YC สัมภาษณ์ 'คำ ผกา'

The Yellow Crimson (YC) หนังสือพิมพ์ (ออนไลน์ในเฟซบุ๊ก) โดยกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สัมภาษณ์ “คำ ผกา” นักเขียนหญิงฝีปากกล้าแห่งยุค กับประเด็นร้อน “พิธีกรรมรับน้องใหม่” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา หลังจากจบงานเสวนา “พิธีกรรมรับน้องใหม่: Be Young and Shut Up?” ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ทีมงาน YC ได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่แขก หรือ คำ ผกา นักเขียน และคอลัมนิสต์ วิพากษ์สังคมไทย ที่มีแนวคิดทวนกระแส ซึ่งคมคาย ยอกย้อนต่อวิธีคิดกระแสหลัก YC : ถ้านักศึกษากำลังจะจัดงานรับน้อง พี่แขกมีอะไรที่อยากจะบอก การกระทำนั้นไหม? พี่แขก: ไม่อยากจะด่ารุ่นพี่ แต่อยากให้นักศึกษาปีหนึ่ง ไม่ต้องไป ทำได้ไหม ถ้าไม่ไป? YC : คิดว่านักศึกษาปีหนึ่งมี power ที่จะกล้าปฏิเสธไหม? พี่แขก: มี แต่ว่าคิดกันไปเองว่าตัวไม่มี มันเป็นสิ่งที่ทำได้ อย่างที่พี่ได้บอกไปก่อนหน้าว่า มึงแก่กว่ากูปีเดียว จะไปรู้อะไรมากกว่าเราสักแค่ไหน ถ้าไม่ไปจะเกิดอะไรขึ้น มันไม่ผิดกฎหมายใช่ไม๊ ไม่ผิดกฎมหาวิทยาลัย ไม่โดนยกเลิกปริญญา ไม่มีอะไรแบบนี้ที่จะกระทบกระเทือนต่ออนาคต ในเชิงรูปธรรม และถามว่าการไม่มีรุ่น มันสำคัญแค่ไหนล่ะ ก็กูไม่อยู่รุ่นมึงก็ได้ กูก็จะเรียนให้เก่งกว่านี้ ไปเรียนเมืองนอก กูจบปริญญาเอกจาก Harvard มา กูจะเอาไหมเนี่ยรุ่นของมึง แต่ว่านักศึกษาใหม่ถูกทำให้คิดไม่ได้ เหมือนที่เขานึกไม่ออกว่าสังคมที่มันไม่มีพี่กับน้องมันมีด้วยเหรอ และมันจะอยู่ยังไง มันจะเป็นเมืองไทยรึเปล่าถ้ามันไม่มีพี่กับน้อง YC : แต่เมื่อนักศึกษาปีหนึ่งไม่ยอม กลับถูกรุ่นพี่กดดัน boycott พี่แขก: ถ้ามึง boycott กูได้ กูก็ boycott มึงได้เหมือนกัน เราขอข้าวรุ่นพี่กินรึเปล่า ก็ไม่ใช่ เรากินข้าวโรงอาหาร ไม่มีใครไล่เราออกจากโรงอาหาร คือมันต้องประท้วงให้ถึงที่สุด แต่ไม่ได้ประท้วงด้วยการไปยกป้ายประท้วง เรื่องที่ง่ายๆ คุณไม่ทำอ่ะ อะไรที่ไม่ถูกต้องไม่ชอบทำ แล้วเราไม่แฮปปี้ YC : อย่างที่พี่แขกเสนอว่าให้ยกเลิกชุดนักศึกษา ธรรมศาสตร์ก็ยกเลิกในระดับหนึ่งแล้ว แต่ว่ามันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง วิธีคิดก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พี่แขกเห็นว่าไงครับ? พี่แขก: แต่มันจะค่อยๆ เปลี่ยน หมายความว่า หากยกเลิกชุดนักศึกษาในปีนี้ อุดมการณ์อาจจะยังไม่เปลี่ยน แต่ถ้าคุณไม่มีชุดนักศึกษาไปอีกสักสิบปี คุณไม่มีอนุสาวรีย์ให้ระลึกถึง อุดมการณ์มันก็จะเปลี่ยน ค่อยๆ เปลี่ยน มันเหมือนสถาปัตยกรรมหรือว่าการว่างผังเมือง มันมีวิธีทำให้คนสยบยอมต่อรัฐเผด็จการ แต่ขณะเดียวกัน การวางผังเมือง ก็คือการเปิดพื้นที่ ให้คนรู้สึกว่าเมืองที่มีเสรีภาพ เมืองที่มันมีพื้นที่ public เยอะๆ มีเสรีภาพ คนที่อยู่แล้วมีความสุข กับเมืองที่จะบีบๆให้คนรู้สึกมองขึ้นไปข้างบน กับเมืองที่ว่างผังให้แพร่ออกไปด้านข้าง ชุดนักศึกษาก็คล้ายๆ กับสถาปัตยกรรมบนร่างกายของเรา และมันจะเทรนอุดมการณ์ กักขังความคิดบางอย่างให้มันแข็งทื่อตลอดไป YC : แต่ในธรรมศาสตร์เอง ประเพณีการไม่ใส่เครื่องแบบมาเรียน มันก็มีมาค่อนข้างนานมากแล้ว พี่แขก: แต่มันยังไม่ถูกยกเลิกไปเลยอย่างสิ้นเชิง เวลาสอบเรายังต้องใส่ ยังเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยอยู่ แต่ในมหาวิทยาลัยอื่น อย่างในอเมริกา อย่างในญี่ปุ่น มันไม่มีโดยสิ้นเชิง มันไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับสถาบัน แล้วตัวสถาบันก็ไม่ได้มีความเป็นธรรมศาสตร์ในเชิงที่ยังผูกกับบุญบารมีความศักดิ์สิทธิ์ YC : พี่แขกคิดอย่างไรกับตรรกะที่บอกว่า เป็นพิธีกรรมที่ทำให้พี่กับน้องมารักกันมากขึ้น พี่แขก: แล้วทำไมต้องรักกัน ประเด็นคือว่า เราต้องตั้งคำถามว่าความรักจำเป็นแค่ไหน เราต้องการความเคารพกัน เราไม่ต้องการความรักกัน YC : สมมติว่า เราต้องรักกันจริงๆ ต้องให้มันสามัคคีกันจริงๆ แล้วเนี่ย ที่ญี่ปุ่น อย่างใน ASAFAS ใน ม.เกียวโต เนี่ย เค้ามีพิธีกรรมอะไรอย่างนี้กันบ้างไหม ? พี่แขก: เค้าไม่ได้รักกัน เค้าไม่ได้สามัคคีกัน คือ ทุกคนเป็นปัจเจกมาก แล้วก็เท่ากัน แต่ว่า ความเป็น Sempai - Kohai (รุ่นพี่ - รุ่นน้อง) มันเป็นในแง่แค่ว่า คุณต้องจ่ายเงินมากกว่าตอนไปกินเลี้ยง เพราะว่าคุณเงินเดือนเยอะกว่า ถ้าคุณเป็นตำแหน่ง ศ. ผศ. ป.เอก ป.โท เวลาไปปาร์ตี้เราต้องหารกัน ก็คือหารกันตามรายได้ ใครเป็นชนชั้นทางเศรษฐกิจสูง รายได้สูง ก็ต้องจ่ายเยอะ เพราะเงินเยอะ ไม่มีการเลี้ยงกัน แค่ใครจ่ายเยอะกับจ่ายน้อย แล้วไม่ได้มาอะไรกันมาก กลัวที่จะต้องอยู่ใกล้กันด้วยซ้ำไป เค้าจะไม่เช่าบ้าน ไม่บอกให้เพื่อนรู้นะ ว่าเค้าอยู่ที่ไหน เพราะมันจะสูญเสียความเป็นส่วนตัว ไม่มีการเชิญไปบ้านและก็ไม่มีการนับญาติ ก็สัมพันธ์กันในเชิงวิชาการ YC : ในธรรมศาสตร์จะมีแนวคิด ในเรื่องความเท่าเทียมกัน การให้เสรีภาพแก่นักศึกษา แต่ทำไมสิ่งที่ธรรมศาสตร์พยายามจะสร้างขึ้น ถึงไม่ประสบความสำเร็จในสังคมไทย พี่แขก: ก็เพราะว่าโครงสร้างสังคมทั้งหมดมันไม่ได้เอื้อต่อปรัชญาที่ว่าด้วยความเสมอภาค ตั้งแต่ภาษาที่เราพูด และก็ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกในระดับที่เป็นหน่วยครอบครัวเล็กๆ ทุกวันนี้พ่อแม่คนไทย ยังเลี้ยงลูกไม่ปล่อย ยังใช้อำนาจพ่อแม่ ในเรื่องของความรัก และก็ไม่เคยปล่อยให้ลูกเป็นผู้ใหญ่ เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ยังเห็นลูกเป็นเด็ก คำอธิบายที่ใช้ในระดับรัฐ คนที่เป็นพลเมืองหรือรุ่นน้อง มักจะนึกเสมอว่า เรายังต้องพึ่งพิงอำนาจที่อยู่เหนือตัวเองอยู่เสมอ เพราะไม่เคยไปพ้นจากอำนาจพ่อแม่ตัวเองเลย YC : วิธีที่จะแก้คืออะไรครับ? พี่แขก: คิดว่าต้องแก้ที่ภาษา อย่างจอมพล ป. ก็มาถูกทางแล้ว เริ่มมี ฉัน เธอ ท่าน แต่ว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรมและการปฏิวัติทางภาษาของจอมพล ป. มัน ก็สะดุด เพราะว่า อำนาจของคณะราษฎรก็ถูกทำลาย เพราะฉะนั้นการปฏิวัติวัฒนธรรมมันไม่เกิด ในเมื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมมันไม่เกิด ตรงนี้มันก็ยาก เพราะมันไม่มีจินตนาการสำหรับสังคมเสมอภาค และทุกวันนี้ เราก็ยังมีลิฟท์เฉพาะอาจารย์ มีส้วมเฉพาะอาจารย์ ซึ่งจริงๆ แล้วมันขัดกับหลักความเสมอภาคอย่างยิ่ง แล้วทีนี้ จะเป็นสังคมที่มีชนชั้นชัดเจนแบบอังกฤษไปเลยมั้ย ก็ไม่เป็น อย่างอังกฤษชนชั้น ก็มีที่ทาง มีบทบาทของตัวเองชัดเจน บทบาทของชนชั้นแบบอังกฤษ ประชาธิปไตยแบบอังกฤษ มันสัมพันธ์กัน คือสถาบันกษัตริย์แบบอังกฤษชัดเจนแบบนั้นไปเลย คุณได้ตรงนี้มา คุณต้องเสียอะไรบ้าง เหมือนที่อาจารย์พิชญ์ บอกว่า ถ้าคุณใส่ครุยไปกินข้าว ก็โอเค คุณก็จ่ายถูกๆ กลายเป็นว่าการที่คุณใส่ครุยไปกินข้าว แปลว่าคุณไม่ค่อยมีตังค์ แต่ว่าของไทยมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างถึงที่สุด มันผสม มันถูก localization ทุกอย่างทุกปรัชญาที่นำมาใช้ มันถูกทำให้เป็นไทยๆ แล้วถามว่าไอ้ความที่เป็นไทยๆ นี้มันคืออะไร มันเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนรู้ แต่พูดไม่ได้ มันไปติดตรงนั้นหมดเลย และถามว่าทำไมความเป็นไทยๆ แบบนี้มันดำรงอยู่ YC : คิดยังกับคลิปของ ม.มหาสารคามครับ พี่แขก: ถ้าคุณไม่แฮปปี้กับระบบนี้ ทางเลือกของคุณคือเอาตัวเองออกจากระบบ ไม่ใช่การท้าทายระบบ มันไม่เปิดพื้นที่ให้เกิดการดีเบต ไม่เห็นว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุย การที่มีคนมาขัดแย้งความคิดของคุณ คุณต้องรับฟังความขัดแย้งนี้ และเห็นว่ามันดีมากเลย ที่สังคมมีความขัดแย้ง แต่กลายเป็นว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมมีความขัดแย้ง มีคนลุกขึ้นมาท้าทาย จะต้องมีคนมาตะโกนว่าออกไปๆ !! YC : สุดท้าย ถ้าจะบอกว่า จริงๆ แล้ว ไอ้การที่พี่ๆ มันอยากจะออกมาจัดกิจกรรมรับน้องเนี่ย มันสะท้อนให้เห็นถึง nature ของมนุษย์ ที่อยากจะมีอำนาจ เหมือนอย่างที่ Nietzsche เรียกว่า “Will to Power” พี่แขกคิดว่ายังไงครับ พี่แขก: แต่เรามีวัฒนธรรม (culture) นะ เราไม่ได้อยู่กับธรรมชาติ (nature) อย่างเดียว เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่ขัดเกลา ฝึกฝนได้ ธรรมชาติมันมี แต่เราต้องใช้วัฒนธรรมในการขัดเกลา แม้ว่าตอนนี้ เสียงแบบนี้ (ไม่เห็นด้วยกับการรับน้อง) อาจเป็นเสียงส่วนน้อย แต่ในเมื่อยืนยันว่าอยากมีสังคมแบบนี้ อยากเห็นสังคมแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะเอาปืนไปจี้ใครให้เปลี่ยนความคิด แต่เราก็ต้องให้ข้อมูล ให้ความคิดเห็นแก่พื้นที่สาธารณะ หมายเหตุ: YC หรือ The Yellow Crimson หนังสือพิมพ์นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เริ่มก้าวแรกด้วยการเผยแพร่ออนไลน์อยู่ในเฟซบุ๊ก (http://www.facebook.com/pages/The-Yellow-Crimson/215992768433332?sk=info) ก่อตั้งเมื่อ เดือน 6 วันที่ 9 ปี 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท