ญาติผู้เสียชีวิต 53 จี้ทุกพรรค “ไม่เอานิรโทษกรรม” - ศปช.ชี้ต้องเปิด “ความจริง” ก่อนปรองดอง

รูปตัวแทนคณะกรรมการญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค.53 ขึ้นอ่านแถลงการณ์บนเวที 24 มิ.ย.54 ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) จัดเวทีอภิปราย \1 ปี เหตุการณ์ 1 เม.ย.-พ.ค. 53 ความยุติธรรมที่หายไป\" ซึ่งมีการอภิปรายในหลายหัวข้อ ในช่วงหนึ่งได้มีคณะกรรมการญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค.53 ที่เพิ่งก่อตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้อ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมืองในภาระหน้าที่แสวงหาความยุติธรรมกลับคืนสู่สังคมไทย โดยระบุข้อเรียกร้องทุกพรรคการเมืองให้สัญญาประชาคม ดังนี้ 1.ตั้งองค์กร คณะกรรมการที่เป็นกลางและสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริง นำผู้กระทำผิดในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐมารับผิดอาญา 2.จะต้องรับประกันว่าไม่มีการนิรโทษใดๆ 3. เร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และผู้ถูกจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีการแถลงจุดยืนของ ศปช. ต่อประเด็น\"ความจริง\" และ \"ความยุติธรรม\" vs \"ปรองดอง\" และ \"นิรโทษกรรม\" โดยอ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า สังคมไทยในอดีต ความปรองดองมีด้านมืด คือ ความเงียบต่อความยุติธรรมและการลืม โดยสังคมไทยโอบอุ้มและชาชินกับวัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มักกล่าวว่ารัฐบาลของตนยึดหลักนิติรัฐ แต่จนบัดนี้ กระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดดูจะถูกเตะถ่วงและบิดเบือน แม้มีมูลว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายกระทำให้ประชาชนเสียชีวิต แต่รัฐบาลยังโยนความผิดทั้งหมดไปให้กับคนชุดดำและผู้ชุมนุม องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถเรียกศรัทธาแก่ประชาชนได้เลย “ฉะนั้น ศปช. จึงขอประกาศว่า เราไม่ได้ปฏิเสธการปรองดอง แต่การแสวงหาความปรองดองใด ๆ หลังการเลือกตั้งจะต้องควบคู่ไปกับการสถาปนาความจริง และคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามปี 2553 ด้วย หากไม่มี “ความจริง” และ “การยอมรับผิด” จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชน การนิรโทษกรรมก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ การปรองดองที่ปราศจากความยุติธรรมย่อมไม่ต่างอะไรกับการช่วยกันเหยียบย่ำศพและกระหน่ำตีบาดแผลของผู้สูญเสีย” คำประกาศจุดยืนของ ศปช. คำประกาศจุดยืนของ ศปช. ต่อประเด็น “ความจริง” และ “ความยุติธรรม” vs. “ปรองดอง” และ “นิรโทษกรรม” 25 มิถุนายน 2554 ไม่มีความจริงก็ไม่มีความยุติธรรม ปราศจากความยุติธรรม การปรองดอง-นิรโทษกรรม ก็เป็นแค่การสมรู้ร่วมคิดกันเหยียบย่ำคนตาย ยิ่งเข้าใกล้เลือกตั้ง เสียงเรียกร้องหาความปรองดองโดยกลุ่มต่าง ๆ ก็ดังเซ็งแซ่ควบคู่ไปกับเรื่องนิรโทษกรรม แม้จะไม่มีความชัดเจนนักว่าหมายถึงอะไรแน่ ใครปรองดองกับใคร ใครบ้างจะได้นิรโทษกรรม ในความผิดเรื่องอะไร ฯลฯ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ก็เห็นความสำคัญที่สังคมไทยจะต้องมีความปรองดองเช่นกัน ศปช. จึงขอเข้าร่วมมหกรรมปรองดองด้วยข้อเสนอดังต่อไปนี้ บทเรียนจากวิธีสร้างความปรองดองในอดีตที่ผ่านมาในสังคมไทยชี้ว่า ความปรองดองหมายถึง “การลืม” หรือ “ความเงียบงัน” ต่อความอยุติธรรม ความเจ็บปวด และความสูญเสียที่ผู้มีอำนาจรัฐกระทำต่อประชาชน เพื่อแลกกับ “ความมั่นคง” ของระบอบที่อุปถัมภ์ค้ำชูและสนับสนุนความรุนแรงต่อประชาชน ความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้งหลายหน จึงจบลงด้วยการนิรโทษกรรมให้กับผู้อยู่เบื้องหลังการปราบปรามประชาชน เปลี่ยนอาชญากรรมของรัฐต่อประชาชน ให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ใครที่พยายามขุดคุ้ยเรียกร้องหาความจริงและความยุติธรรม จะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกชอบสร้างความแตกแยกปั่นป่วนให้กับสังคม ความเงียบ การยอมจำนน และความพ่ายแพ้ของเหยื่อจึงเป็นด้านมืดของการปรองดอง รัฐบาลตอบแทนพวกเขาด้วยเศษเงิน พร้อมประกาศว่านี่คือ “การเยียวยา” ผู้มีอำนาจทำราวกับว่าบาดแผลและความตายสามารถลบล้างได้ด้วยเงินเพียงเล็กน้อย สังคมไทยช่างโอบอุ้มและชาชินกับวัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล (culture of impunity) ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ในสังคมอื่นที่เคยประสบกับความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐ เช่น แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ฯลฯ การสร้างความปรองดองล้วนต้องเดินควบคู่ไปกับการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ อย่างน้อยที่สุด ความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่จะต้องมีให้ได้ คือ การเปิดเผยความจริงว่าใครคือผู้กระทำและอยู่เบื้องหลังอาชญากรรมต่อประชาชน แต่ในกรณีของไทย ความปรองดองไม่เคยเกิดขึ้นบนฐานของความยุติธรรมและความจริงเลยแม้แต่ครั้งเดียว ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มักกล่าวว่ารัฐบาลของตนยึดหลักนิติรัฐ “พร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนพร้อม ๆ ไปกับการค้นหาความจริงผ่านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายบนความเสมอภาคที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน” แต่สิ่งที่ผิดปกติอย่างยิ่งก็คือ จนกระทั่งบัดนี้ กระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดดูจะถูกเตะถ่วงและบิดเบือน โดยเฉพาะในกรณีที่มีมูลว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายกระทำให้ประชาชนเสียชีวิต ซ้ำร้ายรัฐบาลยังโยนความผิดทั้งหมดไปให้กับคนชุดดำและผู้ชุมนุม ทั้ง ๆ ที่ความจริงที่รับรู้กันคือ กองทัพใช้กำลังพลและอาวุธสงครามจำนวนมากมายมหาศาลเพื่อสลายการชุมนุมครั้งนี้ ทั้ง ๆ ที่จนบัดนี้รัฐบาลก็ไม่สามารถให้ข้อมูลได้มากไปกว่าภาพของชายชุดดำไม่กี่คนที่ปรากฏกายในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ทั้งๆ ที่รัฐบาลไม่สามารถแสดงหลักฐานว่า พลเรือนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมแล้ว 1

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท