Skip to main content
sharethis

วันที่ 25 มิ.ย. กลุ่มประกายไฟ จัดงานเสวนา SOTUS เพิ่มหรือลดปัญญากับสังคมประชาธิปไตย ที่อนุสรณ์สถาน 14ตุลา(ตึกหลัง) โดยมีตัวแทนอาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยและกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่างๆ ร่วมกันถกประเด็น นำเสนอปัญหา และร่วมกันหาทางปฎิรูประบบรับน้อง ห้องเชียร์ นายยุทธนา ลุนสำโรง นักศึกษา วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม (ผู้อยู่ใน Clip คัดค้านการประชุมเชียร์ที่ ม.มหาสารคาม)กล่าวว่า การประชุมเชียร์เป็นการจำกัดในเรื่องความคิด เพราะมีการจัดกรอบความคิดที่ชัดเจน เช่น ต้องแสดงความรักโดยการร้องเพลงมหาวิทยาลัยให้ได้ ต้องแสดงความรักโดยการบูมให้ได้ ต้องมีรุ่นให้ได้ โดยที่นักศึกษาไม่เคยตั้งคำถามเลย ซึ่งไม่ต่างจากการปลูกฝังในเรื่องชาตินิยม ปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นระบบเผด็จการอำนาจนิยม ข้อเสนอคือให้มีการปรับปรุง แต่ถ้าถามกลุ่มของตนจริงๆ อยากให้ยกเลิกไปเลย ถ้าจะสรุปกันจริงๆ ว่ามันส่งเสริมหรือทำลาย มันก็เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่ามันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ เป็นการผลิตคนให้อยู่ในระบบราชการอุปถัมภ์ ซึ่งเราไม่เคยตั้งคำถามว่าที่จริงแล้วเรามีความเท่าเทียมกันไม่ใช่หรือ สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือ อยากให้รุ่นน้องที่เข้ามาใหม่พยายามตั้งคำถาม และไม่กลัว ลุกขึ้นมาต่อสู้กับสิ่งที่เห็นว่าผิด ดิน บัวแดง นักศึกษาจากกลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน มีความเห็นว่า เรื่องการรับน้องมันแยกไม่ออกจากการตั้งคำถามว่าเราเข้ามาทำอะไร มหาวิทยาลัยควรจะต้องเป็นที่ผลิตคนที่มีความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์ มีความเป็นเสรีชน ถ้าเราเชื่อว่ามหาวิทยาลัยควรจะเป็นแบบนี้ มันคงไม่มีกิจกรรมอะไรที่สอดคล้องกับเจตจำนงค์นี้แล้วนอกจากการรับน้อง แต่ในความเป็นจริงการรับน้องในปัจจุบันไม่ได้ทำหน้าที่เช่นนี้ และระบบอาวุโสได้มอบอำนาจแก่รุ่นพี่โดยชอบธรรม เพียงแค่การที่เข้ามาก่อน ก็จะถือว่าเป็นรุ่นพี่โดยที่ไม่ได้สนใจเรื่องอายุ ดินกล่าวว่าสิ่งที่จะทำได้คือการตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจเหล่านี้ รุ่นพี่บางคนอ้างว่าไม่เข้าก็ได้(ห้องเชียร์) แต่ตั้งแต่เด็กเราไม่เคยถูกส่งเสริมให้คิดแบบปัจเจก ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ รุ่นน้องที่เข้าใหม่ไม่มีเจตจำนงค์อิสระของตนเองจึงต้องยอมโอนอ่อนต่อรุ่นพี่ เมื่อรุ่นพี่จัดหาอะไรมาให้ทำ ก็ต้องทำตาม ทั้งนี้การจัดกิจกรรมรับน้องก็ซ้ำซาก แก่นสารของการรับน้องกลายเป็นเรื่องของการสันทนาการและร้องเพลง ทั้งที่การรับน้องควรจะเป็นเรื่องการส่งเสริมการวิพากษ์วิจารณ์ส่งเสริมเสรีภาพและสำนึกทางสังคม ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข จากกลุ่ม TU TRUE SPIRIT เล่าถึงประสบการณ์ของตนในปีหนึ่ง ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ในธรรมศาสตร์ก็มีการรับน้อง และตนก็ผ่านการรับน้องมาและเคยพยายามคัดค้านการรับน้องที่ใช้ระบบโซตัส แต่รุ่นพี่ได้อ้างกลับว่าเป็นธรรมเนียม เป็นประเพณี ปณิธานกล่าวว่า ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น คือมีอาจารย์หลายท่านที่ไม่ได้เห็นด้วยกับระบบนี้ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่ายในการขับเคลื่อนการต่อต้านระบบโซตัส และเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่มีอาจารย์บางท่านในธรรมศาสตร์ชอบพูดอยู่เสมอว่า ธรรมศาสตร์ไม่มีการรับน้อง มีแต่การรับเพื่อน แต่ในความเป็นจริงก็มีการรับน้องอยู่ตลอด เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร อาจารย์จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งคำถามว่า ทำไมระบบนี้ยังคงอยู่ ทั้งที่มีคนไม่พอใจเยอะ ความอัปลักษณ์ของระบบนี้คือมันถูกสร้างขึ้นมาในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และคนจำนวนมากยอมให้กิจกรรมแบบนี้เกิด เหมือนระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรา ที่เราก็นิ่งดูดายและได้แค่บ่นอย่างเดียว เราจะทำยังไงให้คนรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้เป็นปัญหา และเราจำเป็นต้องหลุดจากการครอบงำทางวัฒนธรรม ต้องร่วมกันผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เราในหมู่ activistไม่มีความรู้หรือ know-how ในการeducate คนหรือขับเคลื่อนคนเลย หลังจากการอภิปรายของทั้งสี่คน ได้มีการเปิดเวทีเสวนาเพื่ออภิปรายถกเถียงปัญหา และเสนอทางแก้ปัญหาระบบSOTUS ร่วมกันกับผู้ฟัง โดยภายในงานกลุ่ม ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) และกลุ่มเยาวชนปฎิรูปการรับน้องประชุมเชียร์แห่งประเทศไทย ได้นำแถลงการณ์เพื่อการปฎิรูปห้องเชียร์ รับน้อง มาแจกให้แก่ผู้ร่วมฟังด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net