Skip to main content
sharethis

เผยผลสำรวจมูลนิธิเอเชีย อิทธิพลต่อการลงคะแนนเลือกตั้งของคนชายแดนภาคใต้ ข้อค้นพบ 7 หัวข้อ ชี้ผู้นำศาสนามีอิทธิผลมากสุด ขัดแย้งกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ภาพจาก http://www.learners.in.th/blog/tudtu/117041 ในเมื่อคนในชายแดนภาคใต้แตกต่างกับคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยในหลายเรื่อง ทั้งอัตลักษณ์ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม แล้วในเรื่องการเมืองต่างกันไหม คำถามที่น่าสนใจในบรรยากาศก่อนเลือกตั้งอย่างนี้ คือ อะไรที่มีอิทธิพลต่อการเลือกลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในหนังสือเรื่อง “ประชาธิปไตยและความขัดแย้งในภาคใต้” การสำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้งในยะลา นราธิวาสและปัตตานี ของมูลนิธิเอเชีย ได้นำเสนอข้อค้นพบจากการสำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา นราธิวาส และ ปัตตานี เป็นครั้งแรก หัวข้อหนึ่งในนั้น คือ อิทธิพลที่มีต่อการเลือกลงคะแนน คิม แมคเควย์ ผู้แทนประเทศไทย มูลนิธิเอเชีย กล่าวในคำนำว่า การสำรวจใช้วิธีสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว โดยสุ่มตัวอย่างจากตัวแทนประชากรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 750 คน ระหว่างวันที่ 2 กรกฎาคม ถึง วันที่ 30 สิงหาคม 2553 โดยการสนับสนุนขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเสด (United State Agency for International Development) ดำเนินการโดย MIAdvisory คิม บอกว่า การสำรวจครั้งนี้เป็นงานสืบเนื่องจากการสำรวจระดับประเทศในปี 2552 เป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อให้ข้อมูลและมุ่งวัดความรู้และทัศนคติต่อประชาธิปไตยและสถาบันประชาธิปไตยของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อประเมินกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย คำถามสำหรับหัวข้อ “อิทธิพลที่มีต่อการเลือกลงคะแนน” นี้ มี 7 คำถาม ผลการสำรวจของแต่ละคำถามมีดังนี้ การเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง คำถาม คือ คนที่แตกต่างกันต้องคำนึงถึงปัจจัยที่แตกต่างกัน เมื่อตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับการเลือกตั้งกรุณาบอกเราว่า ปัจจัยอะไรที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อคุณ? ผลสำรวจ พบว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ ความพร้อมในการทำงานและการเข้าถึงตัวได้ง่ายของผู้สมัครรับการเลือกตั้ง 44% (ผลการสำรวจระดับประเทศ 50%) ปัจจัยสำคัญอื่นๆ ประกอบด้วย การศึกษา 20% (ระดับประเทศ17%) และความสำเร็จของบุคคล10% (ระดับประเทศ10%) ความเคร่งครัดในศาสนาและค่านิยม 9% (เฉพาะในชุมชนมุสลิม10% ส่วนชุมชนชาวพุทธมีเพียง 1%) การเลือกพรรคการเมือง คำถาม คือ สำหรับพรรคการเมือง อะไรคือคุณสมบัติที่คุณคำนึงถึงมากที่สุด? ผลสำรวจ พบว่า ในการเลือกพรรคการเมือง มีความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างคนไทยระดับประเทศและในภาคใต้ตอนล่าง ไม่นับการให้ความสำคัญต่อผู้นำของพรรคการเมืองในระดับประเทศ และความสำคัญของพรรคการเมือง ที่เชื่อมโยงกับศาสนาในภาคใต้ตอนล่าง คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ ใช้เหตุผลในการเลือกพรรคการเมือง ตัวอย่างเช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่มองย้อนกลับไปในอดีต เพื่อหาตัวบ่งชี้ผลงานที่พรรคจะทำในอนาคต 55% (ระดับประเทศ 57%) ส่วนใหญ่กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ในอดีตหรือความสำเร็จของพรรค เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของพวกเขา โดยประวัติศาสตร์ของพรรคและความสำเร็จในอดีต มีความสำคัญต่อชุมชนชาวพุทธ 60% ชุมชนมุสลิม 53% โดยมี 22% (เท่ากับระดับประเทศ) คิดว่าแผนงานในปัจจุบัน ของพรรคมีความสำคัญมากที่สุด ขณะที่ 19% เลือกบนพื้นฐานของบุคลิกและความสำเร็จของผู้นำพรรค สำหรับผู้ที่อยู่ในภาคใต้ตอนล่าง 10% เห็นว่า ผู้นำพรรคสำคัญน้อยกว่าความมีสัมพันธ์กับศาสนา อิทธิพลของผู้นำท้องถิ่น คำถาม คือ “เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะรู้จักผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีหลายคน หรือผู้สมัครคนใดจะดีที่สุดสำหรับพื้นที่ของเรา ดังนั้นควรจะเชื่อคำแนะนำของผู้นำท้องถิ่น เมื่อต้องตัดสินใจที่จะเลือกใคร” คำตอบ คือ ให้ระบุว่า เห็นด้วยมาก เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยมาก ผลสำรวจ พบว่า16% ของคนไทยทั้งประเทศคิดว่า มีเหตุผลที่รับได้ในการทำตามคำแนะนำของผู้นำท้องถิ่น แต่ภาคใต้ตอนล่าง 37% ยึดถือความคิดเห็นนั้นอยู่ ดังนั้น จึงยิ่งทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดการศึกษาสำหรับพลเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งกว่าส่วนอื่นของประเทศไทย ข้อค้นพบนี้สนับสนุนความรับรู้ที่ว่า สังคมในภาคใต้ตอนล่างเป็นสังคมที่ยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมาอย่างมาก เช่นเดียวกับที่ได้เห็นในข้อค้นพบอื่นๆ แม้จะมีการกล่าวอ้างเสมอว่า ผู้นำท้องถิ่นมีอิทธิพลเหนือกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาก แต่ข้อค้นพบจากการสำรวจเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยมีเพียง 16% ในระดับประเทศเห็นด้วยว่า การทำตามคำแนะนำของผู้นำท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม มากกว่าหนึ่งในสาม หรือ 37% ของผู้ตอบแบบสอบถามในภาคใต้ตอนล่าง กลับยอมรับอิทธิพลของผู้นำท้องถิ่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสูงอายุจะคล้อยตามความเห็นของผู้นำท้องถิ่นมากกว่า โดย 22% ของผู้ที่มีอายุ 50 ปี ในระดับประเทศ และ 40% ในภาคใต้ตอนล่าง ในระดับประเทศ ผู้หญิง (18%) รับอิทธิพลของผู้นำท้องถิ่นมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย (13%) แต่ในภาคใต้ตอนล่าง ทั้งหญิงและชายได้รับอิทธิพลไม่แตกต่างกัน รวมทั้งกลุ่มชาวพุทธและมุสลิม (38%) ด้วย คำตอบต่อคำถามนี้ในภาคอื่นของประเทศก็ค่อนข้างคล้ายกัน ยกเว้นภาคอีสาน ที่มีหนึ่งในสี่ (25%) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่มีเหตุผลที่ต้องฟังผู้นำท้องถิ่น ส่วนภาคอื่นๆ มีเพียง 11% ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ผู้ที่อยู่ในภาคใต้ตอนล่าง มีโอกาสรับอิทธิพลของผู้นำท้องถิ่นในการตัดสินใจทางการเมืองมากที่สุด โดยผู้ที่จบการศึกษาระดับอนุปริญญา/อาชีวะศึกษา และผู้จบประถมศึกษาในภาคใต้ตอนล่างได้รับอิทธิพลสูง มากกว่าเป็นสองเท่า (44% และ 40% ตามลำดับ) ของผู้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย (20%) อิทธิพลของครอบครัว คำถาม คือ คุณคิดว่าสมาชิกของครอบครัวควรทำตามคำแนะนำของหัวหน้าครอบครัวเมื่อต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับการลงคะแนนเสียงหรือเขาควรตัดสินใจเลือกด้วยตัวเขาเอง ? ผลสำรวจ พบว่า ในระดับประเทศ ประชาชน 90% เชื่อว่า สมาชิกในครอบครัวควรตัดสินใจด้วยตัวเองในการเลือกตั้ง ข้อค้นพบนี้ ค่อนข้างตรงกันในภูมิภาคต่างๆ ยกเว้นในภาคเหนือและภาคใต้ตอนล่างที่ 18% คิดว่า สมาชิกในครอบครัวควรทำตามคำแนะนำของหัวหน้าครัวเรือน และ 21% ในกลุ่มที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาก็มีความคิดเช่นนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นมุสลิม 19% ให้การยอมรับมากต่อคำแนะนำของครอบครัว เปรียบเทียบกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวพุทธที่มีเพียง 6% เท่านั้น ผู้หญิงที่มีสิทธิเลือกตั้งในปัตตานี 27% เป็นผู้ที่เชื่อฟังมากที่สุดในภาคใต้ตอนล่าง ขณะที่ผู้ชายที่มีสิทธิเลือกตั้งในยะลา 6% เป็นผู้ที่ยอมรับอิทธิพลของครอบครัวน้อยที่สุด บทบาทของศาสนาในการเมือง คำถาม คือ พระหรือผู้นำทางศาสนามักถูกมองว่า เป็นผู้นำทางศีลธรรมในชุมชน บางคนจึงกล่าวว่า ผู้นำศาสนาควรเกี่ยวข้องกับการเมืองให้มากขึ้น ขณะที่บางคนเห็นว่าควรหลีกเลี่ยงในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางโลก และควรสนใจเฉพาะเรื่องศีลธรรมและศาสนาของชุมชน ข้อไหนใกล้เคียงกับความคิดเห็นของคุณ ? ผลสำรวจ พบว่า มีเพียง 8% ของคนไทยระดับประเทศคิดว่า ผู้นำศาสนาควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองให้มากขึ้น ชาวมุสลิมในภาคใต้ตอนล่างถึง 31% และชาวพุทธ 7% สนับสนุนความคิดนี้ 36% ของครัวเรือนที่มีรายได้ระดับกลาง ต้องการให้ผู้นำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำมีเพียง 25% เท่านั้น ข้อค้นพบเหล่านี้ชี้ว่า ขณะที่สังคมแบบจารีตนิยมของภาคใต้ตอนล่างมีศาสนาเป็นรากฐาน ก็มีการใช้เหตุผลของวิถีประชาธิปไตย เพื่อข้ามเส้นแบ่งทางศาสนาอยู่ด้วยเช่นกัน อิทธิพลของผู้นำศาสนา คำถาม คือ ถ้าผู้นำศาสนาของคุณชักชวนให้คุณสนับสนุนพรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ คุณคิดว่าการชักชวนนั้นจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคุณในการเลือกตั้งอย่างไร ? มาก น้อย ไม่มาก หรือไม่มีเลย ? ผลสำรวจ พบว่า นอกจากจะมีฉันทามติที่เป็นเอกฉันท์ร่วมกันว่า ไม่ต้องการให้ผู้นำทางศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง คนส่วนใหญ่ในระดับชาติ คือ 91% มีความเห็นคล้ายกันว่า ความคิดเห็นทางการเมืองของผู้นำทางศาสนา มีผลเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีผลเลยต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของพวกเขา ข้อนี้ แตกต่างจากภาคใต้ตอนล่างอย่างชัดเจน เพราะ 34% ของทั้งหญิงและชาย ระบุว่า ผู้นำศาสนาสามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของพวกเขา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และมากกว่า 60 ปี (40% และ 41% ตามลำดับ) เป็นผู้ที่เปิดรับอิทธิพลเหล่านั้นมากที่สุด ขณะที่ผู้ที่มีอายุ 30 ปี และผู้ที่มีระดับรายได้สูง เป็นผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากผู้นำทางศาสนาน้อยที่สุด (26% และ 25% ตามลำดับ) แต่ยังคงห่างไกลจากค่าเฉลี่ยระดับประเทศ การรับรู้เรื่องการซื้อเสียง คำถาม คือ ถ้ามีพรรคการเมืองเสนอที่จะให้เงิน อาหาร หรือของขวัญแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนี้ จะมีสักกี่คนที่ลงคะแนนเสียงให้เพราะเหตุนั้น มาก บางส่วน น้อย เกือบไม่มีเลย ? ผลสำรวจ พบว่า เสียงส่วนใหญ่ คือ 58% ของระดับประเทศและ 64% ในภาคใต้ตอนล่าง เชื่อว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งของเขา อาจจะได้รับอิทธิพลจากการซื้อเสียง ไม่ว่าความเชื่อนี้จะถูกหรือผิด ก็ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการเลือกตั้ง และความชอบธรรมของผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้ง ข้อค้นพบนี้เห็นพ้องกันอย่างมากทุกภูมิภาค โดยความแตกต่างมากที่สุด คือคำตอบที่ว่า “เกือบไม่มีเลย” ซึ่งเรียงลำดับจากมากคือ 16% ในชนบทภาคเหนือ ถึงน้อยเพียง 7% ในชนบทภาคใต้ และ 5% ในภาคใต้ตอนล่าง เมื่อผลสำรวจชี้อย่างนี้แล้ว จากนี้คงต้องดูต่อไปว่า การเลือกตั้งในพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งนี้จะออกมาอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net