Skip to main content
sharethis

ตามที่นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก และคณะเข้าพบ กสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิชุมชนต่อนโยบาย ยุบ ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554 โดยมีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ และนางวิสา เบ็ญจะมโน พร้อมด้วยนางเอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้ชำนาญการประจำสำนักงาน กสม. เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้วนั้น 16 มิถุนายน 2554 ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตัวแทนจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก นำโดย นายชาตรี เนาว์ธีรนนท์ กรรมการสภาการศึกษาทางเลือก และคณะ เดินทางเข้าพบนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อแจ้งความคืบหน้าและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ปัญหาและทางออกการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 7,000 โรง” โดยมีกลุ่มครู อาจารย์ นักเรียน และตัวแทนชุมชนจากภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน ที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุมเธียร์เตอร์ อาคารรัชมังคลา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในวันนี้นั้น มีข้อสรุปว่า ที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการยุบ ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กและต้องให้การจัดการศึกษาเป็นของชุมชน โดยขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเร่งดำเนินการ ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิต่อกรณีดังกล่าว นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวสะท้อนเรื่องการรวมศูนย์อำนาจทางการศึกษา ซึ่งการศึกษาจะต้องกระจายอำนาจการศึกษาออกไปให้ชุมชน นโยบายดังกล่าวกระทบต่อชุมชนในท้องถิ่น และเป็นการตัดสินปัญหาโดยการรวมศูนย์อำนาจซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา 87 คือ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน และมอบหมายให้นายคมสัน เมธีกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานคดีปกครองเป็นผู้รับผิดชอบศึกษาข้อมูลเพื่อดำเนินการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net