Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อเดิม : A Cry from the Grave เสียงร่ำไห้จากหลุมศพ เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook เมื่อวานไปดูภาพยนตร์ที่ทางสถาบันศาสนาและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพจัดฉายเรื่อง A Cry from the Grave เกี่ยวกับการสังหารหมู่ครั้งใหญ่สุดในยุโรปนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีผู้นำการสนทนาคือคุณ Igor Blazevic ซึ่งเกิดขึ้นประเทศบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา และปัจจุบันทำงานเป็นนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน เป็นภาพยนตร์ที่ดูแล้วหมดแรงกับความป่าเถื่อนโหดร้ายที่มนุษย์จะสามารถกระทำได้ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง บอสเนียเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลางระหว่างสามรัฐที่มีปัญหาต่อกันคือโครเอเชียกับเซอร์เบีย บอสเนียจึงเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนามาก คงเพราะว่าอยู่ตรงกลางนั่นเอง ในความเห็นของคุณอิกอร์ เหตุที่ทั้งสามรัฐไม่เคยมีปัญหาต่อกันในแง่ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนา คงเป็นเพราะสมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวียภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ของนายพลเผด็จการติโต้ (ที่คนไทยคนหนึ่งชื่นชอบและแปลหนังสือเผยแพร่) ศาสนาไม่เคยเป็นประเด็นแห่งความขัดแย้ง ความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์และศาสนาจึงเริ่มขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ที่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกเริ่มประกาศตนเป็นอิสระ ในฝ่ายของประชาชนชาวบอสเนียเชื้อสายเซิร์บ ซึ่งเป็นชาวคริสต์ก็มีความพยายามสถาปนาอาณาจักรของตนเอง ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือเมืองเซเบรนิกา (Srebrenica) ซึ่งเดิมอยู่ในเขตของบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาติดกับพรมแดนของประเทศเซอร์เบียพอดี เมืองแห่งนี้เคยเลื่องชื่อเรื่องการเป็นเมืองอาบน้ำแร่แช่น้ำร้อน เป็นสปาแห่งการท่องเที่ยวที่สำคัญในยุโรป สืบเนื่องจากทิวทัศน์ทางธรรมชาติอันเป็นช่องเขาที่สวยงาม และแหล่งบำบัดตามธรรมชาติอื่น ๆ ใครจะรู้บ้างว่าภายในเวลาเพียงสิบวัน สงคราม ความทะยานอยากที่จะประกาศเชื้อชาติตนและศาสนาตนว่าเหนือเชื้อชาติและศาสนาอื่น จะเป็นชนวนเหตุให้ผู้คนเกือบทั้งเมืองเสียชีวิต เป็นการเสียชีวิตอย่างเลือดเย็น ในขณะที่กลไกสหประชาชาติและประชาคมนานาชาติต่างนิ่งเฉยปล่อยให้การสังหารล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเอาโทษต่อผู้กระทำผิดได้ทั้งหมด ประชากรส่วนใหญ่ในเมืองเซเบรนิกาเป็นชาวมุสลิม ในช่วงก่อนหน้าการสังหารหมู่ในเดือนกรกฎาคม 2538 มีความพยายามจากนานาชาติที่จะคุ้มครองชีวิตประชาชนในเมืองนี้อยู่บ้าง โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็น “พื้นที่คุ้มครอง” (Safe Area) และต่อมามีการส่งทหารของยูเอ็นเข้ามาประจำการ ภาพยนตร์เรื่องนี้เสนอภาพฟุตเทจหลายส่วนที่ไม่เคยมีการเผยแพร่มาก่อน ภาพของนายพลชาวเนเธอร์แลนด์พร้อมกองทัพยูเอ็นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยทหารจากเนเธอร์แลนด์ยาตราเข้ามาในเมือง ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของประชาชน กลายเป็นความหวังว่าชีวิตของพวกเขาคงได้รับความปลอดภัย แต่อนิจจา ความหวังของพวกเขาเป็นเพียงความฝันลมๆ แล้งๆ เพราะเมื่อกองทัพของชาวบอสเนียเชื้อสายเซิร์บที่นำโดยนายพลรัตโก มลาดิช (Ratko Mladić) ได้เคลื่อนเข้ามาตีเมืองเซเบรนิกา ทหารยูเอ็นได้แต่งอมืองอเท้า แม้จะมีการส่งข่าวเพื่อขอความช่วยเหลือให้ทางกองทัพยูเอ็นที่กรุงซาราเจโวส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดใส่กองทัพของนายพลมลาดิชก็ไม่เป็นผล สิ่งที่องค์การสหประชาชาติทำ แทนที่จะเร่งให้ความช่วยเหลือคุ้มครองประชาชน กลับพยายามเอาตัวรอดและปกปิดข่าวการสังหารหมู่เหล่านี้ วันที่ 11 กรกฎาคม 2538 กองทัพของนายพลมลาดิชที่กรีฑาเข้าสู่เมืองเซเบรนิกา เมื่อพบว่าประชาชนในเมืองหลบหนีไปอยู่ในค่ายทหารของยูเอ็นแล้ว ก็ได้ตามไปข่มขู่ให้ผู้บัญชาการทหารยูเอ็นยอมมอบอาวุธ และขับไล่ประชาชนเหล่านี้ออกจากค่ายทหารของยูเอ็น เพื่อแลกกับสวัสดิภาพของตนเอง น่าเสียใจที่กองทหารยูเอ็นซึ่งควรทำหน้าที่ปกป้องประชาชน กลับทำตามคำสั่งของนายพลมลาดิช มีการส่งมอบอาวุธยุทธภัณฑ์ให้ และขับไล่ประชาชนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นออกไป สิ่งที่ทำให้สะท้อนใจถึงความป่าเถื่อนโหดร้ายที่เพื่อนมนุษย์กระทำต่อกันก็คือ อันที่จริงแล้วทหารบอสเนียเชื้อสายเซิร์บเหล่านี้ รวมทั้งตัวนายพลมลาดิชเองก็เป็นชาวบอสเนียเหมือนกับคนที่เขากำลังจะฆ่า ประชากรกลุ่มเหล่านี้แม้จะมีเชื้อชาติและศาสนาต่างกัน แต่ก็มีภาษาพูดที่คล้ายคลึงกันมาก สื่อสารกันรู้เรื่อง ในช่วงเย็นวันที่ 11 กรกฎาคม 2538 ที่นายพลมลาดิซกับทหารของเขาไปที่ค่ายทหารยูเอ็นนั้น เขายังได้พูดปลอบใจชาวเมืองเซเบรนิกาว่า ทุกคนจะปลอดภัย “ไม่มีใครคุ้มครองคุณได้ นอกจากมลาดิช” เขากล่าวกับชาวเมืองเหล่านั้นพร้อมกับโยนแท่งช็อกโกแลตหลายแท่งให้กับเด็ก ๆ จึงเป็นเรื่องออกจะเหลือเชื่อที่ในอีกไม่เกินสิบวันต่อมา ตัวเขาจะเป็นผู้สั่งการให้ทหารบอสเนียเชื้อสายเซิร์บสังหารพลเมือง ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นประชาชนร่วมชาติเป็นจำนวนมากขนาดนี้ วันต่อมาจึงเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการสังหารหมู่อย่างแท้จริง มีการแยกผู้หญิงและเด็กผู้หญิงออกไป จัดส่งขึ้นรถบัสไปยังเขตของชาวมุสลิม ส่วนผู้ชายและเด็กผู้ชายอายุ 12 ขวบขึ้นมาถูกกวาดต้อนไปกักขังตามโรงเรียนร้างบ้าง โรงงานร้างบ้าง และมีการรุมสังหารหมู่อย่างทารุณ ทั้งการยิงทิ้งและโยนระเบิดใส่ เพียงชั่วเวลาแค่สิบวัน มีผู้เสียชีวิตจากน้ำมือของกองทัพบอสเนียเชื้อสายเซิร์บมากถึงเกือบ 8,000 คน ที่โหดร้ายกว่านั้นคือ ในเวลาต่อมามีการขุดหลุมฝังศพเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ ตัดแยกอวัยวะส่วนต่าง ๆ และนำไปกลบฝังยังพื้นที่ที่แตกต่างกันกว่า 70 แห่ง ทั้งนี้เพราะผู้กระทำความผิดต้องการป้องกันไม่ให้มีการขุดเอาหลักฐานเหล่านี้ขึ้นมาใช้เพื่อเอาผิดทางอาญากับตนได้ง่าย ๆ จนถึงปัจจุบันแม้จะมีความพยายามจากนานาชาติเพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลของซากศพเหล่านี้ แต่ที่ผ่านมาก็คืบหน้าไปช้ามาก มีการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้ไม่ถึง 100 คน เหตุก็เพราะมีการพยายามทำลายหลักฐานดังที่กล่าวถึง คุณอิกอร์ให้ความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับที่มาของความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์และศาสนา ซึ่งอันที่จริงแล้วนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของเพื่อนมนุษย์ในรัฐเหล่านี้มากกว่านี้อีกมาก เพียงแต่เหตุการณ์ที่เซเบรนิกาถือว่าเป็นการสังหารประชาชนจำนวนมากสุดในช่วงเวลาอันสั้น เขาบอกว่าเดิมคนเชื้อสายต่าง ๆ ในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีหมู่บ้านชาวมุสลิมแทรกกับชาวคริสต์ในหลาย ๆ พื้นที่ ไม่เหมือนพื้นที่ในโครเอเชียหรือเซอร์เบียที่ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์อย่างชัดเจน ความพยายามสังหารเพื่อล้างเผ่าพันธุ์ (Ethnic Cleansing) เริ่มต้นจากนายพลมิโลเชวิซ (Slobodan Milošević) ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐสังคมนิยมเซอร์เบียและผู้นำกองทัพเซอร์เบียที่ต้องการประกาศศักดาของเชื้อชาติและศาสนาตน วิธีการที่ทหารเซอร์เบียใช้เป็นวิธีที่ฝรั่งเรียกว่า “Hit and Run” หรือตีหัวแล้วเข้าบ้าน กล่าวคือกองทัพเซอร์เบียจะเข้าไปโจมตีทำร้ายหมู่บ้านชาวมุสลิมอย่างทารุณโหดร้าย จากนั้นก็จากไป ฝ่ายหมู่บ้านชาวมุสลิมที่ถูกกระทำก็หันไปสงสัยเพื่อนบ้านในหมู่บ้านข้างเคียงที่เป็นชาวคริสต์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ในขณะที่ฝ่ายเซอร์เบียก็ติดอาวุธให้กับหมู่บ้านที่เป็นชาวบอสเนียเชื้อสายเซิร์บเหล่านี้ สงครามระหว่างศาสนาจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยกลยุทธทางทหารเช่นนี้ เช่นเดียวกับสื่อมวลชนต่าง ๆ ก็กระพือฮือโหมความเกลียดชังด้านชาติพันธุ์และศาสนาจนลุกลามบานปลาย ปัจจุบันทางรัฐบาลเซอร์เบียได้ยอมส่งมอบตัวนายพลมลาดิชให้กับทางศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว ภายหลังหลบลี้หนีหน้าไปถึง 16 ปี แน่นอนว่าเขาปฏิเสธข้อกล่าวหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงครามอย่างสิ้นเชิง แต่ที่เซอร์เบียยอมส่งมอบตัวนายพลผู้โหดเหี้ยมคนนี้ให้ ก็ไม่ใช่เพราะสำนึกผิด แต่เป็นเพราะต้องการใช้เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปนั่นเอง ส่วนหญิงชาวบอสเนียอีกหลายพันคนก็ต้องเป็นหม้ายเพราะสูญเสียสามีไป หลายคนต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปเกือบทั้งหมด นอกจากจะต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ (เพราะปัจจุบันเซเบรนิกาถูกผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐสังคมนิยมเซอร์เบียไปแล้ว) หลายคนยังทำใจไม่ได้ว่าคนที่ตนรัก อาจไม่มีวันกลับมาหาพวกเธอได้อีก หมายเหตุ ดูหนังเรื่องนี้ได้จาก http://www.youtube.com/watch?v=X-DUsQyklUM

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net