Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นโยบายของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ เป็นนโยบายประชานิยมที่มุ่งจูงใจเกษตรกรให้ลงคะแนนให้ แต่อย่างไรก็ตามก็มีความแตกต่างอยู่บ้างระหว่างระบบการสนับสนุนเกษตรกรของพรรคการเมืองต่างๆและจำนวนเงินที่ใช้ในการสนับสนุน ในการพิจารณานโยบายการเกษตรของพรรคการเมือง มีประเด็นที่มีความสำคัญที่ควรพิจารณา 4 เรื่อง ได้แก่ หนึ่งนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่ดิน สองนโยบายการสนับสนุนราคาสินค้าเกษตร สามนโยบายการชลประทาน และสี่เรื่องการปรับโครงสร้างการเกษตรเพื่อรับมือกับปัญหาวิกฤตอาหาร พลังงานและสิ่งแวดล้อม 1. พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปัตย์มีจุดแข็งเรื่องนโยบายประกันรายได้ ซึ่งดีกว่านโยบายประกันราคาหรือรับจำนำซึ่งเข้าไปแทรกแซงระบบตลาดและนำไปสู่การคอรัปชั่นและเงินมักจะร่วงหล่นไม่ถึงมือเกษตรกรอย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญก็คือการประกันรายได้ซึ่งมีวงเงินถึง 56,000 ล้านบาทนั้น มิได้นำไปสู่การปรับโครงสร้างการเกษตร และการลดต้นทุนการผลิต พูดง่ายๆก็คือจำนวนเงินที่สนับสนุนการเกษตรในที่สุดจะไหลไปสู่นายทุนบริษัทปุ๋ย สารเคมีการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทหลายแห่งที่จะได้ประโยชน์เป็นพวกที่เคยซื้อโต๊ะสนับสนุนเงินให้กับพรรคการเมืองต่างๆนั่นเอง นโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่ดินของประชาธิปัตย์ดูเป็นรูปธรรมและชัดเจนกว่าหลายพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโฉนดที่ดินในที่ดินของรัฐ ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้ได้ประมาณ 250,000 ราย การดำเนินการดังกล่าวของพรรคนี้อาจทำให้แก้ปัญหาที่ดินของเกษตรกรได้ประมาณ 10% ของเกษตรกรที่มีปัญหาที่ดินในปัจจุบัน แต่คำถามสำคัญก็คือ เมื่อประชาธิปัตย์ดำรงตำแหน่งรัฐบาลนั้นทำไมโฉนดชุมชนจึงทำได้แค่พื้นที่เดียวคือคลองโยง นครปฐมเท่านั้น นโยบายการหาเสียงของประชาธิปัตย์จึงไม่ได้นำไปสู่การปรับโครงสร้างคือการปฏิรูปที่ดินเลย แม้แต่เรื่องกฎหมายภาษีที่ดินที่ถูกนำเสนอโดยพรรคนี้ก็มีปัญหาขัดแย้งกันเองภายใน เพราะคนที่ลุกขึ้นมาค้านก็คือคนในประชาธิปัตย์เองและมิได้มีการนำกฎหมายนี้เข้าไปสู่การพิจารณาของรัฐสภาในสมัยที่พรรคยังเป็นรัฐบาล 2. พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยควรจะมีนโยบายการเกษตรที่เกี่ยวกับเกษตรกรที่ดีกว่าประชาธิปัตย์ แต่กลับแย่กว่า ทั้งๆที่มีฐานเสียงที่เป็นเกษตรกรและประชาชนในท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก และการที่ใกล้ชิดกับขบวนการคนเสื้อแดง พรรคนี้ควรจะมีนโยบายที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างการเกษตรและปัญหาที่ดินและการขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมแต่กลับละเลยเรื่องสำคัญที่ควรทำไปแทบทั้งหมด การกลับไปหานโยบายรับจำนำนโยบายนี้จะทำลายกลไกการตลาด เปิดช่องให้มีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ และเปิดช่องให้มีการคอรัปชั่นเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนนโยบายการพักชำระหนี้สำหรับผู้ที่มีหนี้ไม่เกินห้าแสนบาท ไม่น้อยกว่า 3 ปี และสำหรับผู้ที่มีหนี้เกินห้าแสนแต่ไม่เกินหนึ่งล้านให้ปรับโครงสร้างหนี้ อาจบรรเทาปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้ชั่วระยะเวลาสั้นๆแต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรเลย ที่สำคัญนโยบายบัตรเครดิตเกษตรกรของพรรคนี้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้สินชาวนาเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเฉพาะยิ่งการกำหนดให้นำเงินกู้ไปซื้อปุ๋ยและสารเคมีการเกษตร เพราะในที่สุดแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทปุ๋ย สารเคมีการเกษตร และบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่ยักษ์ใหญ่และบรรษัทข้ามชาติ นโยบายการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ปัญหาชลประทานของพรรคเพื่อไทยสะท้อนความอับจนของแนวความคิดการชลประทานของประเทศไทยที่ไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศแต่กลับพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านหายใจ อย่างไรก็ตาม นโยบายที่พรรคเพื่อไทยพูดควรได้รับคำชมคือนโยบายการส่งเสริมการการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ อย่างเป็นธรรมและสมดุลรวมถึงการให้ความสำคัญกับการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประชาชนควรจับตาดูว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร หากพรรคเพื่อไทยสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 3.พรรคภูมิใจไทย ข้อเสนอเกทับพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทยโดยเพิ่มเงินประกันรายได้ถึงข้าวเปลือกตันละ 20,000 นั้น แม้จะสร้างความพอใจต่อชาวนา แต่จะเกิดปัญหาระยะยาวเพราะมุ่งแต่หาเสียงเพราะนโยบายประเภทนี้ไม่ทำให้เกษตรกรได้พัฒนาตนเองและไม่ได้นำไปสู่การปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรเลย อีกทั้งทำให้ประเทศต้องแบกรับภาระงบประมาณเกินความจำเป็น ข้อเด่นของพรรคภูมิใจไทยคือนโยบายเรื่องชลประทาน ซึ่งเน้นที่การจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยไม่ต้องสร้างเขื่อน ฝาย หรืออ่างเก็บน้ำขึ้นมาใหม่ ปัญหาคือว่าโครงการเหล่านี้จะถูกนำไปปฏิบัติแค่ไหน เพราะที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยซึ่งมีบทบาทในการบริหารกระทรวงเกษตรก็มิได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย เมื่อเปรียบเทียบการบทบาทในการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ และการสร้างถนนปลอดฝุ่น เป็นต้น พรรคภูมิใจไทยยังคงส่งเสริมการขยายพื้นที่การปลูกยางออกไปในภาคเหนือและอีสานแต่สิ่งที่พรรคการเมืองต่างๆต้องคิดใคร่ครวญอย่างรอบคอบก็คือการส่งเสริมการปลูกยางตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจะเผชิญกับความผันผวนทางการตลาด เพราะปริมาณการผลิตยางที่เพิ่มขึ้นของหลายประเทศทั่วโลกจะเกินความต้องการของตลาดในอีก 7-10 ปีข้างหน้า อีกทั้งต้องรับมือกับการผันผวนของราคาอันเกิดจากปัญหาความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างสมดุลระหว่างการปลูกพืชเศรษฐกิจ/พืชทดแทนน้ำมันกับความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งแทบไม่ปรากฎอยู่ในนโยบายพรรคการเมืองทุกพรรครวมถึงพรรคภูมิใจไทยด้วย 4. พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคนี้เป็นพรรคเดียวที่กล่าวถึงนโยบายการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังน่ากังขาว่าจะทำได้เพียงใดเพราะในขณะที่พรรคมีรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังไม่ปรากฎว่าได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืนแต่ประการใด มิหนำซ้ำยังปล่อยให้มีการผ่อนผันการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้แก่บริษัทสารเคมีการเกษตรสามารถขายต่อได้อีก 2 ปี ทั้งๆที่ควรดำเนินการให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีใหม่ให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด พรรคนี้มีความพยายามที่จะผลักดันนโยบายการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม แต่ก็ทำได้เพียงแค่อักษรในกระดาษเหมือนนโยบายภาษีที่ดินของประชาธิปัตย์ เพราะไม่สามารถขับเคลื่อนให้ผ่านสภาได้สำเร็จ 5. พรรคการเมืองอื่นๆ พรรคกิจสังคมผลักดันนโยบายชลประทานระบบท่อ ซึ่งใช้งบประมาณมหาศาล โครงการชลประทานในลักษณะนี้เป็นระบบชลประทานรวมศูนย์ไร้ประสิทธิภาพ และเท่าที่ผ่านมา โครงการทดลองชลประทานระบบท่อถูกทิ้งร้างเป็นอนุสาวรีย์ เพราะมีปัญหามากมาย ทั้งท่อแตก ท่อตัน น้ำไม่พอ และขาดการดูแล เป็นโครงการขายฝันที่ไม่น่าสนับสนุน พรรคชาติไทยพัฒนาเพื่อแผ่นดินที่มีนโยบายนำโครงการจำนำข้าวกลับมาใช้ใหม่ นโยบายนี้จะทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย พรรครักษ์สันติมีนโยบายที่ดีในการสร้างข้อกำหนดและข้อจำกัดการลงทุนทางการเกษตรต่างชาติเพื่อประโยชน์เกษตรกรไทย แต่นโยบายการโซนนิ่งทางการเกษตรที่เสนอโดยพรรคนี้นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะหากทำแบบรวมศูนย์จะสร้างผลกระทบทางลบมากกว่า ข้อเสนอนโยบายเกษตรของมูลนิธิชีววิถี ข้อเสนอทั้งหมดอยู่ภายใต้ฐานคิดของการลดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในระบบการผลิตทางการเกษตร อีกทั้งปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนเกษตรกรและภาคเกษตรเพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างเพื่อรับมือกับวิกฤติอาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อมซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วและมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต 1.ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปที่ดินและการจัดสรรที่ดินแก่เกษตรกร ให้มีการจัดซื้อที่ดินจากเอกชนเพื่อนำมาจัดสรรแก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยควบคู่กับการมีนโยบายภาษีที่ดินก้าวหน้า และการจำกัดขนาดการถือครองที่ดินของผู้ประกอบการรายใหญ่ส่งเสริมการนำโฉนดชุมชนมาใช้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายการดำเนินการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรได้ทั้งหมดอย่างน้อย 1 ล้านรายในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า หรือปีละ 250,000 ราย 2.การประกันรายได้แก่เกษตรกรเพื่อการปรับโครงสร้างการเกษตร สนับสนุนนโยบายประกันรายได้ของเกษตรกรและการพักชำระหนี้ โดยให้มีการกำหนดเกณฑ์ประกันรายได้ของเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรกรรมอินทรีย์ต้องมีส่วนต่างมากกว่าเกษตรกรทั่วไป 25% พักชำระหนี้ทันทีให้กับเกษตรกรที่เปลี่ยนจากเกษตรทั่วไปมาเป็นเกษตรกรรมยั่งยืน พร้อมเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 5-10 ปี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ต้องปล่อยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรที่ประสงค์จะปรับโครงสร้างการเกษตรมาเป็นเกษตรยั่งยืน (Green Credit) อย่างน้อยให้ได้ 25% ของยอดการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด 3.ส่งเสริมระบบชลประทานในไร่นาและการจัดการน้ำขนาดเล็กโดยชุมชน จัดสรรงบประมาณต่อปีเทียบเท่ากับงบประมาณการก่อสร้างรถไฟฟ้า 1 สาย (ประมาณ 50,000 – 60,000 ล้านบาท) เพื่อส่งเสริมการจัดหาแหล่งน้ำในไร่นาของเกษตรกร ในรูปสระเก็บน้ำ บ่อบาดาล ฯลฯ และสนับสนุนการดำเนินการของชุมชนหรือกลุ่มชุมชนในการจัดระบบชลประทานของตนเอง และมีการบริหารน้ำเป็นของตนเอง การลงทุนด้านการชลประทานถือเป็นการ “ลงทุน” ที่คุ้มค่า เพราะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการชลประทานที่มักให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองมากกว่าชนบท อย่างไรก็ตามการลงทุนด้านชลประทานต้องควบคู่ไปกับการปฏิรูปที่ดินด้วย เพราะมิฉะนั้นงบประมาณด้านชลประทานจะกลายเป็นการสนับสนุนเจ้าของที่ดินรายใหญ่และกลุ่มทุนทางการเกษตรที่ถือครองที่ดินไว้ในมือเป็นจำนวนมาก 4.กำหนดนโยบายความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตนเองทางอาหารให้เป็นวาระของประเทศ ยกระดับการพึ่งพาตนเองทางอาหารของครอบครัวเกษตรกรและชุมชนให้เพิ่มขึ้น กำหนดนโยบายความมั่นคงทางอาหารโดยกำหนดให้ “การผลิตอาหารต้องมาก่อนการผลิตพืชพลังงาน” (Food First Policy) สนับสนุนให้เกิดวิสาหกิจชุมชนในการผลิตเมล็ดพันธุ์ พ่อแม่พันธุ์สัตว์เลี้ยง ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ การผลิตอาหารสัตว์ เพื่อลดการผูกขาดของบริษัทขนาดใหญ่ทางการเกษตร รวมถึงมาตรการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดจากความแปรปรวนของภูมิอากาศ และการระบาดของโรคแมลง ลดปัญหาสารเคมีและสารพิษตกค้างในอาหารและการเกษตรลงโดยการลดปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ได้ครึ่งหนึ่ง ให้มีพื้นที่การผลิตแบบอินทรีย์ให้ได้อย่างน้อย 50% ในอีกสิบปีข้างหน้า พร้อมๆกับการพัฒนาระบบตลาดในท้องถิ่น ตลาดเกษตรกร หุ้นส่วนการผลิตระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค (Community Supported Agriculture) และความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเกษตรกรกับกรรมกร โดยการขายผลผลิตอาหารจากกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจท้องถิ่นให้กับสหภาพแรงงานหรือสหกรณ์ของผู้ใช้แรงงานในเขตอุตสาหกรรมในราคาที่ยุติธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net