คำเตือนถึงนักวิชาการ ต้องระวังการแปลคำทางสังคมศาสตร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ก่อนอื่นดิฉันต้องขอขอบคุณคุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ได้เขียนคำโต้แย้งต่อบทความของดิฉัน “คำถามถึงอภิสิทธิ์ ทำไมทะเลาะกับเขมรแทบตาย เพื่อกลับไปที่เดิม” ดิฉันถือว่าเป็นการให้เกียรติทางวิชาการ และประเสริฐกว่าการด่าทอกันด้วยคำหยาบคายที่กำลังกลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองไทยในปัจจุบัน หรือการทำให้ทุกเรื่องให้เป็นเรื่องความดีความชั่วส่วนบุคคล ทั้ง ๆ ที่เรื่องทางกฎหมายก็เหมือนเรื่องอื่น ๆ ในสังคม ที่สามารถตีความได้มากกว่าหนึ่งแนวทาง การช่วยกันวิเคราะห์ให้เห็นแง่มุมที่แตกต่างก็จะเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นโทษแก่สังคม เราจึงควรสนับสนุนให้เกิดสิ่งเหล่านี้มากมาย นอกจากนี้ ดิฉันต้องขออภัยที่ตอบล่าช้า เพราะบทความของคุณวีรพัฒน์มาในช่วงที่ดิฉันกำลังต้องขนย้ายสัมภาระและเดินทาง เอกสารทั้งหมดถูกเก็บลงกล่อง ฉะนั้น การเขียนตอบครั้งนี้จึงไม่มีเอกสารสำคัญอยู่ในมือ แต่แม้จะไม่สะดวก แต่ดิฉันก็เห็นว่าการนิ่งเฉยไม่ตอบ ก็จะเป็นการไม่ให้เกียรติคุณวีรพัฒน์ ดิฉันขอตอบทีละประเด็นดังนี้ ประเด็นแรก คุณวีรพัฒน์กล่าวว่าดิฉันและนิติกรศาลโลกน่าจะสับสนคำว่า “la limite” กับคำว่า “frontier” และ “boundary” โดยคุณวีรพัฒน์เห็นว่าความหมายที่ถูกต้องของ “la limite” คือ “boundary” ซึ่ง “แม้โดยทั่วไปจะสื่อความหมายถึง “เขตแดน” แต่ก็มีความหมายกว้างพอที่จะหมายถึง “ขอบเขต” พูดให้ง่ายขึ้นตามภาษาของดิฉันเอง คือ “la limite-boundary” นอกจากจะหมายถึงเส้นเขตแดนแล้ว ยังหมายถึงพื้นที่ที่ติดกับเส้นเขตแดน หรือที่คนไทยมักเรียกว่า “พื้นที่ชายแดน” ได้ด้วย boundary จึงมีความหนา มีขอบเขต หรืออาณาบริเวณ ส่วนคำว่า frontier คุณวีรพัฒน์เห็นว่าหมายถึง (เส้น)เขตแดน หรือเส้นพรมแดน ที่เป็นเส้นตรงหรือเส้นเดี่ยว พออ่านมาถึงตรงนี้ดิฉันก็งงไปอยู่พักหนึ่งว่าตัวเองเข้าใจคำว่า frontier และ boundary ผิดมาตลอดได้อย่างไร แต่เพื่อความแน่ชัด ดิฉันจึงกลับไปตรวจสอบสองคำนี้ตามพจนานุกรมต่างๆ แล้วก็โล่งอก เพราะพบคำตอบดังนี้: Collins English Dictionary (ปี 1991, 1994, 1998, 2000, 2003) ระบุว่า: Boundary: something that indicates the farthest limit, as of an area; border” Frontier: 1. (Government, Politics & Diplomacy) a. the region of a country bordering on another or a line, barrier, etc., marking such a boundary 2. US and Canadian a. the edge of the settled area of a country สำหรับ Oxford Advanced Learner’s Dictionary of Current English, 2005 ระบุว่า: Boundary: the real of imagined line that marks the limits or edges of sth and separates it from other things or places; a dividing line; national boundaries. Frontier: 1. a line that separates two countries, etc; the land near this line 2. the frontier [sing] the edge of land where people live and have built towns, beyond which the country is wild and unknown, especially in the western US in the 19th century: a remote frontier settlement. ส่วน Dictionary of Military and Associated Terms (พจนานุกรมทหารและคำที่เกี่ยวข้อง) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (2005) ระบุว่า Boundary: A line that delineates surface areas for the purpose of facilitating coordination and deconfliction of operations between adjacent units, formations, or areas. พจนานุกรมฉบับนี้ไม่มีคำว่า frontier ดิฉันขออนุญาตไม่แปลภาษาอังกฤษด้านบนแบบคำต่อคำ เพราะกลัว lost in translation แต่จากตัวอย่างพอสังเขปข้างต้น (มีตัวอย่างอีกหลายสำนัก แต่เห็นว่าล้วนให้ความหมายไม่ต่างกัน) คุณวีรพัฒน์น่าจะเห็นได้ว่าการแปลของคุณเองต่างหากที่กลับตาลปัตรความหมายของสองคำนี้ กล่าวคือ boundary ต่างหากที่หมายถึง เส้นเขตแดน/เส้นพรมแดน (เป็นเส้นเดี่ยว ไม่มีความหนา) แต่ frontier มีความหมายกว้างกว่า ที่สามารถหมายถึงพื้นที่บริเวณชายแดน เป็นพื้นที่ที่มีความหนา ยากที่จะกำหนดขอบเขต ในบางพื้นที่อาจมีผู้คนมากมายอาศัยอยู่, มีตลาดการค้าชายแดน, หมู่บ้าน, ฯลฯ ก็ได้) ดิฉันกล้ายืนยันได้ว่า นี่คือความหมายที่ใช้กัน อย่างน้อยก็ในแวดวงของสังคมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนของคุณวีระพัฒน์ทำให้ดิฉันสงสัยว่า หรือในแวดวงนิติศาสตร์ เขาให้ความหมายคนละแบบกับแวดวงสังคมศาสตร์? คือเป็นแบบที่คุณวีระพัฒน์ได้อธิบายมา ซึ่งดิฉันก็อยากจะทราบเหมือนกันว่า ในแวดงวงนิติศาสตร์ ได้เคยมีการบัญญัติศัพท์ของสองคำนี้อย่างเป็นทางการไว้ที่ไหนหรือไม่ ถ้ามี ก็อยากให้คุณวีระพัฒน์ช่วยให้ความรู้แก่ดิฉันและผู้สนใจทั่วไปด้วย จักขอบคุณยิ่ง แต่อีกใจหนึ่ง ดิฉันก็โน้มเอียงไปทางคำตอบว่า “ไม่น่าจะเป็นไปได้” เพราะอะไร? ตัวอย่างง่าย ๆ คือ “กองเขตแดน” ของกระทรวงการต่างประเทศไทย มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “the Boundary Division” ซึ่งเราก็รู้กันทั่วไปว่า ภาระหน้าที่ของหน่วยงานนี้คือ ดูแลและปักปันเส้นเขตแดน (boundary) ของประเทศ โดยไม่ต้องรับผิดชอบกิจกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้าชายแดน การลักลอบขนของหนีภาษี ลักลอบเข้าเมือง ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นบนพื้นที่ชายแดน (frontier) ถ้าหน่วยงานที่สำคัญขนาดนี้ มีผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศมากมายที่จบจากฝรั่งเศสเช่นกัน ยังแปลชื่อกรมแบบไม่ระมัดระวัง ประเทศไทยก็คงสิ้นหวังแล้ว อย่างไรก็ดี เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าคำในทางสังคมศาสตร์จำนวนมากดิ้นได้ มีศัพท์จำนวนมากที่มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่ก็มีความแตกต่างโดยสาระสำคัญ บางครั้งเจ้าของภาษาเองก็ยังใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียงกันสับสน ไม่นับว่าเมื่อแปลเขามาแล้ว บางส่วนของความหมายเดิมอาจสูญหายไป หรือหาคำในภาษาท้องถิ่นมาแทนคำภาษาอังกฤษไม่ได้ หรือในบางกรณี เราอาจใช้คำ 2-3 คำที่มีความหมายใกล้เคียงสลับกันไปมา โดยไม่ผิดก็ได้ ดังเช่นกรณีที่ทีมกฎหมายไทยใช้ฝรั่งเศสว่า “la frontière” คู่กับคำอังกฤษว่า “boundary” คราวนี้กลับมาประเด็นที่สำคัญกว่าคือ แล้วเรื่องนี้มีผลต่อการโต้แย้งในศาลโลกอย่างไร ถ้าดิฉันตีความคุณวีรพัฒน์ไม่ผิด คุณวีรพัฒน์พยายามบอกว่า ท่านทูตวีรชัย พลาศรัย “ได้ย้ำจุดยืนของไทยอีกครั้ง เช่น ตามบันทึกเอกสาร CR 2011/16 หน้าที่ ใน 25-26 ว่า คำพิพากษาปี พ.ศ. 2505 ไม่ได้ตัดสินเรื่อง “เขตแดน” แต่อย่างใด” ฉะนั้น คุณวีรพัฒน์จึงเห็นว่า “แนวของรั้วลวดหนาม หรือ “la limite” เป็นเพียงเส้นปฏิบัติการตามคำพิพากษาที่นำมาใช้ระหว่างกระบวนการจัดทำเขตแดน ยังไม่สิ้นสุด” ซึ่งหมายความต่อว่า ฝ่ายไทยไม่ได้ยืนยันว่ารั้วที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณพระวิหาร ตามการวิเคราะห์ของดิฉัน เพราะคุณวีรพัฒน์เห็นว่า “การจะตอบว่าเส้นเขตแดนที่แท้จริงคือเส้นใด ต้องว่าไปตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ และข้อตกลงอื่น ฯ” ดิฉันเห็นด้วยกับคุณวีรพัฒน์ที่ว่า “การจะตอบว่าเส้นเขตแดนที่แท้จริงคือเส้นใด ต้องว่าไปตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ และข้อตกลงอื่น ฯ” ซึ่งดิฉันขอย้ำว่า ข้อตกลงอื่นๆที่ว่านี้ รวมถึงแผนที่จากการปักปันของคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส หรือแผนที่ที่คนไทยเรียกติดปากว่า 1:200000 ด้วย แต่ขอเรียนด้วยความเคารพ ดิฉันกลับไปอ่านคำแถลงของฝ่ายไทยอีกครั้ง ดิฉันก็ยังเห็นว่าฝ่ายไทยต้องการยืนยันว่ารั้วที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณพระวิหาร และต้องการให้กัมพูชายอมรับเช่นกัน ดิฉันจึงขอยกคำแถลงของฝ่ายไทยมาไว้ตรงนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้ร่วมพิจารณาไปพร้อมกัน: “On 19 July, work began to erect a barbed wire fence and a sign marking the boundary of the Temple area, according to the line which had been adopted by the Council of Ministers on 10 July for the purposes of implementing the 1962 Judgment. The work was completed by around 5 August.” (คำแปลจากภาษาฝรั่งเศส เอกสาร CR 2011/14 ฉบับ uncorrected) (ในวันที่ 19 ก.ค. (2505) ได้มีการจัดทำรั้วลวดหนามและป้ายแสดงเขตแดนของพื้นที่ของพระวิหาร ซึ่งเป็นไปตามมติครม.วันที่ 10 ก.ค. เพื่อปฏิบัติตามคำตัดสินปี 2505 การทำรั้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณวันที่ 5 ส.ค.) นอกจากนี้ ในใบแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศไทยวันที่ 31 พ.ค.ยังย้ำว่า “คำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเมื่อปี ๒๕๐๕ เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือตัวปราสาท ไม่ใช่เรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กัมพูชาได้ยอมรับเส้นขอบเขตของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว โดยนิ่งเฉยมิได้มีการทักท้วงใด ๆ มากว่า ๔๐ ปี จนเมื่อไม่นานมานี้กัมพูชาถึงได้เปลี่ยนท่าทีเนื่องจากต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก” (ส่วนที่เน้นเป็นของผู้เขียน) ประเด็นที่สอง เรื่องการสงวนสิทธิ์ คุณวีรพัฒน์แย้งดิฉันว่า “การ “สงวนสิทธิ์” เอาปราสาทพระวิหารคืนมาตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น “เป็นไปได้” ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ การสงวนสิทธิ์ในทางกฎหมายระหว่างประเทศไม่ใช่แค่เรื่องการขอให้ศาลทบทวนคำ พิพากษาหรืออายุความเพียงอย่างเดียว แต่สามารถสงวนอย่างทั่วไป ต่อเนื่อง และไม่มีระยะเวลาจำกัด” ดิฉันคิดว่าข้อโต้แย้งของคุณวีรพัฒน์จะมีน้ำหนักกว่านี้หากคุณวีรพัฒน์จะสามารถอ้างอิงข้อกฎหมายระหว่างประเทศสักข้อหนึ่งเพื่อรองรับการอ้างสิทธิ์นั้น หรือถ้าจะให้ดีก็น่าจะยกตัวอย่างคดีใดในอดีตที่เคยมีผู้สงวนสิทธิ์ไว้ แล้วผู้ขอสงวนสิทธิ์นั้นสามารถใช้สิทธิ์ได้อีก แม้ว่าอายุความจะสิ้นสุดไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้ คุณวีรพัฒน์ยังบอกว่า “ที่ผ่านมาไม่มีนักกฎหมายอธิบายเรื่องนี้ไว้ชัดเจน” ถ้าเช่นนั้น ดิฉันเข้าใจถูกไหมว่านี่เป็นการตีความของคุณวีรพัฒน์เองที่ไม่มีข้อกฎหมายใดรับรองเลย และไม่สามารถยืนยันได้ว่า “การสงวนสิทธิ์” นี้จะมีสถานะที่เหนือกว่าหรือลบล้างข้อกำหนดเรื่องอายุความในบทบัญญัติของศาลโลกได้ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ เหตุการณ์สมมติที่คุณวีรพัฒน์ยกตัวอย่างมาคือ “หากในอนาคต มีสถานการณ์หรือเหตุที่ทำให้กัมพูชาไม่ใส่ใจที่จะครอบครองปราสาทพระวิหาร หรือสละการครอบครองปราสาทพระวิหาร หรือมีเหตุตามกฎหมายทำให้สงสัยได้ว่าบริเวณที่ตั้งปราสาทพระวิหารถือเป็นดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ (terra nullius) การประพฤติปฏิบัติของไทย เช่นการ “สงวนสิทธิ์” ย่อมเป็นข้อสนับสนุนการอ้างสิทธิ (claim) การได้มาซึ่งอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารตามกฎหมาย” ยิ่งตอกย้ำความเชื่อของดิฉันว่า โอกาสที่ไทยจะได้ใช้สิทธิ์ที่เคยสงวนไว้นั้นเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย ยกเว้นแต่ว่าความเป็นรัฐชาติ (nation-state) จะสูญสลายไปจากภูมิภาคนี้ ซึ่งก็คงต้องรอกันไม่รู้อีกกี่ชั่วอายุคน ในทางกลับกัน เราต่างได้ประจักษ์กันเป็นอย่างดีว่าเรื่องดินแดนถูกใช้เป็นเครื่องมืออันทรงพลังและอันตรายหลายครั้งหลายคราในสังคมไทย ฉะนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ดิฉันจะต้องยืนยันว่า “การสงวนสิทธิ์” ที่กระทำกันมาคือเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมือง กลุ่มการเมือง และเพื่อปกป้องตนเองของปัจเจกชนบางคน สิ่งที่น่าสนใจคือ คำอธิบายโดยรวมของคุณวีรพัฒน์อยู่ในแนวเดียวกันกับคำอธิบายของ ดร.สมปอง สุจริตกุล ปัญญาชนของฝ่ายพันธมิตรในเรื่องพระวิหาร ทั้งนี้ ดร.สมปอง เป็นหนึ่งในทีมงานกฎหมายที่นำโดยม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่พ่ายแพ้คดีในปี 2505 ประเด็นสุดท้าย ดิฉันไม่เห็นด้วยกับข้อความทั้งหมดของคุณวีรพัฒน์ที่ว่า “ศาลไม่เคย “วินิจฉัย” (adjudge) ว่าเส้นเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาคือเส้นใด คำพิพากษาเมื่อปี พ.ศ. 2505 เพียงแต่วินิจฉัยผูกพันไทยว่า อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ ส่งผลให้ประสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตแดนกัมพูชา จริงอยู่ว่าการที่ศาลวินิจฉัยเช่นนั้นศาลได้นำ “แผนที่ภาคผนวก 1” มา “พิจารณา” แต่ศาลเองก็ย้ำในคำพิพากษาว่า “การพิจารณาแผนที่” มิใช่ “การวินิจฉัย” ว่าเส้นเขตแดนหรือแผนที่ใดผูกพันไทยหรือไม่ เพราะศาลไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะ “วินิจฉัย” เรื่องเขตแดน” ข้อความนี้ แตกได้เป็น 3 ประเด็นดังนี้ [คือที่จริงดิฉันไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรที่จะแปลคำว่า adjudge ว่าเท่ากับคำว่าวินิจฉัย ดิฉันคิดว่าจะตรงกว่าถ้าจะใช้คำว่า “พิพากษา” “ตัดสิน” “ชี้ขาด” เพราะคำว่าวินิจฉัยในภาษาไทยมีความหมายค่อนไปในทางการพิจารณา ไตร่ตรอง มากกว่า แต่ก็ถือว่านี่เป็นอีกคำหนึ่งที่มีความหมายได้มากกว่าหนึ่ง] 1. ดิฉันเห็นว่าศาลได้วินิจฉัย (พิจารณา) เรื่องเส้นเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาว่าคือเส้นใดไว้แล้ว แต่ไม่ได้กำหนดไว้ในข้อปฏิบัติการ ดังข้อความที่ว่า ศาลจะสามารถวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือบริเวณพระวิหารได้ก็ต่อเมื่อได้ตรวจสอบแล้วว่าเส้นเขตแดนนั้นคือเส้นใด (สำนักนายกรัฐมนตรี, คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร, หน้า 16) ศาลมีความเห็นว่าประเทศไทยใน ค.ศ. 1908-09 ได้ยอมรับแผนที่ในภาคผนวก 1 ว่าเป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้ จึงได้รับรองเส้นบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา ศาลมีความเห็นต่อไปว่า เมื่อพิจารณาโดยทั่ว ๆ ไป การกระทำต่อ ๆ มาของไทยมีแต่ยืนยัน และชี้ให้เห็นชัดถึงการยอมรับแต่แรกนั้น และว่าการกระทำของไทยในเขตท้องที่ก็ไม่พอเพียงที่จะลบล้างข้อนี้ได้ คู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยการประพฤติปฏิบัติของตนเองได้รับรองเส้นแผนที่นี้ และดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นการตกลงให้ถือว่าเส้นนี้เป็นเส้นเขตแดน (หน้า 45) ไม่มีเหตุผลที่จะให้คิดว่าคู่กรณีได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่เส้นสันปันน้ำโดยเจาะจง เมื่อเปรียบเทียบกับความสำคัญที่เหนือกว่าของการยึดเส้นเขตแดนในแผนที่ซึ่งได้ปักปันกันในเวลาต่อมาและเป็นที่ยอมรับแก่คู่กรณี ทั้งนี้ เพื่อให้เรื่องได้เป็นที่ยุติกันไป ฉะนั้น อาศัยหลักในการตีความสนธิสัญญา ศาลจึงจำต้องลงความเห็นให้ถือเส้นเขตแดนตามแผนที่ของบริเวณพิพาท (หน้า 50) 2. การที่ศาลไม่พิพากษาชี้ขาดเรื่องเส้นเขตแดนในบริเวณพื้นที่พิพาทตามคำขอของฝ่ายกัมพูชา ก็ไม่ใช่เพราะศาลไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะวินิจฉัยเรื่องเขตแดน แต่เป็นเพราะกัมพูชายื่นเรื่องนี้เข้ามาทีหลัง ศาลจึงวินิจฉัยว่าจะจำกัดขอบเขตการพิจารณาอยู่ที่ประเด็นอำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณพระวิหารเท่านั้น หากกัมพูชายื่นประเด็นนี้เข้าไปตั้งแต่แรก ผู้เขียนเชื่อว่าเรื่องเส้นเขตแดนบริเวณพระวิหารก็คงจบไปตั้งแต่ปี 2505 แล้ว (ศาลโลกตัดสินเรื่องเขตแดนมากมายหลายกรณี เลยไม่เข้าใจอะไรทำให้คุณวีรพัฒน์กล่าวว่าศาลไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะวินิจัยฉัยเรื่องเขตแดน) 3. ดิฉันไม่เห็นด้วยที่คุณวีรพัฒน์บอกว่าคำพิพากษาปี 2505 ที่ตัดสินให้พระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เป็นผลมาจากอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ ที่ผูกพันไทย ดิฉันเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่คำตัดสินดังกล่าวมาจากการที่ศาลวินิจฉัยว่า การประพฤติปฏิบัติของฝ่ายไทยหลายครั้งหลายคราในอดีต (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ได้แสดงการยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 (1:200,000) จึงมีผลผูกมัดไทยในทางกฎหมายว่าได้ทำการรับรองเส้นบนแผนที่ที่แสดงว่าพระวิหารอยู่ในเขตของกัมพูชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท