Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปี จนแทบจะเป็นความเคยชินเมื่อปรากฎเป็นข่าวในสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ โดยที่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเหตุการณ์ความรุนแรงได้ปะทุขึ้นเกือบทุกวัน การเกิดขึ้นของโรงเรียนวิถีอิสลาม หรือที่มีชื่อเรียกในภาษามลายูว่า โรงเรียน “ตักวา” เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส และสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งสำหรับครูและชุมชนในพื้นที่คือ การมีโรงเรียนวิถีอิสลามตอบสนองความต้องการของชุมชนที่นอกเหนือไปจากการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ผู้นำคนหนึ่งของเครือข่ายโรงเรียนตักวา จังหวัดชายแดนใต้ได้อธิบายว่า สำหรับประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นมุสลิมซึ่งเคร่งครัด มีสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ซึ่งประชาชนให้ความสำคัญสูงสุดเสมอด้วยชีวิตสองประการคือ ความเป็นศาสนาอิสลาม และความเป็นเชื้อสายมลายู อัตลักษณ์ทั้งสองประการคือประเด็นสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวคิดโรงเรียนวิถีอิสลามตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ โดยการพัฒนาคุณภาพของเยาวชนมุสลิมผ่านการศึกษาในระบบโรงเรียนของรัฐ ซึ่งไม่ใช่โรงเรียนตาดีกา หรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามดังที่เคยได้ยินกันมา แต่เป็นโรงเรียนของรัฐบาลที่นักเรียนทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดเป็นเยาวชนมุสลิม อย่างไรก็ตามโรงเรียนวิถีอิสลามไม่ใช่กระบวนการทั้งหมดโดยตัวของมันเอง แต่เป็นส่วนหนึ่งของแนวทาง “กัมปงตักวา” หรือ “ชุมชนศรัทธา” แนวคิดการทำงานของเครือข่ายชุมชนศรัทธาเกิดจากการวิเคราะห์สาเหตุของความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แตกต่างจากความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยที่มักมุ่งเน้นไปที่ประเด็นของ “การแบ่งแยกดินแดน” ในขณะที่คณะทำงานของชุมชนศรัทธาวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาเกิดขึ้นจากเหตุผลสำคัญคือ ความไม่เข้าใจของรัฐและสังคมต่อความแตกต่างในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ด้านศาสนาศิลปวัฒนธรรมและภาษา หลักศรัทธา และความเข้าใจคลาดเคลื่อนของชุมชนทำให้เกิดช่องว่างในการสื่อสารซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรม จากชุมชนศรัทธาสู่โรงเรียนตักวา การปฏิรูประบบการศึกษาที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ศาสนา ภาษาและความต้องการของประชาชนโดยรวม เป็นยุทธศาสตร์ข้อแรกที่คณะผู้ขับเคลื่อนแนวทางชุมชนศรัทธาใช้เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในการสร้างโรงเรียนวิถีอิสลามควบคู่ไปกับแนวทางชุมชนศรัทธา “กัมปงตักวา” จุดเริ่มต้นของการเกิดโรงเรียนวิถีอิสลาม มาจากการบุกเบิกของโรงเรียนบ้านจะแนะ ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ในปี 2547 ผู้ปกครองนักเรียนและกรรมการสถานศึกษาได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านจะแนะ ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอน ไปสู่โรงเรียนวิถีอิสลาม ดังนี้ 1).นักเรียนบางส่วนมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ก้าวร้าว ไม่มีสัมมาคารวะ ขาดวินัย ติดยาเสพติด มั่วสุมในอบายมุข ละเลยคำสอนของศาสนา ไม่ปฏิบัติตามหลักการของศาสนา 2). การที่โรงเรียนไม่ได้สอนความรู้ด้านอิสลามศึกษาอย่างพอเพียง ทำให้ผู้ปกครองซึ่งเคร่งครัดในศาสนาต้องส่งบุตรไปเรียนอัลกุรอาน และไปเรียนตาดีกาหลังเลิกเรียนรวมทั้งในวันเสาร์-อาทิตย์ ส่งผลนักเรียนซึ่งอยู่ในวัยเยาวชน ต้องใช้เวลาหมดไปกับการเรียน จนไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวและพักผ่อนตามวัยที่ควรจะเป็น3). การที่ผู้ปกครองนักเรียนไม่ศรัทธาในระบบการสอนของโรงเรียน จึงไม่ได้ดูแลให้นักเรียนไปโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้นักเรียนขาดเรียนบ่อย ส่งผลให้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ หรืออัตราการออกกลางคันสูง จากการวิเคราะห์ปัญหาข้างต้น โรงเรียนมีความเชื่อว่า การจัดหลักสูตรแบบบูรณาการโดยสอนหลักการทางศาสนาควบคู่กับความรู้ในหลักสูตรสามัญจะช่วยกล่อมเกลาให้เยาวชนมีคุณธรรมและจริยธรรมดีขึ้น และนำไปสู่การแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ จึงได้มีการทดลองจัดห้องเรียนวิถีอิสลามสำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ขึ้น 1 ห้อง เมื่อดำเนินการสอนได้ครบ 1 ปี โรงเรียนได้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่เรียนในห้องเรียนวิถีอิสลาม กับนักเรียนที่เรียนในหลักสูตรปกติ ใน 3 ด้าน คือ1) ผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียน 2) คุณธรรม จริยธรรม และ 3) ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน ผลการประเมินพบว่า นักเรียนที่เรียนในห้องวิถีอิสลามมีผลการเรียนไม่ด้อยกว่านักเรียนในหลักสูตรปกติ และบางวิชา เช่น ภาษาไทย มีผลการเรียนดีกว่า เนื่องจากนักเรียนมาเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอมากกว่านักเรียนในหลักสูตรปกติ ในด้านคุณธรรม จริยธรรม นักเรียนมีพฤติกรรมดีกว่านักเรียนในหลักสูตรปกติ และในด้านความพึงพอใจของผู้ปกครอง พบว่าผู้ปกครองพึงพอใจมาก ส่งผลให้ผู้ปกครองดูแลให้นักเรียนมาโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ จากผลสำเร็จดังกล่าว โรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนและจัดทำหลักสูตรอิสลามศึกษาแบบบูรณาการจนโรงเรียนบ้านจะแนะ กลายเป็นต้นแบบของโรงเรียนวิถีอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ความสำเร็จของโรงเรียนบ้านจะแนะ ยังมีประเด็นน่าสนใจนอกเหนือจากการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียน คือการที่โรงเรียนมีบทบาทต่อนักเรียนและชุมชนมากกว่าโรงเรียนทั่ว ๆ ไป ที่ทำหน้าที่สอนหนังสืออย่างเดียว โดยเฉพาะ การทำโครงการสวัสดิการแก่นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนหลายโครงการ โดยกิจกรรมที่โรงเรียนจัดเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เครือข่ายโรงเรียนตักวา จังหวัดชายแดนใต้ ความสำเร็จของโรงเรียนวิถีอิสลามที่มีโรงเรียนบ้านจะแนะเป็นต้นแบบนำมาสู่การรวมตัวของครูในโรงเรียนของรัฐ เพื่อสนับสนุนแนวทางโรงเรียนวิถีอิสลามในสี่จังหวัดชายแดนใต้ อันประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของโรงเรียนวิถีอิสลาม คือการที่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของชุมชนให้กลับมายอมรับและเป็นเจ้าของโรงเรียน จากเดิมที่ชุมชนเคยรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ใช่โรงเรียนของคนมุสลิม แต่เป็นโรงเรียนของคนไทยพุทธ เป็นโรงเรียนของรัฐดังคำที่ชุมชนใช้เรียกโรงเรียนของรัฐว่า “สากอเลาะซีแย” (โรงเรียนสยาม) แต่ในปัจจุบันชุมชนเรียกโรงเรียนวิถีอิสลามว่า “สากอเลาะกีตอ” (โรงเรียนของเรา) การก่อตั้งโรงเรียนวิถีตักวาของครูชายแดนใต้ จึงเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง ที่บรรดาผู้บริหารโรงเรียนของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความพยายามที่จะใช้กระบวนการศึกษาในโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานของศาสนาอิสลาม มาเป็นแนวทางหล่อหลอมคุณธรรม จริยธรรมของเยาวชน ด้วยความเชื่อที่ว่า เยาวชนที่เป็นมุสลิมที่ดีและเข้าใจในหลักการของศาสนาอย่างแท้จริง จะไม่มีวันเข้าร่วมการก่อความรุนแรง ทำลายล้างชีวิตผู้อื่น และชุมชนที่มีความศรัทธาในโรงเรียนย่อมมีความเต็มใจที่จะสนับสนุนลูกหลานให้มาเรียนในโรงเรียนของรัฐ และพร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่โรงเรียนจัดขึ้นอย่างเต็มที่ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่สำคํญที่สุดคือการทำลายเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติของภาครัฐที่มีต่อประชาชนในพื้นที่ ในขณะเดียวกัน การป้องกันเยาวชนและชุมชนไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้ต้องการใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายของกลุ่มตนเอง โดยใช้วิถีทางการศึกษาและหลักศาสนาของเครือข่ายโรงเรียนตักวา นับเป็นแนวทางที่น่าสนใจยิ่ง จากบทความเดิมชื่อ:โรงเรียนวิถีอิสลามกับการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net