Skip to main content
sharethis

ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อุทธรณ์ต่อศาล อ้างคุมขังนายชาลี  ดีอยู่แรงงานข้ามชาติบาดเจ็บจากการทำงานจนไส้แตก ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

10 มิ.ย. 54 - เวลา 15.00 น. วันนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ยื่นแก้อุทธรณ์ ยืนยันสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ควบคุมตัวนายชาลี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากใบอนุญาตทำงานยังไม่หมดอายุ และการล่ามโซ่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลังสำนัำงานตรวจคนเข้าเมืองอุทธรณ์โต้คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ให้ปล่อย ตัวนายชาลี ดีอยู่ และให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจ่ายค่าเสียหาย อ้าง สตม. ไม่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบสิทธิอาศัยของนายชาลี และมีอำนาจกักตัวไว้ได้นานเท่าใดก็ได้โดยไม่ต้องขอศาล โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และเคารพสิทธินายชาลีแล้ว
 
หลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ให้ สตม. ปล่อยตัวนายชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า เหยื่ออุบัติเหตุจาการทำงานบาดเจ็บสาหัส แต่กลับถูกตำรวจควบคุมตัวเพื่อส่งกลับประเทศพม่า และถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียงผู้ป่วย อีกทั้งศาลยังให้ สตม. จ่ายค่าเสียหายให้นายชาลี เนื่องจากเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบและเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนายชาลี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 ปรากฏว่า สตม. ได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาล และขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้เป็นการควบคุมตัวที่ชอบด้วยกฎหมาย ในการอุทธรณ์นี้ สตม. อ้างว่ามีอำนาจควบคุมตัวนายชาลีได้ตามกฎหมาย และไม่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบสิทธิอาศัยของนายชาลี เนื่องจากสถานีตำรวจภูธรเมืองปทุมธานีที่ได้ทำการสอบสวนนายชาลีจนเสร็จสิ้น แล้ว และ สตม. รับตัวมากักไว้เพื่อรอการส่งกลับเท่านั้น จึงมีอำนาจที่จะกักตัวนายชาลีไว้นานเท่าใดก็ได้ โดยไม่ต้องร้องขอต่อศาล อีกทั้งได้ส่งตัวนายชาลีไปรักษาพยาบาล  ได้ประสานงานให้มีการปลดโซ่ล่ามนายชาลีออก และได้ประสานงานกับกรมการจัดหางานจนตรวจสอบได้ว่านายชาลียังมีสิทธิอาศัย จึงได้ปล่อยตัวนายชาลี ถือว่าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปฏิบัติต่อนายชาลีโดยเคารพสิทธิเสรีภาพตามรัฐ ธรรมนูญแล้ว และไม่ได้ทำให้นายชาลีเสียหาย

มสพ. จึงยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลในวันนี้ ยืนยัน สตม.ควบคุมตัวนายชาลีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดเสรีภาพของนายชาลีตามที่ รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการกักตัวนายชาลีเพื่ฟอรอการส่งกลับขณะที่ใบอนุญาตทำงานของนายชาลียัง ไม่หมดอายุ อีกทั้งนายชาลียังถูกล่ามโซ่ขาติดกับเตียงขณะรับการรักษาการบาดเจ็บจากการทำ งานที่ รพ.ตำรวจ ในฐานะผู้ป่วยในอายัดของ สตม. โดยตลอดเวลา 16 วันของกักตัว สตม. ไม่ได้ตรวจสอบสิทธิอาศัยของนายชาลี แม้ภายหลังสภาทนายความได้มีหนังสือทวงถามขอให้ปล่อยตัวนายชาลี แต่ สตม. กลับยังเพิกเฉย จน มสพ. ต้องยื่นคำร้องต่อศาล อีกทั้งการที่ สตม. อ้างว่ามีอำนาจกักตัวนายชาลีได้นานเท่าใดก็ได้ โดยไม่ต้องดำเนินคดี และไม่ได้ผ่านการตรวจสอบโดยศาลนั้น ย่อมเป็นการใช้อำนาจเกินกว่า พ.ร.บ. คนเข้าเมืองให้อำนาจไว้ ขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งห้ามการจับและการคุมขังบุคคลโดยอำเภอใจ สิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวและผู้ต้องหาในคดีอาญา ที่ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งยังขัดต่อพันธกรณีของประเทศไทยตามกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิ พลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งห้ามการควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจและโดยปราศจากการควบคุมตรวจสอบโดยศาล

นายสมชาย หอมลออ เลขานุการ มสพ. กล่าวว่า “หวังว่าศาล ในฐานะเป็นองค์กรตุลาการมีอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐ จะได้วินิจฉัยเพื่อเป็นแนวทางวางหลักกฎหมายเกี่ยวกับการใช้อำนาจกักตัวบุคคล ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็นแนวทางให้เจ้าพนักงานได้ทราบถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคล เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังเช่นกรณีนายชาลีซ้ำอีก”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net