Skip to main content
sharethis

ผู้ใช้ยาเรียกร้องให้ก.สาธารณสุขแสดงความเป็นผู้นำมากขึ้น เพื่อสนับสนุนนโยบายและโครงการลดอันตรายจากการใช้ยา ชี้แม้เคยมีนโยบายผู้ใช้ยาเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร แต่การจับกุมตามข้อหาเสพและครอบครองยังดำเนินต่อไป (24 มิ.ย.54) ผู้สนับสนุนนโยบายลดอันตรายจากการใช้ยาและเครือข่ายภาคประชาสังคมกว่า 100 คนในนามกลุ่ม “12-D” ซึ่งทำงานในประเด็นยาและปัญหาเอชไอวีจะยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้แสดงความเป็นผู้นำและความก้าวหน้ามากขึ้นในการผลักดันนโยบายลดอันตรายจากการใช้ยาในประเทศไทย จิรศักดิ์ ศรีประมงค์ เจ้าหน้าที่ผู้บริหารศูนย์ช่วยเหลือผู้ใช้ยาด้วยการฉีดที่กรุงเทพฯ กล่าวว่า ก่อนจะถึงวันต่อต้านยาเสพติดโลกในวันที่ 26 มิถุนายน เรามารวมตัวที่นี่เพื่อประท้วงการวางนโยบายลดอันตรายจากการใช้ยา (เช่น การติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบและการน็อกยา) เนื่องจากวิธีการเหล่านั้นไม่มีข้อมูลสนับสนุน ไม่ได้มีฐานจากชุมชน และเป็นวิธีการที่กระทำโดยไม่สมัครใจ ก่อนที่จะพบกับรัฐมนตรีในเวลา 17.00 น. กลุ่มผู้รณรงค์จะรวมตัวกันประท้วงในเวลา 15.00 น. ที่ด้านหน้าของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผู้สนับสนุนเหล่านี้ประกอบด้วยผู้ใช้ยาและพันธมิตรซึ่งต่างเรียกร้องให้มีการแสดงความเป็นผู้นำมากขึ้น มีการจัดทำนโยบาย มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่ดีขึ้น และการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ยาทั้งที่ยังใช้อยู่และเลิกใช้แล้วมีส่วนร่วมในการจัดทำและออกแบบกิจกรรมลดอันตราย นักรณรงค์ระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบที่อันตราย เนื่องจากขาดมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อเหล่านี้ในบรรดาผู้ใช้ยาด้วยการฉีด นอกจากนั้น นโยบายปราบปรามยาเสพติดที่กระทำอย่างสม่ำเสมอยังเป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้กลุ่มผู้ใช้ยาเหล่านี้แทบไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการป้องกันได้ ผู้ใช้ยาด้วยการฉีดประสบปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบซีที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา และแม้ว่านโยบายของรัฐที่ประกาศในปี 2545 ว่าผู้ใช้ยาเป็น “ผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร” แต่การจับกุมผู้ใช้ยาในฐานะอาชญากรตามข้อหาเสพและครอบครองยังดำเนินต่อไป “เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่เราจะให้บริการที่ช่วยชีวิตคนได้ อย่างเช่น การให้คำปรึกษาด้านเอชไอวีและโครงการแลกเปลี่ยนเข็มและหลอดฉีดยา เพราะว่าตำรวจได้รับมอบอำนาจให้เดินเข้ามาในศูนย์ของเรา และจับกุมใครก็ได้ตามที่ต้องการ แล้วใครจะกล้ามาที่ศูนย์ดร็อปอินของเราหากว่าไม่รู้สึกปลอดภัยและไม่รู้สึกว่ามีการรักษาความลับของพวกเขา? เราต้องการการสนับสนุน ตำรวจมีอำนาจล้นฟ้า แต่กลับไม่มีหน่วยงานไหนให้การอบรมตำรวจถึงประโยชน์ที่ได้จากบริการลดอันตรายเลย” แครีน แคปแพลน มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์กล่าว มูลนิธิแห่งนี้ได้ทำงานสนับสนุนการลดอันตรายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 การให้บริการสาธารณสุขมักมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ใช้ยา ในขณะที่ตำรวจยังคงละเมิดสิทธิผู้ใช้ยาอย่างต่อเนื่อง และยังขัดขวางไม่ให้ผู้สนับสนุนและนักกิจกรรมทำงานเพื่อผู้ใช้ยา “การใช้ยาเป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่ง และบริการลดอันตรายอย่างเช่น การเข้าถึงอุปกรณ์การฉีดที่สะอาดและการบำบัดด้วยสารทดแทนอนุพันธุ์ฝิ่น อย่างเช่น เมทาโดน เป็นมาตรการพื้นฐานเพื่อส่งเสริมสุขภาพของผู้ใช้ยา เราต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขแสดงจุดยืนและแสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการเป็นผู้นำนโยบายลดอันตรายที่เป็นผล และให้กำจัดกฎหมายและนโยบายที่ยิ่งเพิ่มอันตรายให้กับผู้ใช้ยาและสังคมโดยทั่วไป” ไพศาล สุวรรณวงศ์ อดีตประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย และสมาชิกเครือข่ายผู้ใช้ยาแห่งประเทศไทยกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net