Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในโอกาสใกล้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 กรกฎาคม 2554 ที่จะมาถึงในสัปดาห์หน้า SIU ขอนำเสนอแผนสภาพแสดงผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย นับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ/พฤษภาประชาธรรม 2535 เป็นต้นมา จากแผนภาพ ผู้อ่านจะเห็นได้ชัดเจนว่าการเมืองไทยหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นการปะทะกันระหว่าง “พรรคประชาธิปัตย์” พรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศไทย กับพรรคการเมืองต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนเวียนหน้ากันมาในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น “พรรคชาติไทย” ในยุครุ่งเรืองของนายบรรหาร ศิลปอาชา “พรรคความหวังใหม่” ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ต้องเผชิญวิกฤตค่าเงินบาทในปี 2540 และ “พรรคไทยรักไทย-พรรคพลังประชาชน-พรรคเพื่อไทย” ที่มี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นแกนนำคนสำคัญ เรียกได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์สามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็น 1 ใน 2 พรรคใหญ่มาตลอดในการเลือกตั้งทุกครั้งตลอด 19 ปีมานี้ ซึ่งก็เกิดจาก “ความเป็นสถาบัน” ที่พรรคอื่นๆ ไม่มีนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในรอบ 19 ปีหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 พรรคประชาธิปัตย์กลับชนะการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียวคือ การเลือกตั้งปี 2535/2 (หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ) ซึ่งนายชวน หลีกภัย สามารถนำพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ากระแส “จำลองฟีเวอร์” ในช่วงนั้น ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ก่อนจะต้องยุบสภาไปเพราะคดี สปก. 4-01 ที่อื้อฉาวในช่วงเวลานั้น ถ้าเราไม่นับการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2549 ที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศให้เป็นโมฆะ (และพรรคประชาธิปัตย์เองก็บอยคอตการเลือกตั้ง) พรรคประชาธิปัตย์ได้แพ้การเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้งติดต่อกัน ได้แก่ การเลือกตั้งปี 2538 แพ้พรรคชาติไทยของนายบรรหาร ศิลปอาชา การเลือกตั้งปี 2539 แพ้พรรคความหวังใหม่ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (เพียง 2 เสียง แพ้แบบสูสีที่สุด) การเลือกตั้งปี 2544 แพ้พรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การเลือกตั้งปี 2548 แพ้พรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (แพ้ขาดที่สุด) การเลือกตั้งปี 2550 แพ้พรรคพลังประชาชนที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช อย่างไรก็ตาม ถึงแม้พรรคประชาธิปัตย์จะแพ้การเลือกตั้งทุกครั้งตลอด 19 ปีที่ผ่านมา แต่ก็สามารถพลิกขั้วมาจัดตั้งรัฐบาลได้ถึง 2 ครั้งเช่นกัน โดยครั้งแรกเกิดหลังวิกฤตการเงินปี 2540 ซึ่ง “กลุ่มงูเห่า” ของพรรคประชากรไทยที่นำโดยนายวัฒนา อัศวเหม หักหลังพรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช (ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรคประชาธิปัตย์มานาน) ตั้งรัฐบาลชวน 2 ได้สำเร็จ เหตุการณ์ “งูเห่าสอง” เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2551 โดยปีกของนายเนวิน ชิดชอบ แห่งพรรคพลังประชาชน (หลังถูกตัดสินยุบพรรค) ได้ย้ายมาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์จะพลิกขั้วกลับมาชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในรอบ 19 ปีหรือไม่ หรือจะแพ้ต่อไปเป็นครั้งที่ 6 ผู้ตัดสินคือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ ในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ที่มา: http://www.siamintelligence.com/thai-election-history-1992-2011/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net