Skip to main content
sharethis

สนทนาพิเศษ “โฟนอิน” กับ ออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 66 ปี ว่าด้วยมุมมองต่อประชาธิปไตยในพม่า และสถานการณ์หลังรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งท่าทีของอาเซียนต่อพม่าที่ควรจะเป็น วันนี้ (18 มิถุนายน 2554) เป็นครบรอบวันคล้ายเกิด 66 ปี ของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่เธอได้ฉลองวันเกิดอย่างมีอิสรภาพ เนื่องในวาระดังกล่าว ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ในฐานะรองประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อประชาธิปไตยในพม่า (ASEAN INTER-PARLIAMENTARY MYANMAR CAUCUS) จึงได้จัดการประชุมสายโทรศัพท์กับนางออง ซาน ซูจี เมื่อวานนี้ (17 มิ.ย. 54) เพื่อแสดงความยินดีในวันคล้ายวันเกิด และสอบถามสถานการณ์ความเป็นไปของพม่าว่าด้วยประชาธิปไตย การคว่ำบาตร และอาเซียน ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้แสดงความยินดีแก่ ออง ซาน ซูจี เนื่องในวันเกิด 66 ปี และแสดงความเป็นห่วงต่อประชาชนชาวพม่า ที่ถูกกดขี่โดยรัฐบาลทหาร พร้อมทั้งเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ให้หยุดเอารัดเอาเปรียบประชาชนพม่าจากการลงทุนของรัฐบาลไทยในพม่าหลายโครงการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ชาวพม่า เช่น โครงการสร้างเมืองทวายเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ และโครงการสร้างเขื่อนสาละวิน เป็นต้น ต่อประเด็นดังกล่าว ออง ซาน ซูจี อดีตเลขาธิการพรรค National League of Democracy (NLD) กล่าวว่า ประเทศทุกประเทศ ควรระวังไม่ให้การลงทุนและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสมดุลทางนิเวศวิทยา เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันหมด ไม่จำกัดแต่ในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงบทบาทของอาเซียนด้วยว่า อยากให้อาเซียนปฏิบัติต่อพม่าในฐานะส่วนหนึ่งของภูมิภาค และมองว่าปัญหาที่เกิดในพม่า เท่ากับเป็นปัญหาของอาเซียน เช่น กรณีผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากพม่าที่ทะลักออกไปยังจีน และไทย ซึ่งส่งผลกระทบในหลายด้าน โดยนางย้ำว่า ปัญหาที่เกิดในพม่า เป็นปัญหาที่อาเซียนต้องร่วมกันแก้ไข เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าอย่างสันติ นอกจากนี้ ผู้นำฝ่ายค้านพม่ากล่าวว่า แทนที่พม่าจะเสนอตัวเป็นประธานอาเซียนในปี 2014 รัฐบาลพม่าควรจะแก้ไขเรื่องสิทธิมนุษยชนและนักโทษการเมืองในประเทศให้เรียบร้อยก่อน ถึงแม้ว่าตนเองจะได้รับการปล่อยตัวจากการกักขังตัวในบ้านแล้ว แต่ยังคงมีนักโทษการเมืองหลายพันคนที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในพม่าและยังไม่ได้รับการเหลียวแล รวมถึงปัญหาการสู้รบกับชนกลุ่มน้อยที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างรุนแรง ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลพม่าปัจจุบัน จะเป็นรัฐบาลพลเรือนซึ่งมาจากการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2553 แต่เธอมองว่าการเลือกตั้งดังกล่าว รวมถึงการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2551 เป็นการกระบวนการที่ไม่โปร่งใสและห่างไกลจากคำว่าประชาธิปไตย ทำให้รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างแท้จริง มิหนำซ้ำ ยังทำให้การปัญหาสู้รบกับชนกลุ่มน้อยรุนแรงมากขึ้นไปอีก ดังจะเห็นจากการสู้รบกับกองกำลังคะฉิ่น (KIA) ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา “การเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่จะต้องทำและบรรลุให้ได้ ไม่ใช่ว่าดีแต่พูด ณ ตอนนี้ ประชาชนชาวพม่ายังไม่สามารถรู้สึกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ประชาชนต้องรู้สึกและพิสูจน์ได้ เราจึงจะพูดได้ว่ารัฐบาลสร้างความเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาสำเร็จ ” สตรีวัย 66 ปี กล่าว ผู้สื่อข่าวได้สอบถามออง ซาน ซูจี ต่อท่าทีของสหภาพยุโรป ที่ลดความเข้มงวดของการคว่ำบาตรต่อพม่าลง เธอชี้แจงว่า สหภาพยุโรปกำลังทำการทบทวนรายชื่อของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลพม่า เนื่องจากมีรายชื่อบริษัทใหม่ๆ เกิดขึ้นมา และบางบริษัทก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับรัฐบาล มาตรการดังกล่าวจึงเป็นการทำให้การคว่ำบาตรยุติธรรมมากขึ้น และหวังว่าจะช่วยส่งเสริมกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศต่อไป เธอยังเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวด้วยว่า ในต้นเดือนกรกฎาคม เธอวางแผนจะเดินทางเพื่อพบปะประชาชนในจังหวัดต่างๆ นอกย่างกุ้ง และหวังว่าจะได้รับความปลอดภัยในฐานะประชาชนพลเมืองคนหนึ่ง ที่สมควรได้รับความคุ้มครองจากรัฐ การเดินทางครั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกที่เธอได้ออกไปพบปะประชาชนในต่างจังหวัดในรอบ 9 ปี สำหรับในประเทศไทย มีรายงานว่า มีการจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดนางออง ซาน ซูจี ในชุมชนชาวไทยและพม่า ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ นำโดยองค์กรสตรี และชนกลุ่มน้อย ที่ทำงานด้านประชาธิปไตยในพม่า โดยกลุ่มดังกล่าว เสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลพม่า ปล่อยตัวนักโทษการเมือง หยุดความรุนแรงต่อสตรี และการสู้รบกับชนกลุ่มน้อย และจัดให้มีการเจรจาระหว่างกลุ่มต่างๆ เพื่อนำไปสู่สันติภาพ กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อประชาธิปไตยในพม่า (ASEAN INTER-PARLIAMENTARY MYANMAR CAUCUS) เป็นการรวมตัวของสมาชิกรัฐสภาในประเทศอาเซียน ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2547 เพื่อรณรงค์ในประเด็นเรื่องประชาธิปไตยในพม่า โดยไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาฯ ระหว่างปี 2550-2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net