Skip to main content
sharethis

ในการอภิปราย “โฉมหน้ารัฐบาลและการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง” บก.รายการข่าวทีวีไทย เปรียบรัฐประหาร ยาสเตียรอยด์แก้ปัญหาได้แค่ช่วงแรก นักรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ย้ำต้องเลือกตั้ง แนะคนงานแสดงจุดยืนชัดเจนต่อรัฐประหาร ด้านนักวิชาการเศรษฐศาสตร์เผยไม่คาดหวังจากเลือกตั้ง เพราะไม่มีนโยบายปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (19 มิ.ย.54) ที่ห้องประชุม 14 ตุลาฯ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ มีการจัดอภิปรายเรื่อง “โฉมหน้ารัฐบาลและการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน \รำลึก 20 ปี ทนง โพธิ์อ่าน\" อดีตวุฒิสมาชิกสายแรงงานและผู้นำแรงงานที่หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 หลังออกมาคัดค้านการยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และต่อต้านการรัฐประหารของ รสช. เปรียบรัฐประหาร ยาสเตียรอยด์แก้ปัญหาได้แค่ช่วงแรก ก่อเขตต์ จันทเลิศลักษณ์ บรรณาธิการรายการข่าว ทีวีไทย กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดจบหรือจุดเริ่มของปัญหากันแน่ และไม่รู้ว่ากองทัพจะทำอะไรตามมา อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า การปฏิวัติที่ผ่านมาเป็นการทำลายประชาธิปไตยที่ชัดเจน พร้อมเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนยาสเตียรอยด์ที่แก้ปัญหาได้ในช่วงแรก แต่ไม่กินมากๆ จะมีผลข้างเคียง และชี้ว่าการรัฐประหารในปี 2549 นั้นทำให้เห็นแล้วว่ารักษาโรคไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงมองว่าวิธีนี้ไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ และทำให้ปัญหาใหญ่โตขึ้นอีก ก่อเขตต์ระบุว่า ในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ยังมองไม่เห็นแนวโน้มที่ดีที่จะไม่เกิดความขัดแย้ง โดยพรรคที่ถูกคาดว่าน่าจะได้อันดับหนึ่งยังยืนยันว่า ถ้าได้เสียงข้างมากจะมีสิทธิตั้งรัฐบาล และเตือนไม่ให้มือที่มองไม่เห็นหรืออำนาจนอกระบบเข้ามายุ่ง ส่วนพรรคอันดับสองก็ยังระบุว่า ตัวเองมีสิทธิตั้งรัฐบาล หากพรรคอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาลไม่ได้ รวมถึงมวลชนที่สนับสนุนพรรคอันดับหนึ่ง ก็บอกว่าต้องเอาคนผิดมาลงโทษ ถามว่าแล้วจะปรองดองกันได้หรือ และหากยิ่งได้เสียงถล่มถลาย ก็เท่ากับแรงกดดันจะมากขึ้น เช่นนี้แล้วจะไปต่ออย่างไร ก่อเขตต์ เสนอว่า ต้องอาศัยช่วงสองสัปดาห์นี้ ทำให้สิ่งที่คาดทุเลาลง โดยเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่มีส่วนขัดแย้ง หากมีเจตจำนงที่แท้จริงที่จะยุติความขัดแย้ง ต้องทำหรือไม่ทำอะไรที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมาอีก ย้ำต้องเลือกตั้ง แนะคนงานแสดงจุดยืนชัดเจนต่อรัฐประหาร ขณะที่ นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่คิดว่าประชาธิปไตยเท่ากับการเลือกตั้ง โดยมองว่าข้อผิดพลาดของพรรคไทยรักไทยคือ มองว่าเสียงที่เลือกตนมาคืออาณัติสวรรค์ เช่นเดียวกับที่ฝ่ายใช้รถถังมองว่านี่เป็นอาณัติสวรรค์ ซึ่งเธอมองว่าไม่ใช่ทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม นฤมลย้ำว่า ประชาธิปไตยไม่มีการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งเป็นการแก้ความขัดแย้งแบบไม่ต้องใช้รถถังและไม่ต้องรบกัน ส่วนตัวไม่ว่าจะชอบหรือไม่การเมืองแบบคณิตศาสตร์ ที่มีการคำนวณเสียงจัดตั้งรัฐบาล แต่ในโลกปัจจุบันยังไม่มีวิธีอื่นนอกจากการเมืองแบบนี้ ส่วนตัวจึงยืนยันว่า การเลือกตั้งเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ความขัดแย้ง และแม้จะคาดการณ์ได้ว่าพรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาล ก็อาจจำเป็นต้องเล่นเกมแบบนี้ เพราะทำให้กระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งได้ทำหน้าที่ ทั้งนี้ เธอตั้งข้อสังเกตว่า การเมืองบนถนนปัจจุบัน ไม่ใช่แบบสิบปีที่แล้ว ตอนนี้ไม่มีกฎกติกามารยาทหรือสนใจว่าใครจะรับได้รับไม่ได้ หรือชนชั้นกลางหรือสื่อจะเอาด้วยหรือไม่ เพราะเกิดความรู้สึกว่าการหยุดหรือทำให้ระส่ำระสายมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเธอตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้เรื่องนี้ศิวิไลซ์ กลับมาอยู่ในร่องในรอย และใช้กลไกทางรัฐสภาได้ ผู้ร่วมเสวนาถามว่าหากทักษิณกลับมาจะทำอย่างไร นฤมลตอบว่า ถ้าอยากกลับก็กลับมา แต่กรณีผิดสัญญาประกันก็ต้องยอมรับ หากบอกว่าไม่ยุติธรรมก็ต้องสู้คดี เธอแนะนำว่า ไม่ควรทำเรื่องธรรมดาให้เป็นข้อยกเว้น หรือทำให้เป็นเรื่องใหญ่มาก อย่างที่บางคนบอกว่าถ้ามาก็ต้องตายกันไปข้าง อย่าไปใช้มาตรการพิเศษแก้ปัญหาเรื่องที่ยังไม่ใช่สถานการณ์พิเศษ สำหรับบทบาทของขบวนการแรงงานไทยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ นฤมลเสนอว่า ต้องกลับไปทำงานสร้างฐานมวลชน รวมถึงแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าไม่เอารัฐประหารอีกแล้ว นอกจากนี้ ยังเสนอให้ผู้ใช้แรงงานพูดคุยกันและประกาศท่าทีต่อประเด็นต่างๆ อาทิ ชาตินิยม ค่าจ้างขั้นต่ำ การย้ายฐานการผลิต เพื่อเป็นทางเลือกที่สามด้วย เผยไม่คาดหวังจากเลือกตั้ง เพราะไม่มีนโยบายปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ด้าน ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คนที่จะมากุมอำนาจรัฐ เท่าที่พอจะรู้มีแค่สองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งยังเชื่อในพลังอำนาจของราชการและตามด้วยทุน กลุ่มที่สอง เชื่อในพลังทุนและตามด้วยราชการ ในความคิดของตน นี่จึงไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างชนชั้น ไม่ใช่เรื่องของไพร่กับอำมาตย์ แต่เป็นการต่อสู้ของกลุ่มยุทธศาสตร์ที่ประกอบด้วยกลุ่มชนชั้นหลากหลาย โดยแต่ละกลุ่มมีส่วนผสมตั้งแต่ยอด-รากเหมือนๆ กัน อยู่ที่ว่าจะชูใครขึ้นมา เขากล่าวด้วยว่า ภายใต้การที่สังคมโลกเคลื่อนตัวไปสู่ระบบทุนนิยมเกือบทั้งหมด ในไทย จากปกติที่จะมีการสะสมทุนในภาคเอกชน แต่ขณะนี้ ทุนได้เข้ามากุมอำนาจรัฐ โดยบ้านเราแหล่งทุนที่ใหญ่ที่สุดคืองบประมาณ เพราะฉะนั้นการที่ทุนด้านหนึ่งสะสมทุนด้วยตัวเองจนยิ่งใหญ่ เมื่อเข้าถึงงบประมาณ เท่ากับทุนสองก้อนอยู่ในมือคนกลุ่มเดียว ส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีพลานุภาพสูงตามมา ถ้าต้องการปฏิรูป ก็ต้องปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ถ้าไม่ปรับเท่ากับว่า นายจ้างผู้กุมทุนก็จะอยู่เหนือคนงานตลอดไป พ่อค้ามีอำนาจเหนือชาวนา มหาอำนาจเหนือประเทศเล็ก รัฐเหนือประชาชน อย่างไรก็ตาม ณรงค์กล่าวว่า เมื่อไม่มีพรรคใดพูดถึงการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จึงไม่เคยคาดหวังอะไรจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเลือกไป พรรคไหนเข้ามาก็อาศัยพลานุภาพทุนหมด ฉะนั้นมองว่าหลังการเลือกตั้ง ในทิศทางใหญ่ๆ ของการขับเคลื่อนทางสังคมและการเมืองจะไม่มีอะไรเปลี่ยน ยกเว้นนโยบายลูกกวาด ดังนั้น เขาเสนอว่าถ้าวันนี้ยังมีพลังไม่พอ ก็ต้องสะสมพลังไว้แก้ไขปัญหาต่อไป โดย \"นั่งบนภู ดูหมากัดกัน\" ไปก่อน ณรงค์เล่าว่า จากการเคยเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมือง 4 พรรค ได้แก่ พรรคไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ ความหวังใหม่ และกิจสังคม ไม่มีพรรคไหนสนใจสร้างความเข้มแข็งให้กระบวนการแรงงานเลย ที่หวังทำงานผ่านพรรคการเมืองไม่เป็นจริง นอกจากนั้นผู้นำแรงงานไปอยู่ในพรรค ก็ลืมฐานและถูกมติพรรคจำกัดไว้ พร้อมเสนอด้วยว่า ถ้าจำเป็นต้องเลือกพรรคใด ก็ให้เลือกพรรคเล็กๆ ที่ไม่มีชื่อเสียง เพื่อเป็นการเลือกพรรคเล็กเขกหัวพรรคใหญ่"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net