Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.54 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กว่า 60 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือกับอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อคัดค้านการทำแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียต่อกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี โดยมี นายวรากร บำรุงชีพโชต หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มารับหนังสือและตอบข้อซักถามของกลุ่มชาวบ้าน สืบเนื่องจาก กรณีที่บริษัท เอเชีย แปซิกฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ดำเนินการจัดทำแบบแสดงความคิดเห็นขนาดครึ่งหน้ากระดาษ A4 พร้อมเอกสารเผยแพร่โครงการฯ และกล่องรับเอกสาร นำไปวางตามหน่วยงานราชการ จำนวน 20 แห่ง ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม อาทิ ที่ว่าการอำเภอ, องค์การบริหารส่วนตำบล, สำนักงานเทศบาล และสถานีอนามัย ฯลฯ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยอ้างว่าจะนำไปประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า การทำแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ของบริษัทเอพีพีซีทำให้เกิดความสับสนขึ้นในพื้นที่ เพราะการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้มีในขั้นตอนของกฎหมายแร่ แต่บริษัทจะเอาผลไปแอบอ้างกับการทำรายงาน อีเอชไอเอ ที่กำลังทำอยู่ และการเอาเอกสารไปวางตามหน่วยงานราชการเพื่อให้ประชาชนไปแสดงความคิดเห็นก็เป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวของบริษัทฯ ดังนั้น จึงไม่มีความเหมาะสมใดๆ ที่จะนำผลไปประกอบ อ้างอิงในเชิงวิชาการได้ ด้านนายวรากร บำรุงชีพโชต หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ทางสำนักงานฯ ไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว และก็ไม่ทราบเรื่อง ซึ่งตอนนี้โดยหน้าที่ของตนก็รอเพียงเอกสารจากกรม (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ส่งมาให้ปิดประกาศเขตเหมืองก็จบ หมดหน้าที่ ขั้นตอนต่อไปก็เป็นเรื่องของบริษัทที่จะดำเนินการเอง ส่วนหนังสือของกลุ่มฯ ที่ยื่นมาวันนี้จะนำเรียนอธิบดีให้ เมื่อชาวบ้านสอบถามถึงข่าวมีนักลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาดูพื้นที่เพื่อจะทำเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน นายวรากร ตอบว่า ประเทศจีนให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสานจริง ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยเคมี และมีธุรกิจในประเทศลาว แต่เขาไม่ได้บอกชื่อบริษัท ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ทางกรมฯ ก็ได้พาลงไปดูพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด โดยมีวิศวกรที่ทำเหมืองแร่อยู่ในลาวร่วมเดินทางมาด้วย ก่อนที่จะมาคุยกับตนที่อุดร “เท่าที่คุยกันพบว่าจีนได้ให้ความสนใจที่จะขุดแร่โปแตชแทบทุกพื้นที่ในภาคอีสาน และในส่วนของอุดรฯ ผมก็บอกไปว่าถ้าไม่สร้างความกระจ่างชัดให้กับชาวบ้านในพื้นที่ก่อน คุณก็จะไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้” ชาวบ้านถามต่อว่าจีนได้ให้ความสนใจที่จะซื้อกิจการหรือร่วมลงทุนกับบริษัทเอพีพีซี ที่เหมืองโปแตชอุดร หรือไม่ นายวรากร ตอบว่า คงไม่ ถ้าหากเขาจะทำเหมืองจริงก็คงยื่นขอสัมปทานแปลงใหม่ ที่ไม่ทับซ้อนกับเจ้าของเดิมที่กำลังยื่นขออยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่ขอนแก่น มหาสารคาม หรือที่จังหวัดใดก็ตามที่มีผู้ขอเดิมอยู่แล้ว จากนั้น นายวรากร ได้เปิดเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่า บริษัทจากประเทศจีนที่เข้ามาดูพื้นที่จะขุดเหมืองโปแตชในภาคอีสานนั้น เป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับสถานทูตจีน ซึ่งตนก็ได้พาลงไปดูจุดที่จะทำการสำรวจในพื้นที่อำเภอเพ็ญ (จ.อุดรฯ) และคาดว่าจะมีการขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจหาแหล่งแร่โปแตช ภายในปีนี้ โดยจะครอบคลุมพื้นที่ไปถึง จ.หนองคาย และสกลนคร นายวรากรกล่าว ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน ให้ความเห็นว่า การที่ทุนจีนจะบุกเข้ามาลงทุนในภาคอีสานนั้น คงไม่ใช่แค่เรื่องเหมืองโปแตชเท่านั้น แต่จีนกำลังจะขยายพื้นที่ทางเศรษฐกิจมายังทางตอนใต้ บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะนำเอาเกลือไปใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งภาคอีสานถือว่าเป็นศูนย์กลางสำคัญที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพราะมีพื้นที่ราบเป็นบริเวณกว้างและสามารถต่อติดค้าขายออกสู่ทะเลไปทางประเทศเวียดนามได้ “ถ้ามีเหมืองแร่โปแตชผุดขึ้นมาอีกจะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสังคมตามมามากมาย เช่น ความเค็มของเกลือจะแพร่แผ่กระจายไปทั่วภาคอีสาน ปัญหาแรงงาน อาชญากรรม ยาเสพติด และอื่นๆ อีก ซึ่งรัฐควรศึกษาให้รอบด้าน ที่ผ่านมาเครือข่ายนักวิชาการและชาวบ้านในพื้นที่เรียกร้องให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมแร่โปแตช ระดับยุทธศาสตร์ทั่วภาคอีสาน หรือที่เรียกกันว่า เอสอีเอ แต่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือกพร.ก็ทำในส่วนของตัวเองจึงเกิดปัญหาเรื่องของความเป็นกลาง” นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า นักวิชาการ เอ็นจีโอ และนักศึกษาจะต้องร่วมกันติดตาม เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเลือกตั้งพรรคการเมืองต่างๆ ก็มักพูดถึงแต่เรื่องอุตสาหกรรม การสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อหาเสียง แต่กระบวนการต่อหลังเลือกตั้งแล้วนั้นจะเป็นอย่างไรต้องติดตาม เพราะพรรคการเมืองจะต้องตอบแทนกลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุนพรรคของตนอย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net