Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1. สถานการณ์ด้านความมั่นคง ด้านการเมืองของประเทศไทยนั้น อาจจะมองได้ในหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่ค่อนข้างจะชัดเจนและทำให้มองเห็นผลกระทบ เห็นอุปสรรคสำคัญต่อการก้าวเดินของประเทศก็คือ การที่มักจะเห็นภาพการรวมตัวกันของกลุ่มอำนาจ/กลุ่มอิทธิพลทางการเมือง ที่อาจแยกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก เผชิญหน้า และขัดแย้งกัน ต่อสู้กันทุกวิถีทาง กลุ่มหนึ่งมีนโยบายแสดงออกหรือใช้เป็นข้ออ้างในลักษณะมุ่งรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมของประเทศ อีกกลุ่มหนึ่งต้องการและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจเดิม เพื่อสร้างโอกาสให้กับกลุ่มตัวเอง แต่ทั้ง 2 กลุ่มกลับไม่เคยมีนโยบาย มีกรอบคิด/ทิศทาง การก้าวเดินของประเทศอย่างจริงจัง ที่จะส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศสามารถก้าวเดินไปพร้อม ๆ กันได้ ทั้ง 2 กลุ่มมัวมุ่งเอาชนะ มีอิทธิพลเหนืออีกกลุ่มตลอดเวลา ประชาชนจึงกลายเป็นเพียงเครื่องมือ เป็นเพียงเหยื่อที่ถูกครอบงำ อยู่ภายใต้การชี้นำ การโฆษณาชวนเชื่อที่หลากหลาย เพื่อให้มาสนับสนุนกลุ่มอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของตนเท่านั้น 2. นโยบายการรับสถานการณ์ และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของรัฐบาล ของพรรคการเมือง และกลุ่มอำนาจใด ๆ ก็ตามที่ผ่านมา จึงมักสะท้อนออกมาในรูปประชานิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะให้ผลดีในระยะสั้น หรือแค่ชะลอปัญหาออกไปเท่านั้น ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวจะย้อนกลับมา และรุนแรงกว่าเดิม สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนเพิ่มขึ้นอีก แน่นอนบางรัฐบาลก็มีเจตนาดี มุ่งมั่นจะแก้ปัญหาให้ได้เบ็ดเสร็จ แต่เมื่อยังไปยึดติดกับกระบวนการกำหนดนโยบาย/ยุทธศาสตร์ระดับชาติที่ใช้มากว่า 50 ปี ตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น โดยที่ไม่ได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมอย่างใด เป็นกระบวนการ ฯ ที่ถูกครอบงำ ถูกชี้นำโดยมหาอำนาจในภูมิภาค รวมทั้งกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม จึงเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินการ ต่อการผลักดันให้เป็นรูปธรรมแท้จริงได้ ในที่สุดเมื่อเดินต่อไม่ได้ นโยบายดังกล่าว ก็จำเป็นต้องถูกแปรเปลี่ยนเป็นประชานิยมอยู่นั่นเอง บางรัฐบาล บางพรรคการเมือง หันไปใช้วิธีการกำหนดนโยบาย/ยุทธศาสตร์ที่อาจจะใช้ได้ผลดีในภาคธุรกิจ หรือได้ผลดีสำหรับการแก้ไขปัญหาในระดับหน่วย ระดับองค์กร ฯ (แต่ไม่ใช่ระดับชาติ ?) คือการเอาปัญหาสำคัญ ปัญหาตามกระแสเป็นตัวตั้ง และพยายามกำหนดเป็นนโยบาย/ยุทธศาสตร์ แยกแต่ละปัญหาโดยไม่มีกรอบคิด/ทิศทางก้าวเดินใด ๆ ของประเทศมาเป็นหลักเป็นกรอบพื้นฐานเลย จากประสบการณ์การพัฒนาประเทศที่มีมายาวนานของไทยเอง วิธีการแก้ไขปัญหาที่เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แยกออกมาดังกล่าวนั้น ไม่สามารถจะแก้ไขหรือแม้แต่ควบคุมปัญหาระดับชาติที่ซับซ้อนเกี่ยวโยงกันหลาย ๆ มิติได้ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างการพยายามแก้ไขหรือแม้แต่ควบคุมปัญหาระดับชาติที่ผ่าน ๆ มา เช่น การลดช่องว่างในสังคม การคอรัปชั่น ที่ยิ่งแก้ก็มีแต่จะขยายกว้างออกไป ปัญหายาเสพติดหรือความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ที่มักถูกกล่าวอ้างว่ามาถูกทางแล้ว ก็ยังคงยืดเยื้อต่อไป รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านก็ไม่สามารถเดินต่อได้ เมื่อยังใช้วิธีคิดกรอบคิดเดิม ๆ อยู่ เป็นต้น 3. เราจะปล่อยให้ประเทศไทยก้าวเดินไปผิดทิศผิดทางอย่างนี้หรือ หวังพึ่งแต่นโยบายประชานิยม ในการรับสถานการณ์แก้ไขปัญหาระดับชาติที่มีผลเพียงชั่วคราว เป็นแค่ภาพลวงตาอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ หรือ หากประเทศไทยจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้ในลักษณะที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเดินไปได้พร้อม ๆ กัน ประเทศยืนหยัดแม้ในสภาวะแวดล้อมที่มีความซับซ้อน มีปัญหาทับถมมากมาย โดยยังคงรักษาอัตตลักษณ์ของประเทศไว้ได้ไม่ถูกครอบงำ ประเทศไทยคงต้องมีหรือทบทวนกรอบคิด/ทิศทางก้าวเดินของประเทศใหม่ เพื่อใช้เป็นกรอบเป็นพื้นฐานหลักสำหรับการกำหนดนโยบาย/ยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาระดับชาติต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับนโยบายประชานิยม เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง นอกจากนี้กรอบคิด/ทิศทางก้าวเดินใหม่ของประเทศดังกล่าวในสภาวะแวดล้อมใหม่ที่มีความซับซ้อนในสภาวะแวดล้อมที่สังคมโดยรวมมีความอ่อนแอมากนั้น ยังจำเป็นต้องมี กระบวนการ/ขั้นตอน ในการกำหนดนโยบาย/ยุทธศาสตร์ เพื่อทำให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ เกิดความยับยั้งชั่งใจและตระหนักถึงความสำคัญต่อสังคมร่วมกันด้วย 4. ปัจจุบัน ประชาชนในระดับชุมชนหลาย ๆ ชุมชนทีเดียว ที่เมื่อรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพาใครได้ และเพื่อความอยู่รอดของชุมชนเอง ก็ได้ตื่นตัวพยายามกำหนดกรอบคิด/ทิศทางก้าวเดินของชุมชนกันเอง สะท้อนความต้องการร่วมกันของชุมชน พึ่งพาตนเองภายในชุมชนกันมากขึ้น แม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ชุมชนไม่ยอมจำนนต่อปัญหาต่อความทุกข์ยากต่าง ๆ ลุกขึ้นกำหนดกรอบคิด/ทิศทางแก้ปัญหากันเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังเป็นตัวอย่างกรอบคิด/ทิศทางก้าวเดินระดับชุมชน ไม่ใช่ระดับชาติ อีกทั้งกรอบคิด/ทิศทางดังกล่าว ยังมีลักษณะเฉพาะชุมชนที่มีมากมายหลากหลายชุมชนด้วย โดยสรุปสิ่งสำคัญที่ประชาชนทุกคน ทุกฝ่ายควรช่วยกันเรียกร้อง รวมทั้งร่วมกันหาคำตอบก็คือ “แล้วอะไรและอย่างไร” ที่ควรเป็นกรอบคิด/ทิศทางก้าวเดินของประเทศ ที่จะสามารถใช้เป็นกรอบพื้นฐานหลักสำหรับการกำหนดนโยบาย/ยุทธศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ ระดับชาติ ที่จำเป็นต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับนโยบายประชานิยม เพื่อให้ประเทศก้าวเดินไปข้างหน้าได้ เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยืนหยัดและรักษาอัตตลักษณ์ของประเทศไว้ได้ด้วย (หากทุกฝ่ายจะช่วยกรุณาแสดงความคิดเห็น รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะ ที่อาจช่วยนำไปสู่การกำหนดกรอบคิด/ทิศทางการก้าวเดินของประเทศ รวมทั้งกระบวนการให้ได้มาซึ่งกรอบคิด/ทิศทางดังกล่าว ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net