Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อ่านบทความของรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมโต้ “วาด รวี” กับ “ปราบดา หยุ่น” ที่มีการอ้าง “หลักกาลามสูตร” ด้วย และบทความเปิดผนึก “จากใจนายกฯอภิสิทธิ์ถึงประชาชน” แล้ว สะท้อนให้เห็นปัญหาวิธีคิดของพุทธแบบไทย และประชาธิปไตยแบบไทยอย่างชัดเจน ปัญหาที่ว่าคือ วิธีคิดที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริง เหตุผล และหลักการ พูดสั้นๆว่า “แถ” นั่นเอง เราจึงเป็นได้แต่ “พุทธแถ” และ “ประชาธิปไตยแถ” เท่านั้นเอง ยกตัวอย่าง “พุทธแถ” นะครับ (เอาแค่ตัวอย่างบางตอน) เช่น กรณีที่คณะสงฆ์ไทยไม่อนุญาต/ไม่ยอมรับการบวชภิกษุณี และไม่รับรองสถานะของภิกษุณีที่บวชมาจากนิกายอื่น โดยอ้างพระธรรมวินัย “ตามตัวอักษร” อย่างเคร่งครัดว่า “การบวชภิกษุณีต้องประกอบพิธีบวชในสงฆ์สองฝ่ายคือฝ่ายภิกษุณีสงฆ์และฝ่ายภิกษุสงฆ์” เมื่อภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทไม่มีแล้ว ย่อมไม่สามารถบวชภิกษุณีได้ จะไปทำพิธีบวชในนิกายมหายาน สงฆ์ไทยก็ไม่ยอมรับ ด้วยเหตุผลหลักๆ คือไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัยที่เป็น “ลายลักษณ์อักษร” แต่ถามว่า ปัจจุบันพระสงฆ์ไทยรับเงินได้หรือไม่ ตอบว่ารับได้ (มีบัญชีเงินฝากส่วนตัว มีรถเบนซ์ ฯลฯ ส่วนตัวได้ด้วย) ถามว่าเป็นไปตามพระวินัยที่เป็น “ลายลักษณ์อักษร” ไหม ไม่ครับ เพราะวินัยหรือศีลของพระ 1 ใน 227 ข้อ บัญญัติว่า “ห้ามภิกษุรับเงินและทอง” หรือกำหนดว่าเงินและทองเป็น “วัตถุอนามาส” คือเป็นของต้องห้ามสำหรับพระสงฆ์ผู้มุ่งละกิเลสแสวงอิสรภาพทางจิตวิญญาณ เมื่อพระวินัยที่เป็นลายลักอักษรบัญญัติไว้เช่นนั้น ทำไมพระสงฆ์ปัจจุบันจึงรับเงินได้ และชาวพุทธก็นิยมถวายเงินเสมือนว่าไม่มีวินัยห้ามไว้เลย ก็เพราะพระสงฆ์ (สังคมไทยด้วย) อ้างเหตุผลว่า วินัยข้อนี้บัญญัติในสมัยเมื่อกว่า 2,500 ปีแล้ว สมัยนั้นเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตประจำวัน แต่ทุกวันนี้จะทำอะไรต้องใช้เงิน พระเรียนหนังสือ เดินทาง ไม่สบายไปหาหมอ ฯลฯ ก็ต้องใช้เงิน ฉะนั้น การที่พระต้องรับเงินถือว่าเป็นการอนุโลมตามยุคสมัย อ้าวแล้วถ้าวินัยที่เป็นลายลักษณ์อักษร “ห้ามพระรับเงินและทอง” ถูกละเว้นการปฏิบัติได้โดยอ้างยุคสมัย ทำไมการบวชภิกษุณีจึงอ้างความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยไม่ได้ ไม่ยอมแม้กระทั่งการเปิดช่องทางที่เป็นไปได้ เช่น ไปทำพิธีบวชภิกษุณีในโบสถ์ภิกษุณีนิกายอื่น แล้วมาทำพิธีในโบสถ์พระสงฆ์ไทย เป็นต้น หรือเงื่อนไขการบวชภิกษุณีที่เรียกว่า “ครุธรรม 8” ซึ่งเป็น “กฎเหล็ก” ของความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ เช่น กำหนดว่าภิกษุณีแม้บวชมานานร้อยพรรษาก็ต้องเคารพกราบไหว้ภิกษุที่เพิ่งบวชเพียงวันเดียว หรือภิกษุณีต้องฟังคำสั่งสอนจากพระสงฆ์เท่านั้นจะสอนพระสงฆ์ไม่ได้ เป็นต้น รู้ทั้งรู้ว่า “กฎเหล็กนี้” บัญญัติขึ้นในบริบททางวัฒนธรรมที่ยึดถือความไม่เสมอภาคทางเพศยุคโบราณ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ทำไมคณะสงฆ์ไทยไม่ยอมเปลี่ยน ถ้าพุทธศาสนายอมให้สตรีบวชภิกษุณี เพราะยอมรับว่าสตรีกับบุรุษมีความสามารถบรรลุธรรมได้เท่าเทียมกัน แต่ที่ต้องมี “ครุธรรม 8” เพราะต้องอนุโลมตามวัฒนธรรมของสมัยนั้น และถ้าการอนุโลมตามวัฒนธรรมทางสังคมในบริบทของยุคสมัยเป็นสิ่งที่พุทธศาสนายอมรับได้และเคยปฏิบัติมา ถามว่าเหตุใดพุทธศาสนาแบบไทยจึงไม่ยอมรับการบวชภิกษุณีโดยยอมรับวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ก้าวหน้ากว่าคือ สิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี เป็นต้น คณะสงฆ์ไทยก็มักจะตอบว่า “ไม่สามารถแก้สิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว” แล้วการปฏิบัติที่เป็นอยู่นี้ การรับเงินก็ดี การมีสมณศักดิ์ (ศักดินาพระ) ก็ดี ฯลฯ ไม่ใช่การแก้สิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อย่างไรไม่ทราบ นี่มันเป็นการแก้เชิง “เนื้อหา” อย่างสำคัญเลยทีเดียว ทำให้พุทธศาสนาเชิงเนื้อหาหรือเชิงวิถีชีวิตตรงกันข้ามกับพุทธแบบสมัยพุทธกาลอย่างสิ้นเชิง (ที่จริงผมอยากเสนอเพิ่มว่า พระสงฆ์ควร “เสียภาษี” เพราะตามพระวินัยพระสงฆ์ไม่มีสิทธิรับเงินตั้งแต่ต้น แต่ทุกวันนี้พระสงฆ์มีบัญชีเงินฝากส่วนตัว มีเงินเดือนจากงบฯแผ่นดินในตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยสงฆ์ เงินค่าตำแหน่ง ผศ.,รศ.,ศ. ตำแหน่งบริหาร ฯลฯ) แล้วปัญหาพุทธแบบไทยที่ว่ามานี้มันเกี่ยวกับปัญหาประชาธิปไตยแบบไทยอย่างไร มันเกี่ยวตรงที่มันเป็นวิธีคิดแบบเดียวกัน คือ “แถ” เหมือนกันไงครับ ! รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมแถว่า “ไม่มีการใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง มีแต่คนพยายามทำผิด ม.112 มากขึ้น” (ใครจะ “พยายาม” ทำผิดวะ) นี่คือความไม่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริง และความไม่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริงนี้ก็แสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์ต่อเหตุผลและหลักการ เพราะในเชิงเหตุผลและหลักการ ม.112 ที่อิงเหตุผลและหลักการในการจำกัดเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ และอ้างสถานะพิเศษของพระมหากษัตริย์เหนือประชาชนผู้เจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้น ย่อมขัดแย้งต่อเหตุผลและหลักการประชาธิปไตย คือหลักเสรีภาพและความเสอมภาคโดยพื้นฐานเลยทีเดียว คนเป็นถึงรัฐมนตรีออกมาเขียนบทความเปิดผนึกแบบนั้น ถ้าไม่เรียกว่าแถ ก็ต้องบอกว่ามีความรู้เรื่องประชาธิปไตยสู้คนขับแท็กซี่ ป้า ลุง ชาวบ้านธรรมดาๆ (ที่ไปทวงถามความรับผิดชอบกับนายกฯอภิสิทธิ์เรื่อง 92 ศพ) ไม่ได้ วิธีคิดที่แบบแถสุดๆ ไม่เคารพข้อเท็จจริง แหตุผล หลักการ บนพื้นฐานประชาธิปไตยไงครับที่เป็นอุปสรรคต่อ “วัฒนธรรมทางปัญญา” แล้วยังปล่อยขี้เท่อว่า “อีก 20 ปี วาด รวี กับปราบดา หยุ่น อาจเขียนจดหมายเปิดผนึกขอโทษ ผมจะรอ” (ฮา) ส่วนบทความของนายกฯอภิสิทธิ์ผมวิจารณ์ไปแล้ว สรุปว่าท่วงทำนองการแถของรัฐมนตรีวัฒนธรรม (ผู้สูงอายุกว่าคุณวาด รวี และปราบดา หยุ่น) ก็เจริญรอยตามท่านนายกฯ นั่นเอง ข้อเสนอของผม (เดี๋ยวหาว่า “ดีแต่ติ”) คือ ถ้าชาวพุทธต้องการแก้ปัญหาพุทธศาสนาแบบไทยกันจริงๆ และสังคมไทยต้องการแก้ปัญหาประชาธิปไตยแบบไทยกันจริงๆ เราต้องรู้ทันวิธีคิดแบบแถ หรือวัฒนธรรมการอ้างเหตุผลแบบแถเข้าอ้างตัวเอง เพื่อประโยชน์ของตัวเอง โดยไม่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริง เหตุผล หลักการ เราต้องไม่ชื่นชม “จอมแถ” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ นักปราชญ์ราชบัณฑิต ปัญญาชน นักวิชาการ นักการเมืองที่พูดเก่ง ฯลฯ หรือใครก็ตามที่ชอบแถเพื่อหลบเลี่ยงเบี่ยงประเด็น ไม่มีความกล้าหาญเผชิญกับ “ประเด็นปัญหาที่แท้จริง” และข้อเท็จจริง เหตุผล หลักการบนพื้นฐานของพุทธศาสนาและประชาธิปไตยที่แท้จริงกันตรงๆ และเราต้องสร้างวัฒนธรรมการคิดแบบพุทธแบบประชาธิปไตยกันจริงๆ คือวัฒนธรรมการคิดที่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริง เหตุผล หลักการ บนพื้นฐานความเป็นพุทธและความเป็นประชาธิปไตยที่ยืนยันเสรีภาพ ความเสมอภาค และกติกาที่เป็นธรรมในการอยู่ร่วมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net