บทวิเคราะห์รอยเตอร์ ชี้ กองทัพเลือกข้างแล้ว เมื่อการเลือกตั้งใกล้จะมาถึง

สำนักข่าวรอยเตอร์ ตีพิมพ์บทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเลือกตั้งไทย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า กองทัพได้ปัด “ความเป็นกลาง” ทิ้งไปแล้วในการเลือกตั้งในครั้งนี้ และมุ่งโจมตียิ่งลักษณ์เนื่องจากความนิยมพุ่งนำสูงในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ประเมิน หากพรรคเพื่อไทยชนะและได้จัดตั้งรัฐบาล อาจต้องเปิดเจรจากับกองทัพเพื่อให้ได้ตกลงข้อแลกเปลี่ยนที่ลงตัว สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้ตีพิมพ์บทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเมืองไทย “Analysis: Thai army takes sides as divisive election nears” ซึ่งเขียนโดย Martin Petty เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ประชาไทจึงขอแปลและสรุปประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอ ดังนี้ นักวิเคราะห์มองว่า หากพรรคเพื่อไทยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ การรัฐประหารอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของชนชั้นนำที่อาจนำมาใช้ อย่างไรก็ตามอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากหากกองทัพทำรัฐประหาร จะเสี่ยงต่อการออกมาชุมนุมของคนเสื้อแดงจำนวนหลายพันคน ซึ่งอาจซ้ำรอยกับเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมปีที่แล้ว จึงน่าจะเป็นไปได้มากกว่าว่า ยิ่งลักษณ์อาจเปิดการเจรจากับกองทัพ เพื่อรักษาไว้ซึ่งการดำรงอยู่รัฐบาล และป้องกันไม่ให้เกิดการจลาจลบนท้องถนน ยิ่งวันเลือกตั้งใกล้เข้ามาถึงเท่าใด กองทัพก็พยายามใช้หลายมาตรการเพื่อหยุดชะงักการลงหาเสียงของยิ่งลักษณ์ และสกัดไม่ให้มีการนิรโทษกรรมให้ทักษิณได้สำเร็จ รอยเตอร์มองว่า การออกมาให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบก ซึ่งได้ออกมาพูดทางโทรทัศน์ด้วยใบหน้าตึงเครียดว่า กองทัพจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้น “ล้วนสื่อความหมายออกไปในทางตรงกันข้าม” เพราะการกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดว่า กองทัพได้เลือกข้างไปแล้ว การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของกองทัพในครั้งนี้ อาจมองได้ว่า เป็นการใส่เชื้อเพลิงเพิ่มลงไปในความขัดแย้งที่ยาวนานถึงห้าปี ระหว่างคนเสื้อแดงซึ่งเป็นคนจนในชนบทและในเมือง กับกองทัพ นายพล องคมนตรี ข้าราชการชนชั้นกลาง และครอบครัวผู้มีอิทธิพล (old-money families) ที่หนุนหลังพรรคประชาธิปัตย์ นักวิเคราะห์ชี้ว่า คำพูดของประยุทธ์ เป็นการกระทำที่มุ่งดิสเครดิตยิ่งลักษณ์แห่งพรรคเพื่อไทย ซึ่งการกระทำดังกล่าวจากประยุทธ์ เป็นปฏิกิริยาหลังจากที่โพลล์ได้สำรวจความคิดเห็นว่า เพื่อไทยน่าจะมีแนวโน้มชนะการเลือกตั้ง นอกจากนี้ รอยเตอร์ยังระบุ หลังจากการรัฐประหารครั้งล่าสุด งบประมาณทหารของไทยได้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า และกองทัพก็ได้ “ยืนอยู่ด้านหลังอภิสิทธิ์อย่างมั่นคง” โดยมีบทบาทในการช่วยตั้งรัฐบาลในปี 2550 และช่วยจัดการกับผู้ชุมนุมเสื้อแดงในเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ถึงแม้ยิ่งลักษณ์จะกล่าวว่า หากเธอได้เป็นนายกฯ จะดำเนินแผนการปรองดอง โดยสัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกองทัพ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อเช่นนั้น เนื่องจากความไม่เชื่อใจในทักษิณยังคงหยั่งลึก และเพียงแค่คำสัญญาของยิ่งลักษณ์ก็คงจะช่วยอะไรไม่ได้นัก โดยบทวิเคราะห์ชี้ว่า หลังการเลือกตั้ง ทหารน่าจะเข้ามามีบทบาทต่อการจัดตั้งรัฐบาล โดยทหารอาจใช้วิธีที่ระมัดระวังในการกีดกันไม่ให้พรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยการโน้มน้าวพรรคเล็กไม่ให้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยได้รับเสียงข้างมาก แต่ไม่พอที่จะเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดได้ แต่ถ้าหากเพื่อไทยชนะขาดลอย หรือชนะมากเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคขนาดกลางอีกหนึ่งพรรค ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะเกิดการรัฐประหาร ถึงแม้ว่าจะเสี่ยงต่อการออกมาชุมนุมของคนเสื้อแดงจำนวนหลายพัน และอาจเกิดการนองเลือด แต่หากประยุทธ์ได้ยินข่าวว่า พรรคเพื่อไทยหวังจะเอาคืน การรัฐประหารก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ รอยเตอร์ได้อ้างถึงแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเพื่อไทยและทหาร กล่าวว่า อาจเป็นไปได้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเพื่อไทยและกองทัพกำลังเจรจา โดยให้พรรคเพื่อไทยสามารถเป็นรัฐบาล เพื่อแลกกับการตกลงว่ากองทัพจะไม่ถูกแก้แค้นหรือเอาคืน ต่อประเด็นดังกล่าว อภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า เขารับรู้ว่ากองทัพได้รับการติดต่อมาจากเพื่อไทยเพื่อตกลงในข้อแลกเปลี่ยน ส่วนทักษิณ ยังไม่สะดวกให้ความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท