Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โหวตโนไม่ใช่ของใหม่ อย่างน้อยในรอบสองสามปีที่ผ่านมา มีการรณรงค์ blank vote ในเมกซิโก (ปี 2009) และ no vote ในพม่า (ปี 2010) blank vote ในเมกซิโกเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่พอใจคุณภาพผู้สมัครรับเลือกตั้งและปัญหาคอร์รัปชั่นของรัฐบาล no vote ในพม่า เกิดจากความวิตกกังวลว่าการเลือกตั้งที่จัดขึ้นนั้นไม่บริสุทธ์ ยุติธรรม จึงรณรงค์ไม่ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิใช้เสียง ในประเทศไทย ช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนปรากฎในบัตรเลือกตั้งหลายปีก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นแรงจูงใจและเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ไม่มีผู้สมัครที่รักและพรรคในดวงใจออกไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่เคยปรากฎการส่งเสริมให้โหวตโนอย่างเป็นจริงเป็นจังมาก่อน การเลือกตั้งทั่วไปของไทยในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นี้ มีการรณรงค์โหวตโนโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่อาจนับได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวส่งเสริมให้โหวตโนครั้งใหญ่ที่สุดของการเมืองไทย การให้เหตุผลของการรณรงค์ให้โหวตโนของ พธม. แม้แสดงออกว่าวางอยู่บนฐานคิดเรื่องความไม่พึงพอใจคุณภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ความโกรธเกรี้ยวต่อความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น คล้ายคลึงกับฐานคิดเรื่องการโหวตโนทั่วไป แต่ตีความจากพฤติกรรมและคำปราศรัยของแกนนำ พธม. หลายคน ชวนให้คิดว่าเป้าหมายของการโหวตโนของ พธม. ไปไกลกว่านั้น โดยเฉพาะคำปราศรัยของ สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พธม. คนสำคัญ ที่กล่าวถึงสาเหตุของการสนับสนุนการโหวตโน จำนวนหลายครั้ง หลายตอน ใจความสรุปรวมคือ นักการเมืองเลวทุกคน พรรคการเมืองหาดีไม่ได้ ปฏิเสธระบบการเมืองปัจจุบันของไทย และไม่เชื่อว่าประชาชนควรมีเสียงทางการเมืองเท่าเทียมกัน (สามารถฟังรายละเอียดได้ใน “ความเห็นสนธิ ลิ้มทองกุล ทำไมต้องโหวตโน” โดยเฉพาะคลิปที่ 19 เขาประกาศว่า ตลอดชีวิตของเขา “ไม่เคยเชื่อระบอบการเลือกตั้งวันแมนวันโหวต” http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000064434 Schattschneider นักรัฐศาสตร์อเมริกัน เขียนไว้ในหนังสือ Party Government (1942) ว่า “พรรคการเมืองสร้างประชาธิปไตย และประชาธิปไตยสมัยใหม่จะยั่งยืนมิได้หากปราศจากพรรคการเมืองหลายพรรค” Jacques Ranciere ศาสตราจารย์ปรัญชาชาวฝรั่งเศส สรุปหลักมูลฐานอุดมการประชาธิปไตยคลาสสิกว่า ประกอบด้วยหลักสองประการคือ หนึ่ง ความเสมอภาค (Equality) และสอง ความเห็นต่าง (Dissensus) ดังนั้น อาการรังเกียจพรรคการเมืองและความเสมอภาคของเสียงประชาชนของคุณสนธิ อาจจะสรุปได้ว่า โหวตโนตามความคิดของเขามีความหมายไปในทิศทางว่าต้องการปฏิเสธ “ประชาธิปไตยที่มีฐานอำนาจจากระบบการเลือกตั้งโดยประชาชนทั่วไป” การเลือกตั้ง และระบบเลือกตั้ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา การที่ความหมายของประชาธิปไตยไม่ตายตัว และในปัจจุบัน ไม่ว่าจะรักหรือชังระบอบนี้ ก็ยากที่จะมีผู้ใดปฏิเสธนามประชาธิปไตย แม้แต่จีนยังมีประชาธิปไตยแบบจีน ๆ (The Chinese democratic model) การถกเถียงว่า หากปฏิเสธระบบการเลือกตั้งแล้วจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ จึงน่าจะเป็นเรื่องยืดเยื้อหาข้อสรุปลงตัวยากในระยะเวลาอันสั้น แต่เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า หากปฏิเสธระบบการเลือกตั้งแล้ว ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร โดยพิจารณาจากหน้าที่และเป้าหมายของการเลือกตั้งเป็นเกณฑ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ไทยท่านหนึ่งสรุปหน้าที่และเป้าหมายของการเลือกตั้งไว้ว่า ประโยชน์ของการเลือกตั้งคือ ทำให้เกิดการผลัดอำนาจโดยสันติ ประชาชนรับรู้ปัญหาของชาติ ผู้ปกครองรับผิดชอบต่อประชาชน ตอบสนองต่อมติประชาชน เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้เลือก พรรคการเมือง และรัฐบาล เป้าหมายของการเลือกตั้งคือ ทำให้ประชาชนสามารถต่อรองกับชนชั้นนำ และให้ความชอบธรรมในการขยายอำนาจรัฐ หรือลดอำนาจรัฐเมื่อเห็นว่ารัฐใช้อำนาจในทางมิชอบได้ ดังนั้น หากไม่มีการเลือกตั้ง หรือไม่ยอมรับการเลือกตั้ง การผลัดอำนาจมักจะต้องหลั่งเลือด ประชาชนถูกกีดกันออกจากชาติโดยง่าย ผู้ปกครองสามารถกระทำการตามอำเภอใจ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ไร้กลไกตัวกลางประสานระหว่างรัฐกับสังคม ผลกระทบต่อประชาชนคือ ประชาชนจะไม่มีกลไกต่อรองกับชนชั้นนำโดยสันติ ประชาชนจะไม่สามารถขยายหรือจำกัดอำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของตนได้โดยสันติ ด้วยเหตุผลดังข้างต้น แม้ว่าจะมีความพยายามสร้างวาทกรรม “ประชาธิปไตย 4 วินาที” เพื่อลดทอนความสำคัญของการเลือกตั้งที่มีต่อประชาชน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเลือกตั้งมีความสำคัญต่อประชาชนมาก ไม่ว่าภาพของการเลือกตั้งจะถูกป้ายสีให้มีสภาพเป็นระบบที่เลวร้ายอย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าระบบการเลือกตั้งนี้ไม่ใช่ระบบที่สมบูรณ์แบบ ในทางปฏิบัติจริงบ่อยครั้งที่ไม่สามารถทำหน้าที่และพาไปสู่เป้าหมายตามหลักการของมันทุกประการ แม้แต่ในประเทศที่เป็นแม่แบบของระบอบประชาธิปไตยก็เผชิญกับปัญหาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และก็เป็นความจริงที่ว่าการเลือกตั้งอาจเป็นกระบวนการเสริมอำนาจของชนชั้นนำ เป็นวิธีการสร้างความชอบธรรมให้อำนาจควบคุมสังคมของชนชั้นนำ รวมไปถึงอาจเป็นช่องทางที่สร้างความมั่นคงให้กับอำนาจของชนชั้นนำด้วยการครอบงำในระดับความคิดความเชื่อของประชาชน แต่.. เหตุแห่งความไม่สมบูรณ์แบบของระบบเลือกตั้ง ไม่อาจถือเป็นความชอบธรรมที่จะล้มล้างความสำคัญของระบบนี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าระบบเลือกตั้งจะพิกลพิการไปบ้าง หากสังคมกุมหลักการประชาธิปไตยให้มั่น ไม่ทำลายระบบพรรคการเมือง ที่เป็นกลไกเชิงสถาบันที่เชื่อมประชาชนกับรัฐ ยอมรับหลักการความเสมอภาคของประชาชน และไม่ปิดกั้นความเห็นต่าง ยอมให้มีการเสนอความเห็นและตั้งคำถามกับทุกเรื่องได้ การปกป้องหลักการสำคัญของประชาธิปไตย จะทำให้กระบวนการต่อรองทางอำนาจโดยสันติระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมสามารถดำเนินไปได้ สังคมสามารถปรับตัวเพื่อปรังปรุงระบบหรือวิถีการจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจของคนหมู่มาก ในความหมายนี้ สิ่งที่สำคัญกว่าการโจมตีความชั่วร้ายของระบบเลือกตั้ง คือ การรักษาหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย ใช่หรือไม่? ความคิดที่จะกวาดล้างฝ่ายที่เห็นต่างออกไปจากเวทีการเมือง เพื่อรอคนดีมาปกครอง เป็นการปิดพื้นที่ทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่งออกไปจากการเมืองเสมอ นับเป็นวิธีคิดที่เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณต่อประชาชน และเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้อีกแล้วในยุคนี้ ตัวอย่างนับจากอดีตกาลจนถึงปัจจุบันชนิดเหตุการณ์เพิ่งเกิดเมื่อวานนี้คือ การปิดกั้นพื้นที่ทางการเมืองด้วยวิธีการต่าง ๆ จะนำไปสู่ความรุนแรง ยิ่งปิดกั้นให้เก็บกดสวนทางกระแสสังคมและกระแสโลก การปะทุระเบิดออกของปัญหายิ่งรุนแรง วิธีคิดที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าคือ การเปิดพื้นที่ทางการเมือง โดยธำรงรักษาหลักการที่ถูกต้องร่วมกัน แล้วให้หลักการนั้นนำพาคนทั้งสังคมเดินหน้าโดยสันติ แม้ว่าอุดมการณ์และผลประโยชน์อาจแตกต่างหรือกระทั่งขัดแย้งกัน แต่ไม่จำเป็นต้องทำร้ายกันและกัน เพราะ นับจากนี้ ไม่เกิน 4 ปี เราจะมีโอกาสได้เลือก ได้เปลี่ยนแปลง อีกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net