บทพิสูจน์การเมืองนำการทหาร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากข้อมูลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน) ที่วิเคราะห์บทบาทผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยมีการระบุพฤติกรรมผู้สมัครที่เคยถูกขึ้นบัญชีดำของทางการ เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ปี 2547 และมีบางคนเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมายและยาเสพติด (อ้างจากคอลัมน์: ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด : ว่าที่ ส.ส.ใต้พันก่อการร้าย ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน 2554) ข้อมูลดังกล่าวนอกจากทำให้สังคมตื่นตระหนกตกใจแล้ว ยังสร้างความกังขาให้คนในพื้นที่ เกิดคำถามมากมายตามมาว่า กระบวนการของการต่อสู้ในทางการเมืองของนักการเมือง และพรรคการเมืองมุสลิมซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับกลุ่มก่อความไม่สงบหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญ และเป็นโจทย์หนึ่งในการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนคาดหวังต่อนักการเมืองในการที่จะมีส่วนในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบซึ่งเกิดขึ้นมายาวนาน เมื่อนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน วันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน มีการเลือกตั้งแล้ว 2 ครั้ง ไม่นับการเลือกตั้งที่มีเหตุการณ์วุ่นวาย เมื่อปี 2549 คือ การเลือกตั้งทั่วไป ภายหลังที่รัฐบาลทักษิณดำรงตำแหน่งครบวาระ โดยมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 หลังจากนั้น ก็ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังปฏิวัติโดยพลเอกสนธิ บุญรัตกลิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คือ การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 ย้อนไปการเลือกตั้ง เมื่อปี 2548 ในขณะนั้น ส.ส.มุสลิมในนามกลุ่มวาดะห์ นำโดยนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา สังกัดพรรคไทยรักไทย ในรัฐบาลทักษิณ มีตำแหน่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ถูกรุมเร้าอย่างหนักโดยมรสุมทางการเมือง เพราะเป็นการเลือกตั้งภายหลังที่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน เหตุการณ์ฆ่าในมัสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์ชุมนุมที่ตากใบ ซึ่งทำให้มุสลิมที่เข้าร่วมชุมนุมในเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอด) เสียชีวิตขณะที่ถูกขนย้าย ไปส่งที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จำนวน 78 คน นอกจากปัญหารุมเร้าจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ในช่วงนั้นสิ่งที่ถูกท้าทายอย่างหนักของกลุ่มวาดะห์ ก็คือมีข้อมูลว่า นักการเมืองที่อยู่ในกลุ่มมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ภายหลังที่กำนันโต๊ะเด็งได้ถูกจับกุมในคดีปล้นปืน แล้วออกมาแถลงข่าวทางสื่อมวลชนว่า มีนักการเมืองในกลุ่มของวาดะห์เป็นผู้ร่วมวางแผนในการปล้นปืน โดยนำไปชี้ถึงสถานที่มีการประชุม และพาดพิงถึงนักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่สุดท้ายออกมายอมรับว่า เหตุที่ตนเองต้องกระทำเพราะถูกซ้อมทรมาน และบีบบังคับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ต่อมากำนันโต๊ะเด็งได้กลับคำให้การในชั้นศาล จนเป็นคดีความมีการฟ้องร้องกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ถึงทุกวันนี้ จากผลพวงดังกล่าว นำไปสู่การดำเนินคดีนายนัจมุดดิน อูมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสพร้อมกับพวกอีกจำนวน 50 กว่าคน ในข้อหาร่วมกันปล้นปืน เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยบุคคลที่ถูกดำเนินคดีก็ล้วนแต่เป็นคนใกล้ชิดและเป็นหัวคะแนนผู้สนับสนุน แต่โชคดีที่พนักงานอัยการโดยสำนักงานอัยการสูงสุดในขณะนั้น ใช้หลักเมตตาธรรม มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาจำนวนหลายคน และได้ปล่อยตัวไป แต่นายนัจมุดดิน อูมา ถูกดำเนินคดี ตกเป็นจำเลยที่ศาลอาญา และมีการต่อสู้คดีจนศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในที่สุด จากการถูกกล่าวหาของนัจมุดดิน ดังกล่าว ทำให้สังคมเข้าใจว่า เหตุการณ์ในสามจังหวัด มีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยมีแนวร่วมในการก่อความไม่สงบในพื้นที่ และเข้าใจต่อไปอีกว่ากลุ่มขบวนการดังกล่าวมีชาวบ้านที่เป็นแนวร่วมจำนวนมาก ที่นำโดยนักการเมืองเป็นผู้วางแผนและบงการอยู่เบื้องหลัง คนทั่วประเทศเข้าใจว่า มุสลิมในสามจังหวัดคือกลุ่มขบวนการที่สนับสนุนการก่อการร้าย ขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยมีนักการเมืองเป็นแกนนำ แต่เมื่อผลการเลือกตั้งเมื่อ ปี 2548 ออกมา ปรากฏว่า แกนนำของขบวนการสอบตกหมด พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ในสามจังหวัดยกทีม ดังเช่นคลื่นสึนามิโหมกระหน่ำ จากข้อเท็จจริงในอดีต เมื่อนำมาพิจารณากับข้อมูลของ กอ.รมน.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ข้อมูลใหม่ แต่ข้อมูลของ กอ.รมน.ในครั้งนี้ หากไม่เปิดเผยภาพให้ชัดเจน ก็จะยิ่งสร้างความสับสนกับประชาชนและบรรดานักการเมือง รวมทั้งผู้สนับสนุนนักการเมืองเหล่านั้น อย่าลืมว่าการวิเคราะห์ข้อมูลของ กอ.รมน.ย่อมมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของนักการเมือง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และในขณะเดียวกัน ย่อมทำให้พรรคการเมืองบางพรรคได้ประโยชน์จากผลการวิเคราะห์ดังกล่าว และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สังคมจะเข้าใจว่า ปัญหาในสามจังหวัดแท้จริงแล้วคือปัญหาการเมือง นอกจากปัญหาขบวนการยาเสพติด และน้ำมันเถื่อน ดังที่มีการเปิดเผยโดยแม่ทัพภาคที่ 4 มาแล้ว หากฝ่ายความมั่นคง หรือ กอ.รมน. ต้องการใช้นโยบายการเมืองนำการทหารจริง ต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจนว่ากระบวนการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในทางการเมืองโดยการปลุกจิตวิญญาณ อุดมการณ์ของการสำนึกความเป็นมลายูของคนในสามจังหวัด ซึ่งเป็นเส้นที่บางมาก ๆ กับอุดมการณ์ของการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนนั้น มีเส้นแบ่งอย่างไร เพราะข้อมูลของ กอ.รมน.ย่อมทำให้เกิดความไม่มั่นใจของประชาชนในสามจังหวัดว่า จะต้องวางตัวอย่างไรในการเป็นหัวคะแนน หรือสนับสนุนผู้สมัครของตนเอง กระบวนการเลือกตั้งทางการเมืองควรเป็นวิธีหนึ่งที่มีส่วนในการส่งเสริมให้คนในสามจังหวัด เปิดพื้นที่ของการต่อสู้ตามแนวทางตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ดีกว่าเลือกต่อสู้นอกระบบ มิเช่นนั้นก็จะเรียกร้องรูปแบบการปกครองอื่น ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายความมั่นคงอีกเช่นกัน เพราะหากคนระดับนักการเมืองยังต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาความมั่นคงซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนี้แล้ว ประชาชนตาดำๆ จะเหลืออะไร และต่อไปก็จะมีการให้ข้อมูลกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง สุดท้ายแล้วคดีความมั่นคงก็จะไหลเข้าสู่ศาล สร้างความเดือดร้อนให้กับคนมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท