่า ส.ส. เหล่านั้นจะร่าง และผ่านกฏหมายเลือกตั้ง ก็ไม่ได้มีหลักประกันว่า ส.ส.เหล่านั้นจะได้รับเลือกตั้งกลับมาใหม่ทั้งหมด มันจึงไม่ได้เป็นประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนโดยตัวของมันเอง ไม่เช่นนั้นเราต้องให้คนอื่นที่ไม่ใช่นักการเมืองมาร่าง กม.เลือกตั้งหรือ

เธอระบุว่า เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. กสทช.ที่สุดท้าย คนผ่าน กม.ก็คือ ส.ส. และ ส.ว. แต่ก็ไม่ได้ห้าม ไม่ให้ ส.ว. หรือ ส.ส. เหล่านั้นลงสมัคร

"ใช่มันเป็นเรื่องมารยาทซึ่งผู้เขียนก็ยอมรับในเรื่องนี้ แม้ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ก็ผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ยอมรับเรื่องประโยชน์ทับซ้อน เพราะผู้เขียนไม่ได้มีพ่อ แม่ หรือครอบครัวที่ถือหุ้นในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำหน้าที่ กสทช.ได้

"ผู้เขียนไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับบรรษัทด้านสื่อและโทรคมนาคม ที่จะทำให้เกิดความไม่เป็นอิสระหรือผลประโยชน์ขัดกันในการทำหน้าที่ได้ ผู้เขียนไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ ที่จะทำให้เกิดความไม่เป็นอิสระในการทำหน้าที่หรือมีประโยชน์ทับซ้อนในการทำ หน้าที่ กสทช.ในอนาคต

"จริงอยู่ กม.นี้ออกแบบกีดกันคนที่ถือหุ้นหรือผู้บริหารธุรกิจด้านสื่อโทรคมนาคม แต่มันก็คือเจตนารมณ์ของความเป็นอิสระ ดังนั้นจึงเห็นว่าคนที่ลงสมัครส่วนมากจะเป็นนักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน หรือลูกจ้างที่ไม่มีหุ้นอันทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน" สุภิญญาระบุ

"อย่างไรก็ตามแม้จะไม่ได้มีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ตนเองก็ยอมรับว่าการตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทจากเอ็นจีโอไปเป็น กสทช. มันมีความเสี่ยงสูง"

ทั้งนี้ หลังการทวีตดังกล่าวแล้ว สุภิญญายังได้ทวีตตอบคำถามกรณีมีผู้ถามคำถามเพิ่มเติมด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท