Skip to main content
sharethis

 

สืบพยานจำเลยคดีเผาศาลากลางมุกดาหารวันแรก จำเลยขึ้นเบิกความ 6 ปาก พร้อมพยานอีก 2  จำเลยทั้ง 6 อ้างไม่ได้ร่วมก่อเหตุ แต่ถูกจับและทำร้ายร่างกายนอกรั้วศาลากลาง ถูกขังบนรถ 3 วัน 2 คืน อีกทั้งให้การตรงกันว่า การสอบสวนไม่มีทนายและอัยการเข้าร่วมตามที่ดีเอสไอกำหนด

21 มิถุนายน 2554 ศาลจังหวัดมุกดาหารนัดสืบพยานจำเลยเป็นวันแรก มีจำเลยที่ 2,3,5,7,8 และ 9 ขึ้นเบิกความ รวม 6 ปาก โดยให้การว่าในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จำเลยส่วนใหญ่มาธุระในเมืองเห็นการชุมนุมและควันไฟจากการเผายางที่ข้างศาลากลางจึงเข้ามาดูเหตุการณ์ อีกส่วนหนึ่งตั้งใจมาศาลากลางเพราะได้ยินข่าวการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ จึงมาเพื่อร่วมกดดันรัฐบาลให้หยุดฆ่าประชาชน จากนั้น จำเลยที่ขึ้นเบิกความ 5 คน ให้การว่า พวกเขาซึ่งต่างคนต่างมา เข้าไปในบริเวณศาลากลางขณะที่ประตูรั้วเปิดอยู่ และเพียงแต่ดูเหตุการณ์อยู่ห่างๆ จำเลยเห็นมีการกลิ้งยางเข้าไปใกล้อาคารศาลากลางหลังเก่า โดยได้ยินว่าเพื่อกดดันให้รัฐบาลหยุดฆ่าประชาชน บางคนเข้าไปช่วยกลิ้งยางออกเมื่อมีการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ด้วย

 
ช่วงหลังเที่ยง เมื่อเหตุการณ์เริ่มรุนแรง มีการจุดไฟเผากองยางที่อยู่ใกล้ตัวอาคารหลังเก่า จำเลยแต่ละคนจึงเดินออกมาด้านนอกรั้ว แต่ยังเฝ้าดูเหตุการณ์อยู่ข้างนอก บ่ายโมงกว่าไฟก็ลุกไหม้ตัวอาคาร ไม่มีใครเห็นว่า ใครเป็นผู้จุดไฟ จากนั้น  ไฟลุกไหม้อาคารศาลากลางอยู่ 2 ชั่วโมงกว่า ทั้งหมดยังอยู่นอกรั้วเพื่อดูเหตุการณ์ ประมาณใกล้ 4 โมงเย็น จำเลยที่ 9 และ 11 จึงมาถึงศาลากลาง จอดมอเตอร์ไซค์อยู่ด้านนอกรั้ว และเดินมาชิดรั้วเพื่อดูเหตุการณ์ ตอนนั้น กำลังชุดควบคุมฝูงชนทำการสลายการชุมนุม โดยวิ่งไล่คนที่อยู่บริเวณศาลากลางด้านในออกมาด้านนอก จำเลยทั้ง 6 ซึ่งอยู่นอกรั้วเบิกความว่า ไม่ได้วิ่งหนีเหมือนคนอื่น เนื่องจากคิดว่าตนเองไม่ได้ทำผิดอะไร


 

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงตัว จำเลยทั้งหมดก็ถูกควบคุมตัว บางคนถูกสั่งให้หมอบ บางคนถูกถีบหรือตีขาให้ล้มลง จากนั้น 3 คนให้การว่าถูกตีด้วยไม้กระบองนับครั้งไม่ถ้วน จนไม้กระบองหักก็มี ที่เหลือถูกเหยียบหรือเตะด้วยรองเท้าคอมแบท จากนั้น ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปสมทบกับจำเลยคนอื่นๆ ที่ถูกจับในวันนั้นรวม 16 คน ตำรวจพาจำเลยทั้งหมดขึ้นรถกระบะไป สภ.เมืองมุกดาหาร ทำการสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันเผาทรัพย์โดยไม่มีทนายอยู่ด้วย ซึ่งทุกคนให้การปฏิเสธ หลังจากนั้น จำเลยทั้งหมดถูกนำตัวขึ้นรถผู้ต้องขังกลับมาที่ศาลากลาง โดยจอดอยู่บริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์ ร.5 ด้านหน้าอาคารที่ถูกไฟไหม้ และถูกควบคุมตัวอยู่ในรถอย่างนั้นเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ตำรวจจึงนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำมุกดาหาร ขณะถูกขังอยู่ในรถ จำเลยต้องปัสสาวะใส่ขวด หากจะถ่ายหนักตำรวจจะควบคุมตัวไปห้องน้ำทีละคน


 

หลังจาก จำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำในฐานะผู้ต้องหา มีการไปสอบปากคำเพิ่มเติมในวันที่ 23 กรกฎาคม จำเลยที่ขึ้นเบิกความทั้ง 6 ให้การตรงกันว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปสอบปากคำเพียงคนเดียว ไม่มีทนายหรืออัยการเข้าร่วม(หมายเหตุ: คดีนี้เป็นคดีพิเศษที่กำหนดให้การสอบสวนผู้ต้องหาทุกครั้ง ต้องมีพนักงานอัยการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษแต่งตั้งเข้าร่วมด้วย-ประชาไท)) นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังไม่ได้บันทึกคำให้การต่อหน้าผู้ต้องหา แต่มีเป็นเอกสารที่พิมพ์มาเรียบร้อยแล้วมาให้ลงลายมือชื่อโดยไม่ได้ให้จำเลยอ่าน หรืออ่านให้ฟัง
 
นอกจากจำเลยทั้ง 6 แล้ว มีอาสาสมัครรักษาดินแดน(อส.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในบริเวณศาลากลางในวันที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ขึ้นให้การเป็นพยาน 1 คน พยานให้การว่าปกติปฏิบัติหน้าที่อยู่ อ.ดอนตาล แต่ในวันเกิดเหตุได้รับคำสั่งให้มาดูแลความสงบที่ศาลากลาง เวลาประมาณ 11.00 น. พยานเห็น อส.ที่ดูแลป้อมหน้าประตู ซึ่งพยานไม่รู้จัก ได้ทำการเปิดประตูให้ผู้ชุมนุมเข้ามาในบริเวณศาลากลาง พยานเห็นว่ามีรองผู้ว่าฯ ลงมาเจรจากับผู้ชุมนุม และการกลิ้งยางเข้าไปกองที่บริเวณใกล้อาคารเกิดจากการตกลงกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมแล้วว่าให้ทำเพียงเท่านี้ พยานเป็นผู้เตือนผู้ชุมนุม รวมถึงจำเลย 4 คน ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน และพบกันขณะพยานเดินดูแลเหตุการณ์อยู่ภายในบริเวณศาลากลาง ให้กลับออกไปนอกศาลากลาง เนื่องจากเหตุการณ์เริ่มรุนแรง โดยจำเลยก็เชื่อฟังพยาน ออกไปอยู่นอกรั้ว ก่อนที่จะเกิดเหตุไฟไหม้อาคารศาลากลาง   
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net