Skip to main content
sharethis

เสวนา “วัยรุ่น วัฒนธรรม และอำนาจนิยม” ที่ มช. รองอธิการบดีเผยรับน้องได้แต่ขอสร้างสรรค์ และต้องมีการกำกับดูแลใกล้ชิด นายกสโมฯ คณะสังคมฯ ยันรับน้องแยกจากกิจกรรม นศ.ไม่ได้ นายกสโมฯ วิศวะฯ เปิดใจ ทำไมโซตัสถึงไม่เท่ากับว๊าก? เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2554 ที่ผ่านมาได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “วัยรุ่น วัฒนธรรม และอำนาจนิยม” ขึ้น ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารห้องสมุดคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการเสวนาแบ่งเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรกมีหัวข้อว่า “ชีวิต วัฒนธรรม และกิจกรรมนักศึกษา” มีวิทยากรคือ รศ.ดร. อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ, นายเมธิชัย โอบอ้อม นายกสโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์, นายอานนท์ พลแหลม นายกสโมสรนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย อ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว ส่วนช่วงที่ 2 มีหัวข้อว่า “รับน้อง พิธีกรรม ผลิตซ้ำอำนาจนิยม?” มีวิทยากรคือ ศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์, นางสาวรวีพร ดอกไม้ นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ และนายธนพงษ์ หมื่นแสน แนวร่วมนักเรียน นิสิต นักศึกษาเสรีชนล้านนา และกลุ่มนักศึกษาผู้ไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรมความรุนแรง นักศึกษาไทยสมัยนี้คือทรัพยากรสำคัญของประชาคมอาเซียน รศ. นพ. อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ กล่าวเริ่มต้นการเสวนาว่านี่เป็นเรื่องที่ถูกเวลาหากจะโยงเรื่องวัฒนธรรมอำนาจนิยมกับการรับน้องใหม่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เนื่องจากพวกเราวัยรุ่นในขณะนี้ถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศ โดย รศ.นพ. อำนาจ ได้กล่าวเชื่อมโยงเรื่องวัยรุ่นในอุดมศึกษากับการรวมตัวของประเทศอาเซียนไว้ว่า ในปี 2558 ที่จะถึงนี้จะมีการรวมตัวกันของประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ 600 ล้านคน ราวกับทุกประเทศจะรวมเป็นหนึ่งเดียวแล้วทุกอย่างจะเปิดเสรีหมด ไม่ว่าจะเป็นการค้าการแข่งขัน เพราะฉะนั้นจะเป็นโอกาสของคนที่เก่ง ถึงจะได้ทำงานในตลาดที่กว้างขึ้น 600 ล้านคน แต่จะเป็นปัญหากับคนที่ไม่เก่งจะถูกวัยรุ่นจากที่อื่นมาแข่งขันด้วย “จากที่ประเมินดูเชื่อว่าไทยมีศักยภาพสู้ประเทศอื่นได้” รศ.นพ. อำนาจ กล่าว “แต่ที่จะสู้ไม่ได้คือเรื่องความอดทน ความมุมานะพยายาม ความตั้งอกตั้งใจเอาจริงเอาจัง” “นักศึกษาปีหนึ่งในปีการศึกษานี้ (2554) จะจบการศึกษาในช่วงที่ประเทศเข้าสู่อาเซียนพอดี เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็น มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเอง” รศ.นพ. อำนาจ กล่าว รับน้องได้ แต่ต้องสร้างสรรค์ จากนั้น รองอธิการบดี มช. จึงได้กล่าวถึงเรื่องการสร้างอำนาจนิยมจากกระบวนการรับน้อง โดยจำแนกให้เห็นว่าการรับน้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่มไม่เพียงแค่รุ่นพี่กับรุ่นน้อง โดยผู้ที่จะมีปัญหากับการรับน้องมากกว่าคนอื่นๆ เลยคือผู้ปกครอง ซึ่งมีทัศนคติต่อการรับน้องในเชิงลบอยู่แล้ว กลัวว่าลูกจะถูกกระทำ มีการโทรมากำชับกับมหาวิทยาลัยว่าให้ดูแลดีๆ กลัวว่าภาพลักษณ์ที่ถูกนำเสนอในสื่อสารมวลชนในหนังสือพิมพ์จะกลับมาเกิดกับลูกเขา กลุ่มผู้ปกครองจึงเป็นกลุ่มที่จับตามองการรับน้องใหม่อย่างใกล้ชิด ด้านความเห็นของสถานศึกษาต่อการรับน้อง รศ.นพ. อำนาจ กล่าวว่า ทุกสถานศึกษายังสนับสนุนให้มีการรับน้องใหม่ เนื่องจากต้องการให้มีรุ่นพี่คอยดูแลนักศึกษาใหม่ และการดูแลของรุ่นพี่นั้นหากสามารถกำกับได้ว่าเป็นการดูแลเชิงสร้างสรรค์ ก็จะเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์ ทางด้านผู้บริหารเองก็มองเห็นว่ามันยังคงมีรุ่นพี่ที่แผลงๆ ไม่ทำตามกฎกติกาแล้วเกิดปัญหากับมหาวิทยาลัยของตนเอง จนเกิดเป็นข่าว รศ.นพ. อำนาจ แสดงความเห็นว่า โดยส่วนตัวแล้วยังรู้สึกชื่นชมรุ่นพี่ที่มารับน้องใหม่ ซึ่งคอยเสียสละเวลา เสียทั้งเงิน ทั้งระดมความคิด ทางมหาวิทยาลัยเองก็มีการประชุมเตรียมการกับรุ่นพี่ 4 รอบ เพื่อช่วยกันคิดว่าทำยังไงน้องใหม่ถึงจะประทับใจ แต่ขณะเดียวกันมีรุ่นพี่บางคนที่ไม่เข้าสู่กระบวนการพัฒนาหรือสัมมนา คิดอยู่อย่างเดียวว่าจะทำยังไงให้น้องใหม่เชื่อฟังและ ‘อยู่มือ’ กรณีของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย รศ.นพ. อำนาจ มองว่าศิษย์เก่าฯ มักจะเป็นกลุ่มที่อยากจะแสดงออกว่าตัวเองรักสถาบันการศึกษา แต่สิ่งที่เขาคิดและอยากเข้ามามีส่วนร่วมเขาคิดแบบเดียวกับสมัยที่เขายังเป็นนักศึกษา “บางคนผ่านมา 30 ปีแล้วยังมาบอกรุ่นพี่รุ่นน้องในสมัยปัจจุบันว่า ‘ทำไมไม่ทำอย่างนั้นไม่ทำอย่างนี้ มันเป็นประเพณีนะ’ ” รศ.นพ. อำนาจ กล่าว “ถ้าไม่เช่นนั้น นักศึกษา มช. บางคณะจะต้องกินหมาทุกรุ่น เพราะมีวัฒนธรรมกินหมาในบางคณะเมื่อสมัยก่อน บางคณะจะต้องกินเหล้าต่อกันทุกรุ่นเพราะจะต้องมีวัฒนธรรมการกินเหล้า ...มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่รุ่นพี่บางคนยังยึดติดว่ามันเป็นประเพณี” รศ.นพ. อำนาจ กล่าวต่ออีกว่า ครูอาจารย์และเจ้าหน้าที่กิจการนักศึกษาในแต่ละคณะจะต้องเป็นผู้ที่คอยกำกับดูแลเรื่องของการรับน้องใหม่อย่างจริงจัง มีอาจารย์บางคนหวังดีเข้ามาช่วยให้การรับน้องใหม่เป็นไปด้วยความสร้างสรรค์ แต่ก็ยังมีอาจารย์บางกลุ่มบางพวกไม่ช่วยเลยแล้วคอยซ้ำเติม คอยดูว่ามีการรับน้องไม่พึงประสงค์อยู่ในที่ใดบ้างแล้วก็จะคอยเข้าไปซ้ำเติม การรับน้องเป็นประโยชน์ แต่ต้องกำกับดูแลใกล้ชิด ในประเด็นเรื่องท่าทีของสื่อมวลชนต่อการรับน้องใหม่นั้น รศ.นพ. อำนาจ เล่าว่าเขาเคยพบนักข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง มีแฟ้มสะสมเรื่องการรับน้องไม่พึงประสงค์มาตลอด 10 ปี และสามารถขุดคุ้ยมานำเสนอได้ รศ.นพ. อำนาจ ตั้งข้อสังเกตว่าสื่อมวลชนจะเน้นในเรื่องการลงข่าวร้าย เพราะข่าวร้ายทำให้ขายหนังสือพิมพ์ได้ แต่ข่าวดีกลับต้องจ้างลงหนังสือพิมพ์ แล้วมักจะมีการกระพือข่าวลบให้เกินจริง เพื่อเรียกร้องความสนใจให้ขายหนังสือพิมพ์ได้ “ภาพลักษณ์ของการรับน้องใหม่ในสังคมไทยมันติดลบมาตลอด บางคนบอกเมื่อไหร่จะเลิกสักที บางคนบอกการรับน้องไม่มีประโยชน์มหาวิทยาลัยทำอะไรอยู่ถึงได้ปล่อยให้มีการรับน้องอยู่” รศ.นพ. อำนาจกล่าว “แต่เรื่องที่ดีๆ ที่มีในการรับน้อง ก็มีอยู่มากมาย” รองอธิการบดี มช. ให้ความเห็นว่า เหตุผลที่ต้องมีการรับน้องใหม่นั้นก็เพื่อให้เรียนรู้สังคมการอยู่ร่วมกันที่ดีในสถาบัน ระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง และเพื่อนร่วมรุ่น “ถ้าไม่มีกระบวนการรับน้องใหม่ เข้ามาก็ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเดินชนกันไปกันมาโดยที่ไม่รู้จักกันเลยโดยที่ไม่สนใจกันเลย ผมคิดว่าสังคมในมหาวิทยาลัยมันก็จะไม่น่าอยู่ ไม่น่ารัก” รศ.นพ. อำนาจ กล่าว อย่างไรก็ตาม รศ.นพ. อำนาจ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต้องกำกับดูแลเรื่องการรับน้องใหม่อย่างจริงจัง โดยมีการตั้งคณะทำงานดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีรุ่นพี่ที่ไม่รู้ไปทำให้กระบวนการที่ดีๆ เสียหาย “ประโยชน์และความคาดหวังของมหาวิทยาลัยในการรับน้องใหม่ คืออยากเห็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมีความรัก มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อน แล้วถ้าหากครูอาจารย์ทุกคน บุคลากรทุกคนร่วมไม้ร่วมมือกันในการสอดส่องดูแล รุ่นพี่ทุกคนคอยสอดส่องดูแล พวกเราที่เป็นนักศึกษาปี 1 ทุกคนคอยบอกข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ให้กับครูบาอาจารย์ ผมคิดว่าพัฒนาการของน้องใหม่จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่เราอยากจะเห็นได้” ‘โซตัสไม่เท่ากับว๊าก’ จริงหรือ? ต่อมา นายเมธิชัย โอบอ้อม นายกสโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ เริ่มต้นเสวนาโดยกล่าวถึงป้ายโฆษณาที่ติดหน้าคณะฯ มีข้อความเขียนว่า SOTUS =/= ว๊าก (โซตัสไม่เท่ากับ ’ว๊าก’) ซึ่งเป็นป้ายที่สร้างความสงสัยแก่ผู้คนที่สัญจรไปมาอย่างมาก โดยอธิบายที่มาของคำว่า โซตัส ว่ามาจากต่างชาติแล้วเอามาปรับใช้กับระบบห้องเชียร์คณะวิศวกรรมศาสตร์ “ตัว S คือ Seniority สอนให้น้องรู้จักความเป็นพี่เป็นน้อง O คือ Order คำสั่ง ไม่ได้หมายความว่าน้องต้องทำตามคำสั่งพี่ คำสั่งนั้นต้องเป็นคำสั่งที่ถูกต้องและเป็นคำสั่งที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าพี่สั่งอะไรมาแล้วน้องต้องทำทุกอย่าง T คือ Tradition ประเพณี ธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่รุ่นพี่ทำในอดีตแล้วรุ่นน้องต้องทำต่อ แต่หมายถึงประเพณีที่ดีงาม สิ่งไหนที่ไม่ดีเราก็เอาทิ้งไป ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย U คือ Unity ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะคณะของเรามีคนเป็นพัน เฉพาะปีหนึ่งอย่างเดียว 800-900 คน เราจึงต้องการให้เกิดคามเป็นเอกภาพไม่แตกแยก S คือ Spirit คือจิตวิญญาณความเป็นวิศวกร เป็นสิ่งที่เราต้องสอนกับนักศึกษาทุกรุ่น” นายกสโมฯ วิศวะ กล่าวถึงความหมายของคำว่า SOTUS เมื่อผู้ดำเนินรายการถามย้ำว่าเหตุใดโซตัสถึงไม่เท่ากับ ‘ว๊าก’ เมธิชัย ก็ตอบว่าเป้าหมายของโซตัสจริงๆ ไม่ใช่การ ‘ว๊าก’ โดยมองว่าการว๊ากเป็นแค่เครื่องมือที่นำมาใช้ในการสอน ในการอบรมน้อง เมธิชัยกล่าวอีกว่าทางสโมสรคณะวิศวกรรมฯ ก็มองเห็นว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นยุคที่อินเตอร์เน็ตมีความรวดเร็ว ก็ปรับห้องเชียร์ให้เข้ากับยุคเข้ากับสมัย “ก็เข้าใจว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็ถูกเพ่งเล็งมาเสมอจากสังคม” เมธิชัยกล่าวในช่วงท้ายของการเสวนา โดยไม่ได้พูดอะไรเพิ่มเติม มีเพื่อนนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์มาช่วยอธิบายเรื่องการติดป้ายหน้าคณะว่า ‘โซตัสไม่เท่ากับว๊าก’ โดยกล่าวว่า โซตัสเป็นสิ่งที่คณะวิศวกรรมฯ นับถือเสมอมา ส่วนการว๊ากเป็นเครื่องมือในการสั่งสอน ให้เด็กฟังพวกเราว่าโซตัสมันคือคำสอน ที่จะฝึกให้เด็กมีสัมมาคารวะ, มีระเบียบวินัย, มีความสมัครสมานสามัคคี, มีความเสียสละเป็นสุภาพบุรุษ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำกันมาตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงปัจจุบัน เป็น Tradition เพราะมันก็เป็นเรื่องดีที่จะให้เด็กมีสัมมาคารวะ มีความเสียสละ วสันต์ ถามเชิงสรุปสิ่งที่ตัวแทนนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์พูดว่า การว๊ากเป็นแค่เครื่องมือ วิธีการนำไปสู่โซตัส ถ้าหากมีวิธีอื่นที่ดีกว่าการว๊ากก็จะใช้มันใช่หรือไม่ ตัวแทนจากคณะวิศวกรรมฯ ก็ตอบว่าใช่ การรับน้องกับกิจกรรมนศ. แยกกันไม่ออก จากนั้นนายอานนท์ พลแหลม นายกสโมสรนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ ก็พูดถึงการรับน้องกับกิจกรรมนักศึกษา โดยออกตัวว่าคณะสังคมศาสตร์ไม่ค่อยรู้จักโซตัสเท่าไหร่ ก่อนจะบอกว่าการรับน้องกับกิจกรรมนักศึกษาเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก อานนท์บอกว่ามองว่าการรับน้องโดยมีการว๊ากเป็นเครื่องมือถือเป็นการควบคุมทรัพยากรบุคคลเพื่อทำกิจกรรม เช่น ตอนรับน้องขึ้นดอยมีขบวนที่สวยงามเป็นแถวตรง ซึ่งเบื้องหลังความสวยงามนี้มาจากการ ‘ว๊ากกันมาเลือดตาแทบกระเด็น’ เพราะฉะนั้นการว๊ากจึงมีความสำคัญต่อภาพลักษณ์การทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัย อานนท์บอกอีกว่า การว๊าก เป็นการเน้นย้ำบรรทัดฐานของสังคมที่มีอยู่แล้ว แม้ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยก็มีกฏระเบียบของสังคมที่มาจำกัดเสรีภาพของคนอยู่แล้ว การเข้าห้องเชียร์ก็มีการควบคุมจำกัดเสรีภาพ มีการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมอันดีงาม “เช่น ผู้ชายก็ต้องแสดงตัวเป็นสุภาพบุรุษช่วยเหลือผู้หญิง ส่วนผู้หญิงไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไรเลยก็ต้องช่วยผู้ชายด้วย มีการตอกย้ำเรื่องจารีตเช่นการไหว้ การแสดงความเคารพ ซึ่งเป็นวิถีประชา” อานนท์กล่าว “การช่วยเหลือกันเช่นเพื่อนตกทุกข์ได้ยากอ่านหนังสือไม่ออก อ่านหนังสือไม่เข้าใจก็ต้องช่วยกัน” อานนท์เล่าว่า เคยมีการให้น้องปี 2 ไปถามน้องปี 1 จำนวน 10 คน พบว่า 9 ใน 10 ยอมรับเห็นด้วยเข้าร่วม และอีกหนึ่งคนเห็นว่าอยากให้เปลี่ยนแปลง พอมี 9 ใน 10 เห็นด้วย ก็เลยมีการว๊ากต่อๆ กันมา ทางสโมสรฯ ปีการศึกษานั้นๆ ก็ปรึกษากันเองโดยไม่มีการแทรกแซงของรุ่นพี่ก็เห็นว่าอยากจะว๊ากกันต่อเพราะเห็นว่ามันดี อานนท์กล่าวอีกว่า การรับน้องเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของแต่ละคณะ ที่ต้องไปนำเสนอแก่องค์กรนอก เป็นการแสดงแสนยานุภาพ อย่างเช่นการห้อยป้าย “การว๊ากก็เป็นเครื่องมือในการรับน้องอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกันการว๊ากก็เป็นการจำกัดเสรีภาพด้วย เราจึงควรหาจุดสมดุลระหว่างว๊ากกับเสรีภาพ ก็ลองไปคิดดูว่ามันควรจะอยู่ตรงไหน” ด้วยเสียงอันดัง! เมื่อมีตัวแทนนักศึกษาท่านหนึ่งในห้องประชุมถามว่า การว๊ากคืออะไร นายกสโมฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็ตอบว่าคือการสั่งสอนรุ่นน้องด้วยเสียงอันดัง เนื่องจากคณะวิศวกรรมมีคนจำนวนมาก ด้านนายกสโมฯ คณะสังคมศาสตร์ ตอบว่าเป็นการใช้เสียงดังเพื่อให้เกิดความรู้สึกซีเรียสจริงจัง ให้น้องทำตามที่เราสั่ง แต่ไม่ใช่ว่าจะสั่งอะไรก็สั่ง ทุกครั้งก่อนจะมีการว๊ากก็จะมีการประชุมกันก่อน ว่าจะพูดอะไรกันบ้าง ไม่มีการใช้แต่อารมณ์ ไม่อนุญาตให้พี่ว๊ากดื่มเหล้าเข้าไป จึงนิยามว่าการว๊ากคือการพูดคุยเพื่อให้เกิดความจริงจัง ขึ้นอยู่กับระดับน้ำเสียงของแต่ละคน ผู้หญิงห้ามว๊าก นะยะ!? ขณะเดียวกันก็มีคำถามที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วมถามถึงคณะสังคมศาสตร์ในประเด็นเรื่องเพศสภาวะ ว่าเหตุใดเพศหญิงถึงไม่มีสิทธิ์เป็นพี่ว๊าก ทางนายกสโมฯ คณะสังคมศึกษา ก็ให้ตัวแทนที่เป็นผู้หญิงมาช่วยอธิบายว่า น้ำเสียงของผู้หญิงจะมีอารมณ์ มีอคติส่วนตัวอยู่ลึกๆ ในความเป็นผู้หญิงด้วยกัน เช่นการใช้เสียงแบบ ‘จิก’ เวลาหมั่นไส้ใคร อารมณ์ของผู้หญิงก็เหมือนเพศที่สามคือไม่เหมือนผู้ชาย จะควบคุมตัวเองได้ไม่ดีเท่า ซึ่งในประเด็นนี้ก็มีนักศึกษาเพศทางเลือกรายหนึ่งลุกขึ้นมาแสดงความเห็นบอกว่า ไม่จำเป็นเสมอไปที่ผู้หญิงหรือเพศที่สามจะมีอคติในน้ำเสียงหรือใช้อารมณ์ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องรายบุคคลไปมากกว่า ผู้หญิงที่สามารถว๊ากเป็น เขาก็สามารถว๊ากได้เยี่ยงผู้ชายทั่วไป ทางตัวแทนนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ก็พยายามอธิบายว่า ตามบริบทของสังคมและการตกลงกันภายในแล้วเห็นว่าเพศหญิงไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ในบริบทนี้จึงไม่ตอบเป้าหมายของการว๊ากที่วางกันไว้ มีคำถามจากผู้ร่วมฟังเสวนาอีกว่า หากไม่รับน้องด้วยการว๊าก สามารถใช้วิธีอื่นได้อีกหรือไม่ อานนท์ ตอบว่าการว๊ากเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดและสิ้นเปลืองน้อยที่สุด จะให้ไปปลูกฝังเรื่องค่านิยมต่างๆ ตั้งแต่เด็กคงจะยาก โซตัส = เผด็จการ? มีผู้ฟังเสวนาอีกท่านหนึ่งยกมือแสดงความเห็นว่า การว๊ากนั้นถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพอย่างมาก เพราะถึงแม้จะบอกว่าคุณไม่ต้องรับรุ่นก็ได้ แต่สังคมรอบข้างเพื่อนถูกกดดันให้รับรุ่นกันหมดแล้วถ้าหากเขาไม่เอารุ่นก็อยู่ในสังคมเพื่อนฝูงไม่ได้ เหมือนเป็นการบังคับอยู่ดี ผู้ฟังเสวนาท่านเดิมยังกล่าวอีกว่าจากการที่เคยผ่านประสบการณ์รับน้องและการเป็นพี่ว๊ากมาก่อน ทำให้ทราบว่าการเป็นพี่ว๊ากนั้นเหมือนเป็นการได้ใช้ ‘เสรีภาพขั้นสูงสุด’ เหมือนมีอำนาจในกำมือที่จะทำอะไรใครก็ได้ ที่รุ่นน้องก้มหน้าให้เราด่าได้อย่างเต็มที่ ให้ใช้อำนาจได้อย่างสะใจ ซึ่งตามสัญชาติญาณของมนุษย์ มนุษย์เป็นผู้ที่มีความก้าวร้าวอยู่แล้ว และการอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถใช้ความก้าวร้าวออกมาได้อย่างเต็มที่ ก็รู้สึกมีความสุขที่จะทำ “อาจจะมีบางคนที่พอเห็นน้ำตารุ่นน้องแล้วสะใจด้วยซ้ำ แต่ก็อาจจะมีบางคนที่จะมองในแง่มนุษยธรรมว่าเราสงสาร เห็นอกเห็นใจคนอื่น” ผู้ฟังเสวนาท่านเดิมแสดงความเห็น “แล้วมีคนมองบ้างไหมว่าระบบห้องเชียร์เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะระบบโซตัสเป็นระบบเผด็จการ เราได้แต่เอามันมาใช้ เรารู้แค่ความหมายของมันแต่ก็ไม่รู้ว่าเอามันมาใช้ทำไม” (ส่วนช่วงที่ 2 ที่มีหัวข้อว่า “รับน้อง พิธีกรรม ผลิตซ้ำอำนาจนิยม?” นั้นจะนำเสนอในตอนที่ 2 ต่อไป)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net