Skip to main content
sharethis

ในวงเสวนา “กรรมกรกับการถูกละเมิดสิทธิในระบอบประชาธิปไตย กรณีคุณสมยศและคนอื่นๆในสังคมไทย” นักสหภาพแรงงานชี้คนงานถูกกฎหมายสารพัดละเมิดสิทธิ นักวิชาการทวงถามทำไมผู้ต้องหาไม่ได้สิทธิประกันตัว ทั้งที่หลายกรณีไม่สามารถยุ่งกับหลักฐานได้อีกแล้ว (12 มิ.ย.54) องค์กรแรงงานเพื่อประชาธิปไตย จัดเสวนาเรื่อง “กรรมกรกับการถูกละเมิดสิทธิในระบอบประชาธิปไตย กรณีคุณสมยศและคนอื่นๆ ในสังคมไทย” ณ ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ถนนราชดำเนิน จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา คนงานถูกละเมิดสิทธิโดยกฎหมายหลายฉบับ ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน ก็ถูก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดค่าจ้างโดยไม่ได้มองว่าเงินจำนวนเท่าใดจึงจะพอกับการครองชีพของคนงาน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่ละเมิดสิทธิการรวมตัว โดยจะรวมตัวตั้งสหภาพแรงงานได้ต้องให้กระทรวงแรงงานจดทะเบียนรับรอง ไม่เช่นนั้นไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ นอกจากนี้ จิตรา มองว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการรัฐประหาร รัฐก็จะออกกฎหมายให้นายทุนมีอำนาจเหนือกว่าคนงานทุกครั้ง โดยในปี 2534 รสช.ออกกฎหมายให้จากเดิมที่สหภาพแรงงานสามารถแต่งตั้งใครก็ได้เป็นที่ปรึกษาสหภาพฯ มาเป็นที่ปรึกษาสหภาพต้องได้รับการจดทะเบียนจากกระทรวงแรงงานเท่านั้น \นี่คือสิ่งตกค้างของเผด็จการในสมัยนั้น ซึ่งพวกเรายังไม่จำกัดมันออกไป\" จิตรากล่าวและว่า เหตุที่ รสช.ออกกฎหมายเช่นนี้ก็เพราะไม่ต้องการให้นักศึกษา นักวิชาการเข้ามาเกี่ยวข้องกับกรรมกร นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.ชุมนุม ซึ่งผ่าน ครม.แล้ว กำหนดให้ต้องขออนุญาตจากตำรวจก่อนการชุมนุม ไม่ชุมนุมใกล้วัง รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ ฯลฯ ต้องขอใบอนุญาตชุมนุม ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน โดยมีผู้จัดการชุมนุม ซึ่งต้องอยู่ในที่ชุมนุมตลอด จิตรา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้สิทธิแรงงานยังได้รับผลกระทบในกระบวนการยุติธรรมหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ หรือศาล รวมไปถึงการคุกคามจากทหารด้วย \"เมื่อไหร่ที่คุณลุกมาสู้ คุกก็รอคุณอยู่ข้างหน้า\" จิตรากล่าวเมื่อพูดถึงการต่อสู้ของคนงานที่ลุกมาเรียกร้องสิทธิ นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐและนายจ้างมองเป็นเครื่องมืออีกอันคือ มาตรา 112 ของกฎหมายอาญา ที่มีความพิเศษคือ ใครแจ้งจับใครก็ได้ เพราะเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ทำให้กลายเป็นเครื่องมือใส่ร้ายกันง่ายๆ อีกทั้งเป็นระบบกล่าวหา ที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องใช้ต้นทุนในการแก้ข้อกล่าวหาสูงมาก และการประกันตัวเป็นไปได้ยาก โดยยกตัวอย่างกรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานและการเมือง ซึ่งถูกจับและดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 112 และปัจจุบันยังไม่ได้รับการประกันตัว โดยศาลเห็นว่าคดีนี้กระทบกระเทือนจิตใจ เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และมีโทษสูง จึงเกรงว่าจะหลบหนี จิตรา กล่าวเสริมว่า กฎหมายอีกฉบับที่เริ่มใช้กัน คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งล่าสุดมีเพื่อนคนงานทีไอจี ถูกฟ้องด้วยข้อหานี้ ซึ่งโชคดีที่ได้เก่งกิจ กิติเลียงลาภ นักวิชาการจาก ม.เกษตรศาสตร์ เป็นนายประกันให้ เธอมองว่า นี่เป็นที่มาว่าทำไมรัฐจึงพยายามกีดกันนักวิชาการออกไปจากวงกรรมกร เพราะเมื่อก่อน คนงานตั้งนักวิชาการด้านกฎหมายเป็นที่ปรึกษาสหภาพได้ แต่เมื่อกฎหมายจากสมัย รสช. ยังอยู่ ก็คงไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ยังมองว่า ที่แย่กว่านั้นคือ การที่รัฐทำให้เกิดการละเมิดสิทธิกันเองระหว่างคนงานด้วยการเอาใจคนงานกลุ่มหนึ่ง ไม่สนใจกลุ่มหนึ่ง จิตรากล่าวถึงการละเมิดสิทธิคนเสื้อแดงเมื่อปีที่ผ่านมาด้วย เพราะเธอมองว่าคนเสื้อแดงก็เป็นผู้ใช้แรงงานเช่นกัน พวกเขาถูกละเมิดสิทธิ ไม่ใช่แค่จับกุมคุมขัง แต่เสียชีวิตถึง 91 ศพ โดยยังไม่มีคนผิด ทั้งที่ประชาชนก็เห็นว่ามีทหารออกมา คิดตามเหตุผลแล้ว คนที่มีอาวุธก็คือคนฆ่า เพราะหากผู้ชุมนุมยิงกันเอง หลัง 10 เม.ย.ก็คงไม่มีใครมาชุมนุมแล้ว ทั้งนี้ จิตราทิ้งท้ายว่า หากไม่ต้องการให้ถูกละเมิดสิทธิ การรวมตัวกันสู้เป็นสิ่งสำคัญ อย่าปล่อยให้ใครสู้อย่างโดดเดี่ยว ชี้การไม่ได้ประกันตัว ก่อวังวนอุบาทว์ ด้าน สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในมิติต่างๆ เท่ากับก้าวสู่การจับจ้องของผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นเผด็จการอำนาจนิยม นักวิชาการ ซึ่งถูกมองว่าอยู่ในสถานะทางสังคมที่ดี มักถูกมองด้วยว่าไม่ควรยุ่งกับอำนาจแบบนี้ แต่เธอมองว่า นักวิชาการควรจะทำความจริง ตีแผ่มุมมืดของสังคม และสนใจโจทย์ของประชาชนอย่างจริงจัง สุดาเล่าถึงประสบการณ์การเป็นนายประกันให้กับจิตรา คชเดชและเพื่อน ในคดีที่ตำรวจฟ้องว่า พวกเธอเป็นแกนนำ พาคนงานชุมนุมมั่วสุมเกินกว่า 10 คน เมื่อครั้งที่คนงานหลายกลุ่มไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบ-รัฐสภา ซึ่งจากการต้องเดินทางไปศาล ทำให้เห็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ชอบธรรม โดยหน่วยงานในศาลแนะนำกับสุดาว่า ไม่ต้องการให้นักวิชาการประกันตัวผู้ที่ต่อสู้ด้านประชาธิปไตย ให้ใช้เงินประกันตัวแทน คำแนะนำดังกล่าวทำให้เข้าใจว่า นอกจากระบบกล่าวหา ซึ่งทำได้ง่ายๆ และถ้าพนักงานสอบสวนคือตำรวจ และดีเอสไอ ไม่พยายามทำความเข้าใจกับการกล่าวหานั้นอย่างจริงจัง หรือถูกอิทธิพล ก็อาจส่งฟ้องต่ออัยการ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องประกันตัว ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก สุดา เปิดเผยว่า หลังการประกันตัวให้จิตรา มีจดหมายจากศาลอาญาไปที่คณะอักษรศาสตร์ เพื่อแจ้งคณบดีว่า เธอได้ไปประกันตัวผู้ต้องหาในคดีร้ายแรง และขอให้ตรวจสอบว่าเธอไปประกันตัวในคดีอื่นหรือไม่ ซึ่งเธอมองว่านี่เป็นการคุกคามอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ สุดาระบุว่า ปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันคือการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนและการไม่ได้รับการประกันตัว ที่ชัดเจนคือ กรณีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ซึ่งถูกจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ราวสามปีก่อน จนบัดนี้ ที่ศาลวินิจฉัยว่าการพิจารณาคดีลับควรนำไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เธอก็ยังไม่ได้รับการประกันตัว นอกจากนี้ ยังมีผู้นำในขบวนการประชาธิปไตยคนสำคัญอย่าง สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ สรุชัย แซ่ด่าน สมยศ พฤกษาเกษมสุข และอีกหลายร้อยคนที่อยู่ในเรือนจำ ที่ไม่ได้สิทธิประกันตัว โดยล่าสุด มีคนสัญชาติอเมริกันด้วย ทำให้ต่างชาติได้รู้ว่า ไทยไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสากล สุดากล่าวเพิ่มเติมว่า การจะไม่ให้ประกันตัวนั้นก็ต่อเมื่อผู้ต้องหามีโอกาสยุ่งกับพยานหลักฐาน ซึ่งเธอมองว่า ในกรณีการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นโดยทั่วไป มาจากการแสดงทัศนะด้วยคำพูด ข้อเขียน ซึ่งอาจกระทบต่อบุคคล องค์กร เสียหายในแง่ชื่อเสียง เมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหา และพนักงานสอบสวนได้พิจารณาหลักฐานชิ้นนั้นอย่างถ่องแท้ว่ามีมูล จึงฟ้อง เช่นนั้น พยานหลักฐานจะยุ่งเหยิงได้อย่างไรอีก เช่น กรณีสมยศ ในฐานะสื่อมวลชน ที่ถูกกล่าวหาว่ามีบทความที่มีเนื้อหาหมิ่นฯ บทความนั้นๆ ในนิตยสารก็ถูกตีพิมพ์เป็นหมื่นฉบับ ถ้าทุกฉบับมีเนื้อหาตรงกันแล้วจะยุ่งกับพยานหลักฐานได้อย่างไรอีก หรือกรณีสุรชัย ก็มีคลิปวิดีโอแล้ว ถามว่า จะยุ่งอะไรได้อีก ในฐานะคนที่ทำงานด้านภาษาแล้ว สุดา มองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่สังคมต้องการการสื่อสาร สังคมประชาธิปไตยต้องเปิดกว้างด้านสิทธิเสรีภาพให้คนได้แสดงออกผ่านภาษา แต่ตอนนี้ ภาษาถูกนำมาอ้างเป็นเครื่องมือ ตั้งข้อกล่าวหา โดยเธอมองว่า การปิดกั้นการแสดงความเห็นนี้ อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ได้ จึงควรเปิดให้มีการแสดงออก เพื่อนำไปสู่การตกลงร่วมกันและทางออกที่ดีของทุกฝ่าย เธอกล่าวว่า สังคมยังไม่เข้าใจคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงทำให้ไม่มีการพูดถึง หรือมองว่าไม่ควรพูดถึง ครอบคลุมถึงในเรือนจำ ที่ผู้ต้องขัง นักโทษคดีร้ายแรง ซึ่งไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ยิ่งไม่เข้าใจ เมื่อนักโทษคดีหมิ่นฯ เข้าสู่เรือนจำ ทำให้ถูกกลั่นแกล้งได้ง่าย เป็นผลให้ผู้ต้องคดีมีแนวโน้มหวาดกลัวจนหลบหนี พอหนีไปต่างประเทศมากเข้า พนักงานสอบสวนจึงอ้างกับศาลว่า เกรงจะหลบหนี และไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาคนอื่นๆ เป็นวังวนในวงจรอุบาทว์ต่อไปอีก ทั้งนี้ สุดา เรียกร้องให้ประเด็นกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกพูดถึงอย่างสร้างสรรค์ในวงกว้างอย่างเพียงพอ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคม จึงควรถูกพูดคุยอย่างรอบด้าน เริ่มจากการที่นักวิชาการกล้าออกมาพูดคุยในส่วนที่ตัวเองเกี่ยวข้อง นักกฎหมายตีแผ่ สื่อเผยแพร่ ประชาชนมองอย่างรอบด้าน ก็จะเกิดการตัดสินใจร่วมกัน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net